ยิ่งอายุมากยิ่งหางานยาก อาจไม่มีในญี่ปุ่นแล้ว เพราะตอนนี้ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แรงงานสูงวัยเหล่านี้จึงกลายเป็นกลุ่มคนสำคัญต่อประเทศชาติ โดยญี่ปุ่นเริ่มวางแผนฝึกฝนแรงงานสูงวัยให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน Tech Talent
จากการสำรวจพบว่า มากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรญี่ปุ่นมีอายุมากกว่า 80 ปี ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน Tech Talent ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ทำให้รัฐบาลต้องดึงแรงงานเหล่านี้กลับมาพัฒนาต่อ
กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นจึงเริ่มโครงการฝึกงานเพื่อพัฒนาแรงงานวัยกลางคน โดยโครงการเปิดโอกาสให้แรงงานผู้มีอายุ 40-50 ปี ที่อาจจะไม่ได้ทำงานในด้านเทคโนโลยีมาก่อน สามารถเข้ามาฝึกฝนทักษะและหาความรู้ในด้านเทคโนโลยีได้
โครงการมุ่งปั้นให้แรงงานเหล่านี้เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ โดยผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมจะได้ไปฝึกงานที่บริษัทเทคโนโลยีประมาณ 6 เดือน ซึ่งในระหว่างที่ทำงานก็จะมีพี่เลี้ยงคอยสอนงานให้อยู่เสมอ และแน่นอนว่าบริษัทก็จะจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานเหล่านี้ปกติ
โครงการนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมองว่าเป็น การยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว เพราะนอกจากรัฐบาลจะมีโอกาสแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน Tech Talent แล้ว แรงงานที่มีอายุมากเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะได้ทำงานหรือย้ายไปทำในสายงานที่มีโอกาสเติบโตสูงด้วย
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Fumio Kishida เชื่อว่าภาคดิจิทัลและเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงทุ่มสุดตัวพื่อค้นหาและฝึกอบรมแรงงานในประเทศให้ก้าวเข้าสู่สายงานนี้ โดยรัฐบาลใช้เงินกว่า 1.35 พันล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในโครงการฝึกงานเพื่อพัฒนาแรงงานวัยกลางคน
องค์การสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากประชากรอายุเกิน 60 ปี มีกว่า 20% ของประชากรในประเทศ
สำหรับผู้สูงวัยหรือวัยเกษียณในประเทศไทยกำลังเจอปัญหา ‘สูงวัยแต่ไม่รวย’ เงินเก็บที่เคยมีก็ไม่พอใช้และเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ดังนั้น ผู้สูงอายุในไทยจึงเป็นคนอีกกลุ่มที่ประเทศไทยควรเปิดโอกาสให้เช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันไทยเองก็มีโครงการที่ให้โอกาสสูงวัยได้ทำงาน เช่น
Café Amazon for Chance: โครงการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุได้เข้ามาทำงานที่ร้าน Café Amazon โดยโครงการนี้เริ่มต้นทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันมี Café Amazon for Chance อยู่ถึง 11 สาขาทั่วประเทศ
โครงการ 60 ยังแจ๋ว: โครงการที่ Tesco Lotus เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้าทำงานในร้านค้าทั้ง 2,000 สาขาทั่วประเทศ
Central ต่ออายุหลังเกษียณ: พนักงานที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง และยังอยากที่จะทำงานต่อ Central ก็เปิดโอกาสให้พนักงานเหล่านี้ต่อสัญญาหลังเกษียณไปได้อีก
IKEA: มีนโยบายไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษา แค่มีความชื่นชอบในการแต่งบ้าน และรักงานบริการ ก็สามารถมาสมัครเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ที่ IKEA ได้เลย
โดยในประเทศไทยได้กำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คิดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง อัตราเดียวทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง พร้อมกำหนดว่าไม่ควรทำงานเกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์
อ้างอิง: dop, asia.nikkei, เพจมนุษย์กรุงเทพฯ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด