แหล่งข่าวของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ผู้ให้บริการและดูแลโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและโอนเงินระหว่างธนาคาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้มอบหมายให้ ITMX มีการเข้ามาศึกษา การทำ “White Label ATM” ตั้งแต่ปี 2560 โดยสมาคมตั้งเป้าให้ผลศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 นี้ โดยโจทย์ที่สมาคมให้ ITMX ศึกษา เช่น รูปแบบการให้บริการ ATM ตู้สีขาว ใครเป็นผู้บริหารจัดการ การคิดค่าธรรมเนียม ต้นทุนบริการ ATM รูปแบบใหม่ สามารถลดต้นทุนของระบบธนาคารได้หรือไม่
ผลศึกษาโมเดลเหล่านี้ถือว่าใกล้ได้ข้อสรุป และคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของรูปแบบการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังต้องมีการหาข้อสรุปกันในสมาคม เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากธนาคารบางแห่งยังมองว่า การที่ธนาคารมีเครื่อง ATM จำนวนมาก ยังเป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็นจุดเด่นของธนาคารในการที่จะดึงดูดลูกค้า
ที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้ให้บริการระบบ ATM 2-3 ราย ที่สนใจทำระบบดังกล่าวเข้ามาร่วมศึกษา และหารือเรื่องต้นทุนการเกิด ATM รูปแบบใหม่แล้ว รวมทั้งได้เชิญแบงก์หลัก ๆ 6-7 รายมาศึกษาโมเดลร่วมกัน จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เมื่อเปลี่ยนเป็นตู้ White Label ATM คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของธนาคารลง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการมีตู้ ATM เป็นของตัวเอง
ดังนั้นในเบื้องต้นการร่วมมืออาจเกิดขึ้นเฉพาะในบางธนาคาร
ทั้งนี้ คาดว่าผลศึกษาจะเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาส 3 นี้ หากทุกฝ่ายเห็นชอบ และสามารถเริ่มดำเนินการตามแผนได้ ก็คาดว่าจะเริ่มเห็นการนำ White Label ATM มาใช้ได้เร็วสุดภายในไตรมาสแรกปี 2562
แหล่งข่าวของ ITMX กล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำตู้ ATM White Label คือ ต้องการลดต้นทุนแบงก์ ลดการแออัดของตู้ ATM ที่อยู่รวม ๆ กันจำนวนมาก ซึ่งการมีตู้ ATM สีขาวจะทำให้สามารถลดจำนวนตู้ในระบบลงได้ถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด ยกตัวอย่างวันนี้พารากอนมี 70 เครื่อง หากเป็นระบบตู้ ATM สีขาวมีเพียง 20 เครื่อง ก็เพียงพอต่อการให้บริการ
อ้างอิงข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด