
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาลไทย มีการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างไทยและอินเดีย โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจ (MOU) รวม 6 ฉบับ ที่ครอบคลุมทุกมิติของความร่วมมือ ตั้งแต่เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาวิสาหกิจ ไปจนถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ไฮไลต์สำคัญ คือการลงนามใน "Joint Declaration on the Establishment of Thailand–India Strategic Partnership" หรือ ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของความสัมพันธ์ไทย–อินเดีย ที่จะไม่เพียงแค่ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความมั่นคง เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ส่อง 6 ความร่วมมือเด่นไทย–อินเดีย
- ประกาศความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างไทย-อินเดีย: วางรากฐานความร่วมมือระยะยาว ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค
- ขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกัน: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย จับมือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดีย เร่งเครื่องการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งเป้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและส่งเสริมนวัตกรรมร่วมกัน
- พัฒนาโครงการศูนย์มรดกทางทะเลระดับโลกที่รัฐคุชราต: กรมศิลปากรไทยร่วมมือกับกระทรวงท่าเรืออินเดีย สร้าง National Maritime Heritage Complex (NMHC) ณ เมืองโลธาล ชู Soft Power ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชิงทะเล
- เชื่อมต่อ SME ไทย-อินเดีย: การจับมือกันของ NSIC อินเดีย และ สสว. ไทย มุ่งผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค พร้อมแชร์องค์ความรู้และโอกาสการค้า
- ยกระดับหัตถกรรมและชุมชนช่างฝีมือ: ส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านความร่วมมือด้านงานฝีมือระหว่างกระทรวงต่างประเทศไทย และกระทรวงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
- จับมือส่งออก Soft Power ผ่านงานหัตถกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์: NEHHDC อินเดีย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ไทย เตรียมลุยโครงการพัฒนาหัตถกรรมร่วม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่เวทีโลก

“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ในจังหวะที่โลกกำลังปรับสมดุลใหม่ สหรัฐฯ กดดันด้วยกำแพงภาษี
การพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้ ไม่ใช่แค่การทูตเชิงสัญลักษณ์ทั่วไป แต่คือการขยับระดับความสัมพันธ์สู่ Strategic Partnership หรือ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมลงนามความร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งเทคโนโลยี การค้า การศึกษา วัฒนธรรม และความมั่นคง
ขณะที่ฝั่งโลกการค้ากำลังเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้ Reciprocal Tariff ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ในอัตราที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับที่ประเทศเหล่านั้นเก็บกับสินค้าสหรัฐฯ กลายเป็น “กำแพงภาษี” ที่ใช้กดดันเชิงกลยุทธ์ต่อพันธมิตรทางการค้า
ในรายชื่อประเทศที่ถูกระบุว่าเป็น "Worst Offenders" ไทยถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 36% และขยับขึ้นเป็น 37% ภายหลัง ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน และอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัมพูชา (49%) และเมียนมา (44%) สะท้อนแรงกดดันที่อาจกระทบหนักกับผู้ส่งออกไทยโดยตรง
หรือนี่คือ ‘เกมรุกภูมิรัฐศาสตร์’ รับมือแรงกระเพื่อมจากสหรัฐฯ ?
ท่ามกลางแรงกดดันจากฝั่งตะวันตก ความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดียจึงอาจมองได้ว่าเป็นการ “ขยับหมากภูมิรัฐศาสตร์” ไม่ใช่แค่ในมิติทางวัฒนธรรม เช่น การร่วมกันพัฒนาเส้นทางแสวงบุญ Buddhist Circuit หรือการท่องเที่ยว (เช่น Free Visa สำหรับคนไทยเข้าอินเดีย) แต่คือการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาสมดุลในภูมิภาคให้มั่นคง
อีกหนึ่งหมากสำคัญคือการเร่งขยายและปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งในระดับทวิภาคี (ไทย-อินเดีย) และพหุภาคี (อาเซียน-อินเดีย) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ อินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในเอเชียใต้ ด้วยมูลค่าการค้ารวมกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567
ในมิติของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ความร่วมมือก็เดินหน้าเต็มรูปแบบ ไทยและอินเดียเตรียมขยายเส้นทาง Buddhist Circuit ไปยังรัฐสำคัญอย่างคุชราต เชื่อมโยงกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในไทยและประเทศอื่นในบิมสเทค พร้อมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า และการเปิดเส้นทางบินใหม่
ฝั่งอินเดียเองเดินเกมเชิงรุกไม่แพ้กัน ด้วยการประกาศ Free Visa สำหรับนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งไม่เพียงกระตุ้นการเดินทาง แต่ยังขยายโอกาสด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้น ผู้นำทั้งสองประเทศยังแสดงจุดยืนร่วมกันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งใน BIMSTEC, ASEAN, BRICS ไปจนถึง OECD โดยไทยพร้อมรับบท “สะพานเชื่อม” ระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมผลักดันเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดมั่นในกติกาสากล
อ้างอิง: thaigov