ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้มีการเปิดรับสมัครตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ตั้งแต่วันที่ 7-17 กันยายน 2561 ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาได้ประกาศตั้ง 7-Eleven เป็นตัวแทนให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทย เริ่มทดลองใน 3 สาขา ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 - 31 มีนาคม 2562
โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบริษัทร่วมทุนอย่าง บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด“ นำโดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมค้าปลีกไทย ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องการประกาศผลผู้ที่ประสงค์ให้บริการเป็นตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ได้ตั้งคำถามถึงกรมสรรพากรว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists ที่เอกชนนำร่องโครงการดังกล่าวเพื่อลดความแออัดในการคืนภาษีที่สนามบิน และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคืนภาษีได้ตั้งแต่ที่ห้างค้าปลีก หลังจากนั้นก็จะนำเงินมาซื้อสินค้าต่อ
“เราไม่ได้มีปัญหาต่อการที่ร้านสะดวกซื้อได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นรายเดียว และทำไมต้องแค่ 3 จุด และเลือกจากอะไร การมีหลายจุดคืนภาษียิ่งดีต่อระบบ เพราะยิ่งช่วยกันกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว และอีกอย่างเป็นการลงทุนของภาคเอกชนเองทั้งนั้น ซึ่งหลังจากนี้เราเตรียมยื่นอุทธรณ์” คุณวรวุฒิ กล่าว
ก่อนยื่นอุทธรณ์ สมาคมฯ เตรียมหารือร่วมกับผู้ประกอบการทุกรายเพื่อปรับเงื่อนไข หากกรมสรรพากรยังคงเงื่อนไขการตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว เพียง 3 จุด สำหรับเหตุผลที่ทางกลุ่มบริษัทร่วมทุนฯ ยื่นเสนอตั้งจุดคืนภาษี 5 จุด ในครั้งแรก เป็นการเข้าใจผิด เพราะทางกลุ่มบริษัทร่วมทุนฯ เป็นการรวมนิติบุคคลถึง 4 ราย
ล่าสุดกรมสรรพากรชี้แจงว่า การพิจารณาคัดเลือกนั้น กรมสรรพากรได้เปิดกว้างให้กับผู้สมัครทุกรายที่มีความสนใจและผ่าน การคัดเลือกตามเกณฑ์ของประกาศอธิบดีฯ และแนวปฏิบัติข้างต้นเพื่อเข้ามาเป็นตัวแทนขอคืนขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง โดยมีผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาจํานวน 3 ราย ในการพิจารณาคัดเลือกครั้งนี้ เป็นการพิจารณาแต่ละรายแยกจากกัน และหากรายใดมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้อง ตามประกาศอธิบดีฯ และแนวปฏิบัติ จึงจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง
แต่เนื่องจากมีผู้สมัครขาดคุณสมบัติ 2 ราย รายที่ 1 ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เพราะ ไม่ได้ยื่นคําขออนุมัติตามแบบที่แนบท้ายประกาศอธิบดีฯ และกําหนดจุดบริการเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด ไว้ 3 แห่ง โดยยื่นมาจํานวน 5 แห่ง ส่วนรายที่ 2 ไม่ผ่านหลักเกณฑ์เนื่องจากมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินการเป็นตัวแทนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ปรากฏอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล
นอกจากนี้กรมสรรพากรยังชี้แจงว่าได้กําหนดจุดให้บริการเพียง 3 จุดต่อราย เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการทดลองใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือน (1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562) ซึ่งกรมต้องดําเนินการพิจารณาประเมินผล ควบคุม ติดตาม ความสําเร็จของโครงการอีกครั้งหนึ่ง
"ขอเรียนยืนยันว่า การพิจารณาคัดเลือกรายผู้ให้บริการฯ เป็นไปตามขั้นตอนตาม ประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) และแนวปฏิบัติทุกประการ และมีการใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันในทุกราย จึงมีความโปร่งใส และมิได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มธุรกิจใด" กรมสรรพากร กล่าว
โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรภายใน 15 วัน ซึ่งทางกรมฯ มีเวลาพิจารณา 30 วัน ถ้าเห็นด้วยก็จะเปิดให้ยื่นหลักฐานใหม่อีกรอบ แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 90 วัน
อ้างอิงข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ, CH7NEWS และ โพสต์ทูเดย์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด