Bloomberg ได้จัดอันดับ 20 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียปี 2024 สำหรับปีนี้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไร้เงาตระกูลชาวจีนแผ่นดินใหญ่ติด 1 ใน 20 ตระกูลที่รวยที่สุด เกิดอะไรขึ้นในเอเชียกันแน่ ?
นับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลให้ตระกูลเศรษฐีฮ่องกงเก่าแก่ต้องเผชิญกับความอยากลำบาก เช่น มูลค่าหุ้นลดลง และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในจีน ส่งผลให้ความมั่งคั่งของตระกูลเก่าแก่เหล่านี้ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา
แต่ทว่าปริมาณความมั่งคั่งโดยรวมของตระกูลชาวเอเชียที่ร่ำรวยกลับเพิ่มขึ้นถึง 55 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 534 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้แรงหนุนจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอินเดีย และทำให้ตลาดหุ้นของอินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกแซงหน้าฮ่องกงไป
กระทั่ง Goldman Sachs หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ยังเคยคาดการณ์ว่าอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกภายในปี 2075 แซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา เพราะมีกำลังและศักยภาพแรงงานพร้อมสรรพ
ปีนี้นับเป็นปีแรกตั้งแต่ปี 2020 ที่ไม่มีตระกูลจากจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในรายชื่อตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย
สถานการณ์นี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่าขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากจีนที่เคยเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมาอย่างยาวนานและทำให้กลุ่มตระกูลที่มีธุรกิจเชื่อมโยงกับการเติบโตของจีนร่ำรวยมหาศาล กลับกลายเป็นว่าอินเดียกำลังมีอำนาจมากขึ้นในแง่ของความมั่งคั่งและอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแทน
สำรวจจาก Lombard Odier ในปี 2023 พบว่า คนรวยในเอเชียแปซิฟิก 76.1% มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาความมั่งคั่งให้อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ และอีกกว่า 56.4% มองว่าสิ่งสำคัญคือ การปกป้องทรัพย์สินของตนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว
หรืออาจพูดง่าย ๆ คือ คนรวยในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นคนรวย คือ การยังคงรวยต่อไปนั่นเอง
Ambani คือ เจ้าของบริษัท Reliance Industries บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกัน หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์กลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย
นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทของตระกูลนี้ยังได้จับธุรกิจมากมาย เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี การค้าปลีก และพลังงานสะอาด ซึ่งบริหารโดยคนในตระกูลเดียวกัน ซึ่งดำเนินกิจการโดยคนในตระกูลรุ่นที่ 3 และพวกเขายังเป็นตระกูลที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ที่แพงที่สุดในโลกอีกด้วย
Hartono คือ เจ้าของบริษัท DJARUM บริษัทผลิตยาสูบที่ตระกูลนี้ซื้อกิจการมาในปี 1950 และปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย
ต่อมาในปี 1963 ลูกชายของตระกูลนี้ได้หันมาเริ่มต้นธุรกิจด้านการเงินด้วยการลงทุนในธนาคารกลางเอเชีย โดยมีลูกชายรุ่นที่ 3 ของตระกูลดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารกลางเอเชีย และปัจจุบันการลงทุนในธนาคารแห่งนี้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของตระกูล
Mistry คือ เจ้าของบริษัท Shapoorji Pallonji Group บริษัทที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายสาขา รวมถึงวิศวกรรมและการก่อสร้าง มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำธุรกิจก่อสร้างร่วมกับชาวอังกฤษในปี 1865 ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่สำคัญของอินเดีย เพราะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างอาคารสำคัญต่าง ๆ เช่น ธนาคารกลางอินเดียในมุมไบ และพระราชวังอัลอาลัมสำหรับสุลต่านแห่งโอมาน เป็นต้น
Kwok คือ เจ้าของบริษัท Sun Hung Kai Properties หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ตระกูลนี้ทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และส่วนใหญ่มักเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง ในปัจุบัน Sun Hung Kai Properties กำลังดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงด้วยจำนวนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ 14,600 แผง
เจียรวนนท์ ตระกูลมหาเศรษฐีของไทยเจ้าของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีทั้งธุรกิจอาหาร การค้าปลีก และโทรคมนาคม ปัจจุบันมีธนินท์ เจียรวนนท์ดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของบริษัท ล่าสุดตระกูลเจียรวนนท์ได้ก่อตั้งกองทุนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ร่วมกับ LDA Capital เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนในบริษัทที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อยู่วิทยา คือ ตระกูลเจ้าของบริษัท TCP GROUP บริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศไทย ในปี 1975 เฉลียว อยู่วิทยาได้คิดค้นเครื่องดื่มชูกำลังชื่อ ‘กระทิงแดง’ ออกมาขายและได้รับความนำยิมอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน
Jindal คือ เจ้าของบริษัท OP Jindal Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่เหล็กไปจนถึงพลังงาน ซีเมนต์ และกีฬา ปัจจุบันดำเนินการโดยลูกชายรุ่นที่ 3 ของตระกูลทั้ง 4 คน ปัจจุบันบริษัท OP Jindal Group และ Jindal Steel & Power มีแผนดำเนินการสร้างเหมืองแร่เหล็กมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในแอฟริกาใต้
Tsai คือ เจ้าของบริษัท Cathay Insurance และ Fubon Insurance บริษัทด้านประกันภัยและการเงินรายใหญ่สองแห่งในไต้หวัน นอกจากนี้ตระกูล Tsai ยังได้ลงทุนในด้านอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และโทรคมนาคมเพิ่มเติมอีกด้วย
Cheng คือ เจ้าของบริษัท Chow Tai Fook Jewellery บริษัทที่จัดจำหน่ายอัญมณีรายใหญ่ในฮ่องกง นอกจากนี้ตระกูล Cheng ยังเป็น New World Development ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ของฮ่องกงอีกด้วย
Birla คือ เจ้าของบริษัท Aditya Birla Group เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย ธุรกิจของ Aditya Birla Group ประกอบด้วยกันหลายประเภท เช่น บริการทางการเงิน การค้าปลีก และธุรกิจโลหะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย
ปัจจุบัน Aditya Birla Group ทุ่มเงินมากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐในธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ ซึ่งกลายเป็นตลาดโลหะมีค่า เช่น ทองคำและเงิน ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
Pao คือ เจ้าของบริษัท BW Group บริษัทเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 1979 และเมื่อบริษัทเดินเรือเติบโต ตระกูลนี้จึงได้ขยายธุนกิจมาทำบริษัท Wheelock บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง
Lee คือ เจ้าของบริษัท Samsung หนึ่งบริษัทเทคโนโลีชั้นนำของเกาหลีใต้ เริ่มต้นทำธุรกิจจากการส่งออกผักผลไม้และปลา จากนั้นในปี 1969 จึงเริ่มการก่อตั้ง Samsung Electronics และก้าวมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
Bajaj คือ เจ้าของบริษัท Bajaj Group บริษัทประกอบธุกรกิจหลายประเภทย ตั้งแต่รถจักรยานยนต์ ซีเมนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบัน Bajaj Auto มียอดขายรถจักรยานยนต์มากกว่า 18 ล้านคันในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ตระกูล Kwek เริ่มก่อตั้งบริษัท Hong Leong Group ที่สิงคโปร์เมื่อปี 1941 ทำธุรกิจหลายประเภท เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริการ และการเงิน หลังจากนั้นสมาชิกของตระกูลถูกส่งไปยังมาเลเซียเพื่อขยายกิจการ ต่อมา Hong Leong Group ก็เติบโตขึ้นมาเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
Sy เริ่มต้นจากการขายข้าว ปลาซาร์ดีน และสบู่ ต่อมาในปี 1958 เปิดร้านรองเท้าแห่งแรก จุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านค้าเล็กๆ ในตัวเมืองมะนิลา ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลาย เช่น การค้าปลีก การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์
Kadoorie คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CLP Holdings ผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับเกาลูนและเขตดินแดนใหม่ และ Hongkong & Shanghai Hotels ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นเจ้าของเครือโรงแรม Peninsula หนึ่งในเครือโรงแรมระดับโลกแห่งแรก ๆ ที่ห้ามเสิร์ฟหูฉลามในทุกเมนู
Lee คือ เจ้าของบริษัท Lee Kum Kee ผู้คิดค้นและผลิตซอสหอยนางรม เริ่มต้นจากตั้งโรงงานในมณฑลกวางตุ้งเมื่อปี 1902 แต่ถูกไฟไหม้ จึงย้ายไปยังมาเก๊าและย้ายไปยังเมืองที่เจริญรุ่งเรืองกว่าอย่างฮ่องกง นอกจากนี้ในปี 1992 ยังร่วมลงทุนในธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงหอคอยเครื่องส่งรับวิทยุในลอนดอน
จิราธิวัฒน์ หนึ่งในตระกูลใหญ่ของประเทศไทย ดำเนินการในธุรกิจ Central Group หนึ่งในกลุ่มบริษัทการค้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและมีบริษัทย่อยมากกว่า 50 แห่ง ล่าสุด Central Group เพิ่งซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Selfridges ในเครือสหราชอาณาจักร
Hinduja คือเจ้าของ Hinduja Group เริ่มต้นธุรกิจด้านการค้าและการธนาคารในปี 1914 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น พลังงาน ยานยนต์ การเงิน และการดูแลสุขภาพ ตระกูลนี้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากมายทั้งในอินเดียและประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ (ลอนดอน)
Torii คือ เจ้าของบริษัท Suntory ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1899 จำหน่ายทั้งไวน์และเหล้า เบียร์ สุราสไตล์ตะวันตก ต่อมาในปี 1961 บริษัท Suntory ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึงอาหารเพื่อสุขภาพ
อ้างอิง: bloomberg, asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด