Goldman Sachs หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก เผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของอินเดีย ระบุภายในปี 2075 ภูมิภาคนี้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน และแซงหน้าญี่ปุ่น เยอรมนี รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 5 แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ World Population Review รวมถึงความก้าวหน้าในนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายในประเทศ การลงทุนจากนานาชาติ และผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจอินเดียกำลังจะขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจโลก
ในจำนวนประชากรกว่าพันล้านของอินเดีย มีประชากรวัยทำงานมากถึง 900 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านคนในอีกสิบปีข้างหน้า (CNN)
ทำให้ Santanu Sengupta นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียของ Goldman Sachs เชื่อว่าในอีกสองทศวรรษอินเดียจะเป็นประเทศที่มีอัตราการพึ่งพิง หรือ อัตราส่วนการพึ่งพิงประชากรกลุ่มแรงงานต่ำที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค นั่นหมายความว่ามีสัดส่วนประชากรวัยทำงานสูงที่สุด
ไม่เพียงแต่กำลังแรงงานมหาศาลเท่านั้น แต่ประชากรวัยทำงานของอินเดียส่วนใหญ่ ยังเป็นแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ และมีความรู้ด้านดิจิทัล ทำให้ประเทศนี้เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับบริษัทตะวันตกที่กำลังมองหาศูนย์กลางการผลิตใหม่ หลังทยอยย้ายออกจากจีน
ตอนนี้รัฐบาลอินเดียกำลังทำงานอย่างหนัก กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านถนน ทางรถไฟ และอื่น ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคเอกชนในภาคการผลิต การบริการ ฯลฯ ซึ่งจะกลายเป็นฐานรองรับแรงงานจำนวนมากในวันนี้และอนาคต
การมีประชากรวัยทำงานมากยังช่วยให้อัตราส่วนการออมและการลงทุนของคนในชาติเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น อัตราส่วนพึ่งพิงน้อยลง และการพัฒนาอย่างแข็งขันในภาคการเงิน จะช่วยสร้างแหล่งเงินทุนที่พร้อมขับเคลื่อนการลงทุนในอนาคต
หัวหอกทางเศรษฐกิจของอินเดีย คือความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามข้อมูลของ Nasscom สมาคมการค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้รายได้จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอินเดียจะเพิ่มขึ้น 245 พันล้านดอลลาร์ โดยจะมาจากทั้งภาคไอที, BPM (Business process management) และซอฟต์แวร์
เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้ง S&P Global และ Morgan Stanley ได้เผยแพร่วิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจอินเดีย โดยระบุว่าภายในปี 2031 ประเทศนี้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก จากจุดแข็งด้าน การลงทุนด้านการผลิต การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขั้นสูงของประเทศ
ถึงแม้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานในชาติจะสูงกว่าชาติอื่นๆ แต่ตัวเลขนี้กลับลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยมาก มีผู้หญิงวัยทำงานเพียง 20% ในอินเดียเท่านั้นที่มีงานทำ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ใส่ใจตัวเลขเหล่านี้ ฝึกทักษะและจัดหางานให้กับแรงงาน จำนวนประชากรที่ดูได้เปรียบอาจกลายเป็นภาระหนักอึ้งในอนาคต
นอกจากนั้น มูลค่าการส่งออกสุทธิ (Net export) เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยตามรายงานของ Goldman Sach เศรษฐกิจอินเดียขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการเติบโตมากถึง 60% มาจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการส่งออกในภูมิภาค
อ้างอิง : Goldman Sachs , CNBC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด