ฟัง ​ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ. NIA คนใหม่ เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ขยับอันดับดัชนี GII แบบจัดเต็ม | Techsauce

ฟัง ​ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ. NIA คนใหม่ เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรม ขยับอันดับดัชนี GII แบบจัดเต็ม

หลังจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เมื่อไม่นานมานี้ ก็ถึงเวลาออกมาเผยยุทธศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมในระดับประเทศ อาทิ แนวทาง 'ลด 2 เพิ่ม 3' เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเลื่อนขั้นเป็น ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) เป้าหมายขับเคลื่อน ดัชนีนวัตกรรมประเทศไทย สู่อันดับที่ 30 ในปี พ.ศ. 2573 และอีกมากมายที่ NIA กำลังดำเนินงานในบทบาทของ ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)

NIA

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง เปิดเผยว่า ในปี 2566 นโยบายการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ถูกพูดถึงและกำหนดบทบาทอย่างชัดเจนที่จะนำประเทศไปสู่การแข่งขันระดับมหภาคได้อีกครั้ง โดยการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาททั้งในเชิงผู้กำหนดนโยบาย การอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมทั้งการรังสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ 1 ใน 30 ของประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 43 ของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ The Global Innovation Index (GII) 

“เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยให้สอดรับกับบริบทโลก NIA จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลไก Groom Grant Growth และแนวทาง '2 ลด 3 เพิ่ม' ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมุ่งเน้นนวัตกรรมแบบเปิดผ่านการเปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนหรือปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจให้มากขึ้น ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน และแก้ไขกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของ GDP และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ 'ชาตินวัตกรรม' รวมถึง เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ”

สำหรับปี 2567 – 2571 หรือ 4 ปี หลังจากนี้ ผู้อำนวยการคนใหม่กล่าวถึงการเปลี่ยนบทบาท NIA จากสะพานเชื่อมสู่การเป็น ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) ที่เชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ที่จะดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ดังนี้ 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA

1) สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยมุ่งพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญร่วมกับการส่งเสริม IBEs ให้มีการคุ้มครองและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าและบริการนวัตกรรมร่วมด้วย ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 

  • 1) FoodTech & AgTech 
  • 2) TravelTech 
  • 3) MedTech 
  • 4) Climate Tech
  • 5) Soft Power 

รวมทั้งใช้ NIA Academy เป็นกลไกหลักในการพัฒนา IBEs ผ่านหลักสูตรที่เข้มข้น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น 

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานด้าน IBEs ภายใน 4 ปี คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 10,000 ราย บุคลากรและกำลังคนด้านนวัตกรรม 15,000 ราย และทำให้เกิดมูลค่าผลกระทบในอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่รวม 20,000 ล้านบาท

2) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น

โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ การให้ทุนรายสาขาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับภูมิภาค การเสริมสร้างสมรรถนะการขอทุนและการจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรม เช่น มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในภูมิภาค การลดกระบวนการและเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินในโครงการให้ทุน การใช้คูปองนวัตกรรมเพื่อให้ทุนได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจากธนาคารของรัฐหรือแหล่งทุนอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

เป้าหมายการดำเนินงานด้านเงินทุนใน 4 ปี คือ เงินทุนและกองทุนสนับสนุนนวัตกรรมที่ NIA บริหารจัดการ 2,000 ล้านบาท โครงการและธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน 1,500 โครงการ มูลค่าการลงทุนที่เกิดขึ้นในธุรกิจนวัตกรรม 2,000 ล้านบาท ความคุ้มค่าและผลกระทบของเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม 5 เท่า และสร้างกลไกสนับสนุนรูปแบบใหม่ 3 กลไก

3) ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการด้านนวัตกรรมเหมือนที่ดำเนินการสำเร็จแล้วในจังหวัดพัทลุงและเชียงใหม่ และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดนโดยร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวง อว. เช่น กรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย รวมทั้ง DEPA, CEA เพื่อเพิ่มพื้นที่จังหวัดนวัตกรรมให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการสร้างผลลัพธ์และผลกระทบในแต่ละภูมิภาค 

สำหรับเป้าหมายของ NIA ใน 4 ปี คือ IBEs เข้ามามีส่วนร่วมกว่า 3,000 ราย มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมใน 40 มหาวิทยาลัย และ 16 อุทยานฯ เกิดการลงทุนนวัตกรรมในภูมิภาค 20,000 ล้านบาท อันดับดัชนีนวัตกรรมเมืองปรับขึ้น 5 อันดับ จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม 12 จังหวัด ย่านนวัตกรรม 12 ย่าน และสำนักงานภูมิภาค 3 แห่ง

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง NIA

4) เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ด้วยการเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน IBEs ทั้งทางด้านการเงินและมิติอื่น โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเหมือนกับ Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบนวัตกรรมไทย การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น การสร้างระบบ Certified IBEs ฯลฯ 

รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการติดตาม เชื่อมโยง และประสานงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย โดยอาศัยกลไก การทูตนวัตกรรม (Innovation Diplomacy) ที่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การยกอันดับประเทศไทยในดัชนีนวัตกรรมโลก GII ของ WIPO จากอันดับที่ 43 ในปี 2565 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2573 โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ เครือข่ายข้อมูลนวัตกรรมที่เชื่อมโยงสู่ระบบ 15 เครือข่าย จำนวนผู้ใช้บริการ 50,000 ราย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ และนวัตกรรมเชิงนโยบาย/ภาครัฐ 30 นวัตกรรม

5) ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อนี้เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood คือ ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs เช่น การส่งเสริมการตลาดของสินค้านวัตกรรมร่วมกับซีพีออลล์ แม็คโคร สยามพิวรรธน์ และกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัล รวมทั้งการส่งเสริม IBEs ให้รู้จักการสร้างแบรนด์ การตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยขยายความร่วมมือในลักษณะที่มีกับ Shopee ในโครงการ InnoMall กับแพลตฟอร์มอย่าง TikTok และ Line รวมถึงจัดทำแคตตาล็อกสินค้านวัตกรรมในรูปแบบภาษาไทยและอังกฤษ การขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ มีจำนวน IBEs ที่เข้าร่วมโครงการ 1,000 ราย และมูลค่าเติบโตจากตลาดในประเทศและต่างประเทศรวม 1,000 ล้านบาท

6) สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ Innovation Thailand

รวมถึงการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม งาน SITE งาน Ubon Art Fest เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย โดยมีเป้าหมายใน 4 ปี คือ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง online และ onsite ไม่น้อยกว่า 50,000 ราย จำนวนผู้เข้าชม Content Online ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ครั้ง

7) พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน

NIA มุ่งเน้นทำงานแบบ Cross Functional ซึ่งจะลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน สนับสนุนการปรับหมุนเวียนงาน (Job Rotation) ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยมีการใช้ Project-based Management และกำหนดเป้าหมายเพื่อวัดผลสำเร็จ (OKR) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งองค์กร ทำให้การบริหารงานบุคลากรเป็นระบบมากขึ้น มีความโปร่งใส และเป็นธรรม ร่วมกับการเน้นการทำงานเป็นทีมเพื่อมุ่งสู่พันธกิจขององค์กร พร้อมทั้งน้อมนำแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงและหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินงาน

“ภายในระยะ 1 ปี NIA ตั้งเป้าหมายสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทยทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ให้สำเร็จ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยมีโมเดล Station F ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของสตาร์ทอัพและนักลงทุน ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บริษัทที่ปรึกษาการทำธุรกิจ สำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก โปรแกรมการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน 

"นอกจากนี้ NIA จะสร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวง อว. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับ BOI การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนวัตกรรมและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ Innovation Thailand” ดร.กริชผกากล่าวสรุป

มุมมองเพิ่มเติมของ ดร.กริชผกา ในด้านสถานการณ์ปัจจุบันกับแผนพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

การเมือง - ระหว่างที่การเมืองไทยยังไม่นิ่ง การเลือกพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลละยังไม่รู้ว่า ใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ดร.กริชผกาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า แต่ละพรรคมีแผนงานด้านการพัฒนานวัตกรรม และไม่ว่าพรรคที่เป็นแกนนำหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นฝ่ายใด งานขับเคลื่อนนวัตกรรมก็จะยังดำเนินต่อไป เแต่อาจล่าช้าในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ระหว่างที่รอก็จำต้องเลือกใช้งบในด้านสำคัญๆ ก่อน

เศรษฐกิจ/การลงทุน - แม้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สู้ดีนัก ทั้งยังคาดการณ์กันว่า อาจเกิด Recession ในไม่ช้า แต่สำหรับการลงทุนด้านนวัตกรรม ดร.กริชผการะบุว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่องค์กรเอกชน ขณะเดียวกัน VC และ CVC ทั้งในไทยและต่างประเทศก็มีความต้องการที่จะลงทุนอีกมาก NIA จึงเชื่อมเส้นทางให้ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่ต้องการเงินทุนกับทาง VC หรือ CVC ได้พบปะและแมตช์กัน นอกจากนี้ NIA ยังกระจายการลงทุนไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาการเน้นลงทุนตามเซกเมนต์ของอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

EEC - สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศ ทาง NIA ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพ จึงเข้าไปสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพเพื่อให้บริการแก่อุตสาหกรรมในพื้นที่ EECi พร้อมทั้งช่วยยกระดับนวัตกรรม ดึงดูดการลงทุน และสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพในพื้นที่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ในพื้นที่ EEC มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามาก แต่ก็มีหลายรายที่เปลี่ยนเป้าหมายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน ดังนั้น หากจะดึงการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ที่เป็น Flagship ของประเทศ ดร.กริชผกาเผยว่า เมื่อไรที่มีรัฐบาลชุดใหม่ต้องระบุให้ชัดเจนขึ้น ว่าจะสานต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างไร ทั้งในมิติของนโยบาย มิติของอุตสาหกรรม มิติของนวัตกรรม แล้วความชัดเจนเหล่านี้จะดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ภาวะโลกรวน - เนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกรวน และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องตั้งรับสถานการณ์เอลนีโญ่ NIA ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืน จึงกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริม Climate Tech ปีนี้เป็นปีแรก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...

Responsive image

Infineon เสริมแกร่งและกระจายฐานการผลิต ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย

Infineon Technologies AG ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประ...

Responsive image

Techsauce จับมือ KUMPUL เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย-อินโดฯ สู่เวทีโลก

Techsauce และ KUMPUL ได้ร่วมลงนาม MOU อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพข้ามพรมแดนและนวัตกรรมระดับโลก ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศท...