สหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่อนุมัติให้ ‘ขายเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ’ แต่จะเริ่มต้นจากใช้ทำอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงก่อน
หน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรได้อนุมัติให้บริษัท Meatly ซึ่งเป็นบริษัท Startup ที่ตั้งอยู่ในลอนดอนสามารถผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยใช้เนื้อสัตว์จากห้องแล็บได้ โดย Meatly ได้กล่าวถึงการอนุมัตินี้ว่า “เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม”
เนื้อสัตว์จากห้องแล็บ หรือ Lab-grown meat คือเนื้อที่ถูกเลี้ยงในห้องทดลอง โดยนักวิทยาศาสตร์จะใช้สเต็มเซลล์ของสัตว์ เช่น วัว ไก่ หมู เป็นต้น วางไว้ในจานเพาะเลี้ยงที่มีกรดอะมิโนและคาร์โบไฮเดรต เพื่อช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อขยายตัวและเติบโต จนออกมาเป็นเนื้อสัตว์ที่มีสัดส่วนของเนื้อและไขมันเหมือนกับที่ได้มาจากสัตว์จริงๆ
โดยปีนี้ทาง Meatly มีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าทดลองตัวแรกซึ่งเป็นเนื้อไก่จากห้องทดลอง ก่อนที่จะหันมาโฟกัสที่การลดต้นทุนบริษัทและขยายการผลิตสู่ปริมาณอุตสาหกรรมภายใน 3 ปี
เนื่องจากปัญหาการทำปศุสัตว์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้มนุษย์คิดค้นการสร้างเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ แม้มีราคาสูงและใช้เวลานานในการผลิต เบอร์เกอร์ที่ทำจากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงชิ้นแรกในโลก เปิดตัวเมื่อปี 2013 และมีค่าใช้จ่ายในการผลิตถึง 250,000 ปอนด์ หรือประมาณ 11 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่นั่นก็จุดประกายให้บริษัทต่างๆ แข่งกันพัฒนาเนื้อเพาะเลี้ยงที่มีราคาถูกให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้
โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่อนุญาตให้บริโภคเนื้อสัตว์จากห้องทดลองได้ เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด