มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหลัง TRUE และ DTAC ควบรวมกิจการ และกลายเป็น True Corporation | Techsauce

มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหลัง TRUE และ DTAC ควบรวมกิจการ และกลายเป็น True Corporation

นับเป็นก้าวสำคัญของ TRUE และ DTAC หลังควบรวมกิจการ โดยใช้ชื่อว่า "บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" (True Corporation) ที่วันนี้ (2 มีนาคม 2566) ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 

True Corporationโดย “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่ จะเป็นการรวมศักยภาพจุดแข็งของ DTAC และ TRUE เพื่อมุ่งสู่ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย  โดยชูแนวคิด "ชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together)" ผสานพลังรวมกัน 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้ สร้างศักยภาพความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่รู้จบ 

พร้อมกับภารกิจดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้ง 2 แบรนด์ในวันนี้ คือ 

  • ทรูมูฟ เอช  33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย  
  • พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์  5 ล้านราย 
  • ผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย

โดยที่ DTAC และ TRUE ได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่เรียบร้อย โดยได้รับหนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ ภายใต้ชื่อจดทะเบียน "บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

โดยตามเงื่อนไขการควบรวมของ กสทช. ทางบริษัทจะมีการรวมหนี้สิน ทรัพย์สิน จำนวนหุ้น แต่ยังคงดำเนินการทั้งสองแบรนด์ "TRUE และ DTAC" ตามปกติ หมายความว่า แยกการทำตลาดของทั้งสองแบรนด์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และหลังจาก 3 ปี จึงจะมีการปรับแผนการดำเนินงานใหม่ ซึ่งการควบรวมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านธุรกิจ และการให้บริการโดยมั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งสองแบรนด์ได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ก้าวสู่ Digital Transformation นำเสนอเทคโนโลยี พร้อมกับมองว่าเป็นโอกาส  New Ocean ของบริษัทฯ เพราะลูกค้าคือคนสำคัญ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าใช้ชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และจะมีการลงทุนทางด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง

มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ?

ทั้งนี้มูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้งสองบริษัท และการดำเนินการอื่น ๆ

ขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากรในไทย ในปี 2569

อย่างไรก็ตามบริษัทใหม่จะมุ่งสู่ผู้นำด้านโครงข่ายอย่างแท้จริง โดยจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากรในประเทศไทย ในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตามรายงานโดยการวิจัยของ GSMA คาดว่า 5G จะช่วยผลักดันการเติบโตของ GDP ในประเทศไทยที่มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) ในปี 2573

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะให้บริการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “ทรู” และ “ดีแทค”   โดยลูกค้าสามารถใช้สัญญาณคุณภาพดีขึ้นทันทีจากสัญลักษณ์เครือข่าย dtac-True และ True-dtac  บนหน้าจอมือถือ   

พัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย

ซึ่งเป็นก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพสัญญาณโมบายล์อินเทอร์เน็ตด้วยการ “โรมมิ่ง” สัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz  และ 700 MHz โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้จะขยายครบทั้ง 77 จังหวัด ประมาณกลางมีนาคมนี้

รวมทั้งลูกค้าเดิมของทั้งสองค่ายจะรับสิทธิ์ ดูฟรี เน็ตฟรี ดื่มฟรี ได้ตั้งแต่วันที่  2 มี.ค. - 31 พ.ค. 2566 ผ่าน TrueID  และ  DTAC

True Corporation

ชู 7 กลยุทธ์หลัก True Corporation มุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร ดันไทยสู่อนาคตดิจิทัล     

1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคม และเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader ) - การผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ ทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล

อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์มาตรฐานสากล ระบบคลาวด์ ไม่เพียงแต่จะสร้างประสบการณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ยอดเยี่ยม  แต่จะมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆเพื่อคนไทย ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่เหนือกว่า (Champion Growth Beyond the Core) - นอกจากการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานแล้ว บริษัทใหม่จะเดินหน้าขยายธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยจะมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร  พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion ) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น

3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand) - ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น  ทั้งการนำเสนอสินค้าบริการ การมอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนช่องทางการเข้าถึง O2O ผ่านการผนึกพลังทั้งออฟไลน์ในเครือทั่วประเทศและออนไลน์แบบ 24 ชม.ทำให้ลูกค้าจะได้สัมผัสสุดยอดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และไร้รอยต่อในทุกจุดบริการ รวมทั้งยกระดับบริการหลังการขายที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น

4. มุ่งเติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย (Enhance Smart Life for Customers) - ทรู คอร์ปอเรชั่น จะส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะเพื่อคนไทย ยกระดับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะไม่จำกัดเฉพาะชีวิตคนเมืองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านเครือข่ายสื่อสารดิจิทัลที่กว้างไกลและครอบคลุมยิ่งขึ้น 

5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) – บริษัทใหม่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม  นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain  พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสร้างความต่างและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน  ลดค่าใช้จ่าย ทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร สาธารณสุข และค้าปลีก 

6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work) - บริษัทใหม่จะเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก เป็นองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย ผสานความแตกต่าง ควบคู่กับการสร้างคนให้มีจิตวิญญาณเป็นเจ้าของกิจการ เป็นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีความสามารถ (Talent) ทุกเจเนอเรชัน พร้อมกับมีสวัสดิการและสุขภาวะที่ดี (Well Being)    

7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable organization to Create Long Term Value) - มุ่งเน้นการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับทุกชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล 

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นชื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น นั้น คุณ คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า เพราะเป็นบริษัทที่มีชื่อแบรนด์ดิ้งด้าน Digital , Innovation และ มีพอร์ตที่หลากหลาย ครอบคลุม ทำให้บริษัทฯสามารถขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องได้ 

จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC)

ทั้งยังให้ความสำคัญกับดิจิทัลสตาร์ทอัพซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยบริษัทใหม่จะร่วมกับพันธมิตรระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) 

รวมทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อวางรากฐานสำหรับผลักดันสู่อนาคตของสตาร์ทอัพไทยในระดับยูนิคอร์น ซึ่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญที่พัฒนาจากเทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติ

ก้าวสู่องค์กร Carbon Neutral

มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในแนวทาง ESG (Environment, Social, and Governance) ทั้งด้านด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยด้านสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเป้าหมายก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutral ในปี 2573  และ Net zero ภายในปี 2593 รวมทั้งการลดปริมาณขยะฝังกลบ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2573    

ทั้งนี้ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 TRUE ได้กลับมาเปิดเทรดวันแรก 8.35 บาท หลังควบรวมสำเร็จ โดยโบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย 10.40 บาท

#TRUEDTAC #TRUEDTACควบรวมกิจการ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

โตโยต้า เปิดแผนการลงทุน พร้อมทุ่มงบ 4.7 แสนล้านบาทพัฒนารถ EV และ AI

โตโยต้า ประกาศแผนการลงทุนมูเพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีไฮโดรเจน...

Responsive image

LINE MAN Wongnai เตรียม IPO ไทย-สหรัฐฯ ปี 2025 มุ่งสู่การเป็นมากกว่าแอปฯ สั่งอาหาร

LINE MAN Wongai แพลตฟอร์มบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยอดนิยมของไทย กำลังพิจารณาการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยหรือสหรัฐฯ ภายในปี 2025 ตามข้อมูลจากคุณยอด ชิน...

Responsive image

Techsauce Global Summit 2024 พร้อมเดิมหน้าจัดงานใน 3 ประเทศ “ไทย-อินโด-เวียดนาม”

Techsauce Global Summit 2024 พร้อมเดิมหน้าจัดงานใน 3 ประเทศ “ไทย-อินโด-เวียดนาม” สู่เป้าหมายการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค...