นายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ ไฟเขียวให้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่จากจีนช่วยสร้างเครือข่าย 5G ของอังกฤษ แม้จะได้รับคำเตือนจากสหรัฐอเมริกาและรัฐมนตรีหลายคนว่า การอนุญาตครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ยอมให้หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่าย 5G บางส่วน อาทิ เสาสัญญาณ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ “ไม่ใช่แกนหลัก”
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นแม้จะมีเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของเมย์ จากซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ และเพนนี มอร์ดันท์ รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ
มติดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐฯ ซึ่งได้ห้าม Huawei ไม่ให้มีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายของภาครัฐ และยังกดดันให้เหล่าพันธมิตรในกลุ่ม “ไฟว์อายส์” อันได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกัน
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เจเรมี่ เฟลมมิ่ง หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองของอังกฤษ ได้ออกมาเตือนเมื่อวันพุธว่า ประเทศที่ไม่หวังดีกำลังคุกคามการใช้ชีวิตของคนอังกฤษด้วยการแฮกข้อมูลและโจมตีบนไซเบอร์
ในการกล่าวปาฐกถาที่เมืองกลาสโกว์ ซึ่งจะมีประเทศสมาชิกความร่วมมือด้านข่าวกรองที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งห้ารายเข้าร่วมงานพร้อมกันเป็นครั้งแรกในอังกฤษ มร. เฟลมมิ่ง จะพูดถึงความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” และเตือนว่า การปฏิรูปทางด้านเทคโนโลยีจะทำให้เรา “เผชิญกับความซับซ้อน ความไม่มั่นคง และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น” เขาจะกล่าวด้วยว่า “การปฏิรูปดังกล่าวได้สร้างความท้าทายอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้กำหนดนโยบายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่เราพยายามหาทางที่จะปกป้องประชาชน ระบบศาล ธุรกิจต่างๆ หรือแม้แต่บรรทัดฐานทางสังคมของเรา”
ก่อนหน้านี้ อล็กซ์ ยังเกอร์ หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอังกฤษ MI6 ได้เผยว่า อังกฤษจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะสามารถยอมรับการเข้าร่วมของ Huawei ในการวางโครงข่ายโทรคมนาคม “อย่างสะดวกใจ” ได้มากน้อยเพียงใด เซียรัน มาร์ติน ประธานเจ้าหน้าที่ศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติของอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักงานข่าวกรองของอังกฤษ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขา “มั่นใจ” ว่าอังกฤษสามารถจัดการความเสี่ยงจากหัวเว่ย และยังมีการระบุด้วยว่า หน่วยงานด้านความปลอดภัยดังกล่าวเชื่อว่า ความเสี่ยงต่างๆ สามารถควบคุมให้ลดน้อยลงได้
ในทางกฎหมาย บริษัทจีนต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองภายในประเทศ ซึ่งเป็นกฎที่สร้างความกังวลอย่างมากแก่ฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ต่างกีดกัน Huawei ในการจัดหาอุปกรณ์หลักๆ สำหรับโครงข่ายโทรคมนาคม ในขณะที่แคนาดายังคงทบทวนจุดยืนของตนเองอยู่ และเมื่อปีที่แล้ว นิวซีแลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่ไม่อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยกับเครือข่ายในประเทศ
ทั้งนี้ Huawei ปฏิเสธว่า บริษัทไม่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม กระแสวิจารณ์ได้ระบุว่า มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยเคยทำงานอยู่ในกองทัพและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1987 จึงเกิดประเด็นคำถามว่า หัวเว่ยเป็นอิสระมากน้อยเพียงใดจากรัฐบาลจีน มร. เฟลมมิ่ง ยังเผยด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ GCHQ ได้เผยข้อมูลลับด้านข่าวกรองให้กับธนาคาร บริษัทต่างๆ และสาธารณชนได้ทราบ พร้อมระบุคำเตือนและคำแนะนำในเบื้องต้นเพื่อเป็นมาตรการรับมือในการ “ตรวจสอบ ขัดขวาง และแก้ไข” การโจมตีจากประเทศที่ไม่หวังดีและการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ เขายังระบุด้วยว่า “เราได้ลดความซับซ้อนของข้อมูลเพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลลับไปเผยแพร่ให้ทันเวลาได้ในไม่กี่วินาที เพียงคลิกเดียว ข้อมูลนี้ก็จะถูกแชร์และดำเนินการต่อ” เขาอาจต้องการบอกด้วยว่า ข้อมูลเชิงลึกของ GCHQ ที่เกี่ยวกับช่องโหว่เชิงโครงสร้างระบบในอินเทอร์เน็ตได้ช่วยให้สำนักงานสรรพากรและศุลกากรของอังกฤษขยับอันดับจากหน่วยงานที่ถูกโจมตีแบบฟิชชิ่งมากที่สุดอันดับที่ 16 ของโลกไปเป็นอันดับที่ 146
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด