รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า รัฐบาลทั่วโลกต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะสั้นเพื่อลดจากก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน เพราะตอนนี้เวลาเหลือน้อยลงไปทุกทีแล้ว
ภายใต้ความตกลงปารีส ประเทศต่าง ๆ ได้วางเป้าหมายร่วมกันว่าจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) และมีการวางเป้าหมายที่สูงขึ้นตั้งไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสถ้าทำได้
อย่างไรก็ตามจากรายงานล่าสุดพบว่าเวลาที่จะทำเป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จกำลังลดลงไปอย่างรวดเร็ว และโลกอาจเข้าสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนได้ เนื่องจากยังคงมีการปล่อยมลพิษอยู่ทั่วโลก โดยปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเกือบ 1%
และภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อเป้าหมายด้านสภาพอากาศ นั่นก็คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีการตัดไม้ทำลายป่า การทำเกษตรแบบเร่งรัด
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่าเป้าหมายที่จะไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสยังคงเป็นไปได้ แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและสังคม
โดยเขาเรียกร้องให้มีการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลงทุนในพลังงานหมุนเวียน นอกจากนั้นยังแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์คงไม่สามารถเลิกใช้พลังงานฟอสซิลได้อย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันสั้น วิธีที่มีประสิทธิภาพกว่าจึงเป็นการสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการมลพิษเหล่านั้นออกจากชั้นบรรยากาศ
ระเบิดเวลาด้านสภาพอากาศกำลังเดินไปเรื่อย ๆ
รายงานของ IPCC ในวันนี้เป็นคำแนะนำในการปลดมัน มันเป็นแนวทางเอาชีวิตรอดสำหรับมนุษยชาติ” António Guterres กล่าวในแถลงการณ์วันนี้
เขายังบอกว่าประเทศร่ำรวยต้องรับผิดชอบกับสัดส่วนการปล่อยมลพิษที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ และจำเป็นต้องทำให้อยู่ในกรอบเวลาที่เร็วกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงต้องระดมทรัพยากรทางการเงินและทางเทคนิคเพื่อสนับสนุนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วย เพราะกลุ่มประเทศเปราะบางเหล่านั้นต้องรับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด โดยที่พวกเขาไม่ได้ก่อ
ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีประชากรจำนวนมาก เศรษฐกิจขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมที่หลากหลาย จะมีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงมาก ในทางกลับกันประเทศที่ยากจนนั้นมีการใช้พลังงานน้อยกว่าเป็นสิบเท่า
นอกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานที่เป็นต้นกำเนิดหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างบริษัทน้ำมัน ก๊าซ ก็จำเป็นต้องมีส่วนในการแก้ไขนี้ด้วย รวมถึกลุ่มการขนส่ง การบิน เหล็ก ซีเมนต์ อลูมิเนียม เกษตรกรรม ซึ่งควรจะมีเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ทั้งแผนระยะยาวและระยะสั้นที่ชัดเจน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด