WHA Group โชว์กำไรปี 65 แตะ 4,046 ลบ. เพิ่มขึ้น 56% เคาะปันผล 0.1672 บ.ต่อหุ้น | Techsauce

WHA Group โชว์กำไรปี 65 แตะ 4,046 ลบ. เพิ่มขึ้น 56% เคาะปันผล 0.1672 บ.ต่อหุ้น

“WHA Group” เสิร์ฟข่าวดี โชว์กำไรสุทธิ ปี 2565 ทุบสถิติสูงสุด เป็นประวัติการณ์แตะ 4,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% เคาะจ่ายปันผลรวมทั้งปี 0.1672 บาทต่อหุ้น 

WHA Groupบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (“WHA Group”) แจ้งงบผลการดำเนินงานงวดปี 2565                      มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 15,567.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,045.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2% (Y-Y) แบ่งเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 15,566.4 ล้านบาท ขณะที่กำไรปกติ 4,064.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.0% (Y-Y) ทุบสถิติกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดบอร์ดเสิร์ฟข่าวดี อนุมัติจ่ายปันผลรวมทั้งปี หุ้นละ 0.1672 บาท 

พร้อมขึ้น XD วันที่ 10 พ.ค. 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผล วันที่ 25 พ.ค. 2566 ด้าน Group CEO หญิงเก่ง WHA Group “จรีพร จารุกรสกุล” ประกาศตอกย้ำ การวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภารกิจ “Mission to the Sun” สู่เป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อเสริมกลุ่มธุรกิจในปัจจุบันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ พร้อมอัดงบลงทุน 4 กลุ่มธุรกิจ ภายใน 5 ปี (ปี 2566-2570) ไว้ที่ 6.85 หมื่นล้านบาท ส่งซิกดันรายได้รวม 5 ปี แตะ 1 แสนล้านบาท    

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น 15,567.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1%  และ 4,045.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2%  ตามลำดับ โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 15,566.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% และกำไรปกติ 4,064.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.0% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุบสถิติกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ส่วนผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร ทั้งสิ้น 8,997.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% และมีกำไรสุทธิ 2,841.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.6% หากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 8,924.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% และกำไรปกติ 2,754.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และรายได้จากการขายทรัพย์สินสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR จำนวน 208,149 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่ารวม 5,397 ล้านบาท 

ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.1672 บาท โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0669 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.1003 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่น โดยกำหนดเริ่มขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566

คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “WHA Group” เปิดเผยว่า สำหรับการเติบโตของผลการดำเนินงานในปี 2565 ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล โซลูชัน ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามได้เป็นอย่างดี  

ธุรกิจโลจิสติกส์ ในปี 2565 ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น จากอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และสภาวะการลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดย ณ สิ้นปี 2565 สามารถลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 136,332 ตารางเมตร และยังมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 135,012 ตารางเมตร 

ส่งผลให้มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,718,231 ตารางเมตร จากแนวโน้มการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่มีเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของบริษัทฯ โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 92  ในไตรมาส 4/2565 และทั้งปี 2565 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ทั้งสิ้น 3,886.3 ล้านบาท และ 4,743.0 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเปิดตัวโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม.21 บนเนื้อที่รวมกว่า 400 ไร่ โดยปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ ในเฟส 1 แล้ว ถึงร้อยละ 68 หรือคิดเป็นพื้นที่เช่ากว่า 130,000 ตารางเมตร กับลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่หลายราย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) และผู้เช่าหลักรายอื่นๆ ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

    “บริษัทฯ มุ่งมั่นขยายธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตที่สูง พร้อมทั้งยังมุ่งเน้นจัดหาบริการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ อาทิ Quantum Computing, Internet of Things (IoT) และ Data Analytics เป็นต้น โดยขอบเขตที่อยู่ระหว่างการศึกษา ได้แก่ คลังสินค้าอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Quantum Computing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด Green Logistics รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพเพื่อส่งมอบบริการ และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าไปพร้อมๆ กัน” 

ส่วนธุรกิจ Office Solutions ขณะนี้บริษัทฯ ได้เดินหน้าขยายโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าที่สมัยใหม่ในหลากหลายทำเลที่ตั้งบนใจกลางกรุงเทพฯ ล่าสุดเตรียมเปิดตัวโครงการ WHAKW S25 ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าอยู่แล้ว 6 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 100,000 ตารางเมตร

สำหรับเป้าหมายธุรกิจโลจิสติกส์ ในปี 2566 นี้ บริษัทฯ คาดว่าจะส่งมอบโครงการใหม่และสัญญาใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ในประเทศไทย 165,000 ตร.ม.และในเวียดนาม 35,000 ตร.ม. ให้แก่กลุ่มลูกค้าต่างๆ อาทิ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคการค้าปลีก โดยคาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะเพิ่มสูงถึง 2,900,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการขายทรัพย์สินสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART รวมทั้งสิ้นประมาณ 142,000 ตารางเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,250 ล้านบาท  

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 1,899 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทย 1,793 ไร่ และเวียดนาม 106 ไร่ มียอด MOU ที่รอเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน รวม 899 ไร่ (แบ่งเป็นในประเทศ 469 ไร่ และเวียดนาม 430 ไร่) และมียอด Backlog รอโอนรวม 468 ไร่ ซึ่งเป็นยอดในประเทศไทยทั้งหมด โดยบริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 4/2565 และทั้งปี 2565 รวม 4,428.2 ล้านบาท และ 6,787.4 ล้านบาท ตามลำดับ 

ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากอานิสงส์การย้ายฐานการลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และปัญหาความไม่สงบระหว่างยูเครน-รัสเซีย รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองของจีน ทำให้หลากหลายอุตสาหกรรมจัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ส่งผลให้ผู้ลงทุนในแต่ละประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิต และการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค จากการมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง และมีเสถียรภาพที่พร้อมจะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล 

“ WHA Group เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มีพื้นที่นิคมฯ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งหมด 71,000 ไร่ โดยมีพื้นที่พร้อมขายกว่า 4,000 ไร่ และอยู่ระหว่างการเจรจาขายที่ดินให้กับลูกค้าอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่รวมกว่า 3,000-4,000 ไร่ โดยกลุ่มหลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ” 

ปัจจุบันบริษัทฯ มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในประเทศไทย จำนวน 11 แห่ง โดยมีนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 1,280 ไร่ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และยังมีนิคมฯ อีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาก่อสร้าง ได้แก่  นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ และ เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 จำนวน 2,400 ไร่ ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จำนวน 570 ไร่ และการขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จำนวน 400 ไร่

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาส่วนขยายนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 106 ไร่ และยอด MOU รวม 430 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ ในจังหวัดหลักๆ ของเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

“ โดยส่วนตัวมองว่า จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดิน ในปี 2566 ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม รวม 1,750 ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา”   

สำหรับโครงการในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 – เหงะอาน เฟส 1 ขนาด 900 ไร่ นั้น มีการพัฒนาแล้วเสร็จ และมีกลุ่มลูกค้าเช่าพื้นที่ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กว่าร้อยละ 77 ของพื้นที่เฟสที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างการ เร่งดำเนินการก่อสร้างเฟสที่ 2 ขนาดพื้นที่ 2,215 ไร่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะมีความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม อีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ ในจังหวัดทัญฮว้า โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หรือต้นปี 2568  และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของภาคกลาง ระหว่างจังหวัดดานังและจังหวัดกว๋างหงาย โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ในปี 2569 หรือ 2570 และหากทุกอย่างแล้วเสร็จสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที  

 ด้านบริษัท บีไอจี ดับบลิวเอชเอ อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด “BIG WHA” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน กับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด “บีไอจี”นั้น บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ การจัดหาก๊าซไนโตรเจน โดยจะขยายให้บริการไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจุบันที่ให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) รวมถึงก๊าซอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ด้วย

ปี 2566 บริษัทฯ ยังเปิดให้บริการไฟเบอร์ออพติคใต้ดิน (FTTx) ให้แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้แก่  AWN, True และ Dtac ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ทั้ง 11 แห่ง ในประเทศไทย และให้บริการเช่าเสาโทรคมนาคม   เพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับกระจายสัญญาณเครือข่าย 5G ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง โดยคาดว่าจะขยายให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ  เพิ่มเติมในปีนี้  

ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ)  สำหรับปี 2565 ธุรกิจน้ำปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวม ในไตรมาส 4 และทั้งปี 2565 เท่ากับ 604.5 ล้านบาท และ 2,548.5 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมสำหรับไตรมาส 4 และปี 2565 รวมเท่ากับ 33.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 145.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ 

โดยมีปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศ ในไตรมาส 4/2565 จำนวน 25.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ชะลอตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณยอดจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและปริมาณการบริหารจัดการน้ำเสียลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value Added Product) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของ WHAUP AIE ในช่วงเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา รวมถึงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ปริมาณยอดขายและบริหารน้ำในประเทศรวม ทั้งปี 2565 อยู่ที่ระดับ 116.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นการให้บริการ จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม ผลิตภัณฑ์น้ำดิบ และปริมาณการบริหารจัดการน้ำเสียของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี 

ส่วนยอดขายน้ำในเวียดนามในไตรมาส 4 และ ปี 2565 มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 7.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 28.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ        ในเวียดนาม ภายหลังจากการเปิดประเทศ รวมถึงบริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้า และเพิ่มพื้นที่การให้บริการน้ำประปาได้ครอบคลุมมากขึ้น 

ขณะเดียวกันทางบริษัทฯ ยังได้มีการเปิดดำเนินการ โครงการโรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบด้วย โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียกำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 รวมถึงเตรียมดำเนินการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 

พร้อมกันนี้ยังได้เร่งดำเนินการโครงการจัดหาน้ำดิบทดแทน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาทรัพยากรน้ำ อีกจำนวน 2 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรก มีขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสแรกของปี 2566  

ส่งผลให้ในปี 2566 มีการตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมที่ระดับ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นยอดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำภายในประเทศ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 135 ล้านลูกบาศก์เมตร และสัดส่วนยอดจำหน่ายน้ำจากธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 โครงการ อีกจำนวน 33 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ เดินหน้าขยายพอร์ทการลงทุนในการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งในปี 2565 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติ จากการดำเนินงานและการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้า ไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 4 และปี 2565 เท่ากับ 231.2 ล้านบาท และ 804.7 ล้านบาท ตามลำดับ 

โดยในช่วงไตรมาส 4 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรปกติกลุ่มโรงฟ้า IPP จากการหยุดซ่อมบำรุงและต้นทุนถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงไฟฟ้า GHECO-One อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ยังได้รับปัจจัยเชิงบวกจากส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการทยอยปรับขึ้นของค่า Ft และต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เริ่มปรับตัวลดลง

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 4 และปี 2565 บริษัทฯ รับรู้รายได้ เท่ากับ 153.7 ล้านบาท และ 331.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปีที่ผ่านมามีการเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อป เพิ่ม 31 สัญญา แบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 26 สัญญา มีขนาดการผลิตไฟฟ้ารวม 41 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 5 สัญญา มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมที่ 133 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติม อีก 37 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 94 เมกะวัตต์  

“ในปี 2565 บริษัทฯ ได้เซ็นสัญญากับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่รวม 32,200 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 นับเป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทำให้สิ้นปี 2565 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอยู่ที่ 683 เมกะวัตต์” 

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการนำโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้ เพื่อเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ โดยได้ร่วมมือกับ ปตท. และ Sertis ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ภายใต้ชื่อ Renewable Energy Exchange ("RENEX") โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และได้เริ่มนำไปใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ โดยมีลูกค้าชั้นนำเข้าร่วมแล้วจำนวน 54 ราย ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งของดับบลิวเอชเอ ได้แก่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) 

และบริษัทฯ มีแผนการศึกษาและพัฒนาให้สามารถเกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ลงทะเบียนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ I-REC หรือใบรับรองสีเขียวที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน I-REC

“บริษัทฯ เดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศไทย - เวียดนาม พร้อมมองหาและเปิดโอกาสการเข้าลงทุนใหม่ๆ ในประเทศอื่นๆ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ไฮโดรเจน การซื้อขายคาร์บอนและการใช้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) พร้อมตั้งเป้าหมายการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”  

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 847 เมกะวัตต์ เพิ่มจาก 683 เมกะวัตต์ในปี 2565 ประกอบด้วยพลังงานฟอสซิล พลังงานสิ้นเปลือง (Conventional Power) 547 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) 133 เมกะวัตต์ และพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม (Waste to Energy) 3 เมกะวัตต์ พร้อมเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ 300 เมกะวัตต์  

 ธุรกิจดิจิทัล บริษัทฯ มุ่งมั่นเดินหน้าการทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็น Technology Company ตามเป้าหมายในปี 2567 โดยได้ปรับเปลี่ยนองค์กรตั้งแต่การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทรัพยากรบุคคล วัฒนธรรม ไปจนถึงขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีศักยภาพพร้อมรับมือกับยุคดิจิทัล รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงลูกค้า และสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังผลักดันโครงการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลภายในองค์กร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ประสิทธิภาพ (Efficiency) การเข้าถึง (Accessibility) และความปลอดภัยด้านดิจิทัล (Cyber Security) พร้อมทั้งส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ อาทิ การพัฒนาแดชบอร์ดภายในองค์กร เพื่อตรวจสอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ตรวจจับประสิทธิภาพ เครื่องมือวิเคราะห์ ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ  

 “ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน WHAbit หรือ โซลูชัน สำหรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดเปิดตัวเวอร์ชันที่สอง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ด้วยฟีเจอร์การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) และคำแนะนำส่วนบุคคล พร้อมทั้งเตรียมแผนเปิดตัว Meta W ซึ่งเป็นเมตาเวิร์ส ด้านอุตสาหกรรมรายแรก ที่จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัทฯ ในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ Meta W จะนำเสนอ Digital Twin โดยลูกค้าสามารถเข้าไปสัมผัส และมีประสบการณ์เสมือนจริงทั้งในรูปแบบของกิจกรรม การดำเนินงาน โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และในอนาคต ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล มีแผนที่จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกระบบนิเวศของกลุ่มบริษัทฯ”  

Group CEO กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ ผ่านงบลงทุนจำนวน 6.85 หมื่นล้านบาท ใน 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ภายใน 5 ปี (ปี 2566-2570) ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์) จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภคน้ำ-ไฟฟ้า (WHAUP) จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาท และธุรกิจดิจิทัล (ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล) จำนวน 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี ไว้ที่ระดับ 100,000 ล้านบาท 

และเพื่อเป็นการตอกย้ำศักยภาพความยิ่งใหญ่ของ WHA Group ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับการรับรองจาก S&P Global ให้เป็น 1 ใน 3 ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากประเทศไทย ที่ได้รับการประกาศรายชื่อด้านความยั่งยืนในรายงาน Sustainability Yearbook Member ประจำปี 2023 และยังถูกยกให้เป็น Industry Mover ของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้าร่วมประเมินจากทั่วโลก 

ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์สิ่งที่บริษัทฯ มุ่งมั่นและตั้งใจมาโดยตลอดในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่การดำเนินธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ และในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ Thailand Best Managed Companies 2022 ในฐานะบริษัทที่มีการบริหารจัดการดีที่สุดของประเทศไทย ประจำปี 2565 รวมถึงรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 ในสาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ

นอกจากนี้  คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังได้รับมอบรางวัลอันทรงเกียรติ อาทิ  Thailand Top CEO of The Year 2022 ประเภทอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ รางวัล IEEE PES Women in Power Award 2022 ในฐานะผู้บริหารหญิงที่มีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน จากผลงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมการนำพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม 

ตลอดจนการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้พันธสัญญาการเป็น “The Ultimate Solution for Sustainable Growth” รวมถึงรางวัลอันทรงเกียรติ Prime Minister’s Digital Award 2022 สาขา Digital Entrepreneur of the Year จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งรางวัลสาขาดังกล่าว มอบให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ริเริ่ม ส่งเสริมการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีความโดดเด่น และส่งผลให้องค์กรเป็นที่ยอมรับด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนมีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

PepsiCo เปิดเวที Greenhouse Accelerator 2025 เฟ้นหาสตาร์ทอัพสายกรีนในเอเชียแปซิฟิก ชิงทุนกว่า 120,000 ดอลลาร์ฯ

PepsiCo ยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร และเครื่องดื่มระดับโลก ประกาศเปิดรับสมัครสตาร์ทัพด้านความยั่งยืนรุ่นใหม่จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วมโครงการ ‘Greenhouse Accelerator 2025’ ปีที่ 3...

Responsive image

OpenAI เปิดตัว “Tasks” ฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT เตือนความจำ-สั่งงานล่วงหน้าได้ หมดกังวลเรื่องหลงลืม

หมดกังวลเรื่องหลงลืม! OpenAI เปิดตัว “Tasks” ฟีเจอร์เตือนความจำ-สั่งงานล่วงหน้า บน ChatGPT...

Responsive image

BOI ปรับเกณฑ์ LTR Visa ใหม่ หวังดึง Talent ต่างชาติ-นักลงทุนเข้าไทย

ล่าสุด ครม. อนุมัติบีโอไอ (BOI) ปรับเกณฑ์วีซ่าพิเศษ LTR Visa (Long-Term Resident Visa) หวังดึงบุคคลากรชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง รวมถึงนักลงทุนระดับโลกเข้าสู่ไทย หวังผลักดันไทยเป็น...