เมื่อจีนรุกตลาด EV ไทยแบบไม่รอใคร สัญญาณเตือนใหม่ที่แบรนด์ญี่ปุ่นต้องปรับตัว | Techsauce

เมื่อจีนรุกตลาด EV ไทยแบบไม่รอใคร สัญญาณเตือนใหม่ที่แบรนด์ญี่ปุ่นต้องปรับตัว

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปี 2024 ได้รับความนิยมจากผู้ใช้เพิ่มแบบเห็นได้ชัด โดยภายในงาน Motor Show 2024 ที่ผ่านมา มียอดจองรถไฟฟ้า 100% ไปมากกว่า 17,517 คันจากยอดจองทั้งหมด 53,438 คัน 

สิ่งที่น่าสนใจคือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ที่แม้จะมีรถเข้ามาทำตลาดในไทย 5 รุ่น (Dolphin, Atto 3, Seal, Denza D9, Seal U) กลับสามารถครองยอดจองลำดับที่ 2 ที่ 5,345 คัน ตามหลังแชมป์เจ้าตลาดอย่าง Toyota ที่มียอดจองในงานรวม 8,540 คัน และที่น่าสนใจไปกว่านั้น 10 อันดับยอดจองสูงสุดในงาน Motor Show 2024 เป็นแบรนด์จีนติดอันดันไปแล้วถึง 5 แบรนด์ เกาะกลุ่มร่วมกับแบรนด์รถญี่ปุ่นอย่างเหนียวแน่น

แต่การเข้ามาทำตลาดอย่างหนักหน่วงของ EV จีนในไทยครั้งนี้ จะแย่งบัลลังก์แบรนด์รถญี่ปุ่นที่ครองตลาดในบ้านเรามาอย่างยาวนานหรือไม่ ? 

EV จีน ‘ตัวเลือกเดียว’ ของผู้บริโภค ?

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แบรนด์รถญี่ปุ่นสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในไทยได้เกิน 80% แม้ว่าจะมีแบรนด์จีนบุกตลาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อปี 2023 ส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์ญี่ปุ่น ลดลงต่ำกว่า 80% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี พร้อมกับการขยับของแบรนด์รถจีนที่ครองส่วนแบ่งได้มากถึง 10% เป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสรถ EV  

ด้วยความต้องการรถ EV ในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรุกตลาดอย่างจริงจังในตอนนี้เป็นโอกาสที่ดี และแบรนด์จากจีนเองก็หวังที่จะคว้าโอกาสนี้แบบไม่รอใคร เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Hozon New Energy Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Neta ที่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ได้ประกาศแผนเพิ่มยอดขายมากขึ้นสองเท่าที่ 30,000 คัน พร้อมกับกางแผนเพิ่มกำลังการผลิตรถ Neta เป็นสองเท่า ที่ 20,000 คันต่อปี 

สำหรับตลาดรถยนต์ในไทยที่มีการจำหน่ายประมาณ 800,000 คันต่อปี ตัวเลขเป้าหมายการผลิต 20,000 คัน ‘ถือว่าไม่น้อย’ ที่น่าสนใจคือ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นในปีที่แล้วแบบ ‘ก้าวกระโดด’ จากน้อยกว่า 10,000 คัน เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 76,000 คัน ตามข้อมูลของ Tatsuo Yoshida นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์อาวุโสของ Bloomberg Intelligence 

การบุกตลาด EV จีนในไทย ไม่ได้เข้ามาในฐานะ ‘ตัวเลือกที่คุ้มค่า’ สำหรับผู้บริโภค แต่ในหลาย ๆ ครั้งรถ EV จีนกลับเป็น ‘ตัวเลือกเดียว’ ของผู้บริโภค เพราะแบรนด์เจ้าตลาดจากญี่ปุ่นยังไม่มีรถไฟฟ้าให้เลือกมากนักเมื่อเทียบกับผู้ผลิตจากจีน แต่แบรนด์ญี่ปุ่น และแบรนด์อื่น ๆ ยังมีโอกาสสู้กลับด้วย ‘รถกระบะ’

รถกระบะ คือโอกาสใหม่ 

Credit : GWM

ตามรายงานของ Bloomberg เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่กว่า 40% เป็นรถกระบะ โดยมี Toyota และ Isuzu ยึดครองตลาดนี้มานาน ยอดขายกระบะ 4 ใน 5 คันของทั้งสองแบรนด์นี้ล้วนแล้วแต่เป็นรถกระบะ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ขายดีก็เป็นผลมาจากภาคเกษตรกรรมของไทยที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้เราเห็นรถกระบะขายดีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

แต่ตลาดรถกระบะก็เป็นอีกหนึ่งสังเวียนที่ต้องตั้งรับกับการแข่งขันจากแบรนด์ EV จากจีน โดย Great Wall Motor (GWM) คือหนึ่งในผู้เล่นที่กำลังจะลงมาเล่นในตลาดนี้ หลังได้เปิดตัว POER SAHAR HEV รถกระบะไฮบริดรุ่นแรกในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นอกจากรถกระบะไฮบริด ดูเหมือนว่าทางค่าย GWM กำลังจะบุกตลาดด้วย ‘รถกระบะไฟฟ้า’ ในเร็ว ๆ นี้ ด้วย Michael Chong ผู้จัดการทั่วไปของ GWM ในไทยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทไม่มีปัญหาใด ๆ ในการพัฒนารถกระบะไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใบ้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการออกจำหน่ายรถกระบะไฟฟ้าในอนาคต

แบรนด์ญี่ปุ่นก็เล็งเห็นความสำคัญของตลาดนี้เช่นกัน และเป็นการแข่งขันที่ต้องจับตามอง โดยทางฝั่ง Toyota ได้ประกาศแผนเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้า Hilux ในไทยภายในปี 2025 ขณะที่ Isuzu ก็ได้มีการเปิดตัว D-Max ไฟฟ้า ให้เห็นภายในงาน Motor Show ครั้งที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และรุ่นนี้มีการผลิตที่ไทยด้วย

แม้ว่ารถกระบะ EV คือโอกาสใหม่ แต่จะทำอย่างไรถึงจะสู้กับจีนที่ได้เปรียบเรื่องต้นทุน ?

ผลิตไทย ขายไทย แต่ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์

Credit : MG

การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจีนในไทย มีสาเหตุหลักมาจากโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมอบเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน พร้อมกับการยกเว้น - ลดภาษีนำเข้า และภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนดูจะเติบโตมากขึ้นไปอีก หลังไทยวางแผนสนับสนุนการรถยนต์ไฟฟ้าระยะยาวด้วยมาตรการใหม่ ‘EV 3.5’ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567 - 2670 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรม EV ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

ไทย ถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดใน South East Asia จนได้รับฉายาว่า ‘ดีทรอยด์แห่งเอเชีย' เนื่องจากมีผู้ผลิตรถญี่ปุ่นเข้ามาจัดตั้งโรงงานในบ้านเราเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ได้ดึงดูดแบรนด์ผู้ผลิตจากจีนเข้ามาลงทุน และจัดตั้งโรงงานในไทยด้วย ประกอบกับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ จึงทำให้ตอนนี้แบรนด์ EV จีนรายใหญ่ทั้ง BYD, Ora, Neta, GWM, GAC หรือ Changan เดินเครื่องพร้อมคลอดรถ EV จากไลน์ผลิตในบ้านเราแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาจัดตั้งโรงงานรถ EV อาจไม่ได้ทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องด้วยข้อตกลงทางการค้า FTA ไทย-จีน ที่ยกเว้นภาษีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน (CBU) รวมถึงยังยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าส่วนประกอบของสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่, มอเตอร์ขับเคลื่อน, ออนบอร์ดชาร์จเจอร์, ระบบควบคุมการขับขี่, คอมเพรสเซอร์ ไปจนถึงระบบบริหารแบตเตอรี่ (BMS) 

ด้วยมาตรการเหล่านี้ อาจส่งผลให้ผู้ผลิตในไทย ‘ไม่มีความสามารถ’ ที่จะแข่งขันตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เพราะผู้ผลิตจีนสามรถนำเข้าชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบ และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยตนเอง ไทยอาจเป็นเพียงผู้ผลิต และถูกใช้เป็นพื้นที่ Re-routing เพื่อผลิต และส่งออกให้กับจีน 

อ้างอิง : Bloomberg, ราชกิจจานุเบกษา (1), (2), thaigov

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Sovereign AI สำคัญอย่างไร ? จากปาก Jensen Huang ในวันที่ ‘ข้อมูลไทย’ คือทรัพยากรใหม่

สำรวจบทบาทของ Sovereign AI ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมคำอธิบายจาก Jensen Huang CEO ของ NVIDIA เกี่ยวกับ AI ไทยและ Open Thai GPT ที่จะเปลี่ยนอนาคตของเทคโนโลยีในประเทศไทย...

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...