ขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงราคาอาหารและค่าพลังงานที่พุ่งสูง ส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารและภาวะอดอยากทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Food Crisis ซึ่งจากรายงานของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่าราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปี 2021
สาเหตุและผลกระทบของ Food Crisis
ตามการรายงานของ FAO วิกฤตอาหารนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยหลักคือ
- ความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ : ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสงครามรัสเซีย - ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกอาหาร เชื้อเพลิงและปุ๋ยรายใหญ่ของโลก อีกทั้งยังเกิดการปิดกั้นเส้นทางการนำเข้า-ส่งออกของหลายประเทศทั่วโลก ตะวันออกกลางและแอฟริกาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น นำไปสู่ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นตามมา
- สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง : อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม จากรายงานของ World Weather Attribution ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เอเชียทางใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังเผชิญกับคลื่นความร้อน ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรของอินเดีย ผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับ 2 ของโลกถูกทำลาย นำไปสู่คำสั่ง ห้ามส่งออกข้าวสาลีจากรัฐบาลอินเดีย ราคาข้าวสาลีและอาหารต่างๆจึงพุ่งสูงขึ้น แตะจุดสูงสุดในรอบ 8 ปี กระทบถึงคนยากจนในเอเชียและแอฟริกาที่ขาดกำลังซื้อ จนเข้าสู่ภาวะอดอยาก
- ภาวะทางเศรษฐกิจเนื่องมาจาก Covid-19 : การระบาดของ Covid-19 ทำให้การผลิตและ Supply Chain ด้านอาหารทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ทำให้อาหารราคาพุ่งสูงขึ้น
วิกฤติอาหารโลกในครั้งนี้กระทบกับผู้คนกว่า 276 ล้านชีวิตใน 53 ประเทศ โดยเพิ่มขึ้นถึง 571% เมื่อเทียบกับปี 2016 โดยประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบคือประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตรสูง เช่น ทวีปแอฟริกาใต้ โดยผู้คนในทวีปแอฟริกาจำนวนกว่า 5 แสนคนที่ตกอยู่ในความไม่มั่นคงทางโภชนาการ (Food Insecurity) ระยะที่รุนแรง อีกทั้ง The World Food Programme ยังประมาณการไว้ว่าประชากรประมาณ 49 ล้านคนเผชิญกับภาวะหิวโหยในระดับฉุกเฉิน
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ภาวะขาดแคลนอาหารและความอดอยากนี้จะนำไปสู่การประท้วงและก่อจลาจลจากประชาชนที่ไม่มีกำลังพอจะซื้ออาหาร รัฐบาลของหลายประเทศและหลายหน่วยงานจึงพยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ แต่จากปัญหาเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ความช่วยเหลือมีจำกัด
ผลกระทบของไทยกับ Food Crisis
เป็นที่เห็นได้ชัดว่าไทยจะเผชิญปัญหากับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าประเภทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากวิกฤติอาหารนี้ทำให้หลายประเทศมีนโยบาย “Food Protectionism” หรือการงดส่งออก โดยขณะนี้มีทั้งสิน 14 ประเทศ ตามรายงานของ Peterson Institute for International Economics (PIIE) ได้แก่
- อาร์เจนตินา ห้ามส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง, เนื้อวัว
- แอลจีเรีย ห้ามส่งออกพาสต้า, เมล็ดข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล
- อียิปต์ ห้ามส่งออกน้ำมันพืช, ข้าวโพด, ข้าวสาลี, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, ถั่วเลนทิล, พาสต้า, ถั่ว
- อินโดนีเซีย ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม, น้ำมันปาล์มจากเมล็ดปาล์ม
- อิหร่าน ห้ามส่งออก มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม
- คาซัคสถาน ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, แป้งสาลี
- โคโซโว ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล
- ตุรกี ห้ามส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันประกอบอาหาร
- ยูเครน ห้ามส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้างฟ่าง, น้ำตาล
- รัสเซีย ห้ามส่งออก น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน, ข้าวสาลี, แป้งเมสลิน, ข้าวไรย์, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด
- เซอร์เบีย ห้ามส่งออกข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช
- ตูนิเซีย ห้ามส่งออกผัก, ผลไม้
- คูเวต ห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช
- อินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี
แม้ว่าธนาคารโลกจะพยายามช่วยรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร โดยการจัดตั้งโครงการ มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงผลักดันให้นานาประเทศร่วมกันเพิ่มปริมาณพลังงานและการผลิตปุ๋ย ไปจนถึงผลักดันยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า แต่ก็ยังคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2023
อ้างอิง PBS, FAO, NPR, World Grain, World Weather Attribution, Politico, The Guardian