สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ Wongnai คล้องแขน LINE - Alipay - TrueMoney วางกลยุทธ์เพื่อเป็น Lifestyle Platform | Techsauce

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ Wongnai คล้องแขน LINE - Alipay - TrueMoney วางกลยุทธ์เพื่อเป็น Lifestyle Platform

wongnai_alipay_line_truemoney

มาแรงจริงๆ สำหรับ Wongnai (วงใน) เว็บไซต์และแอปพลิเคชันค้นหาและรีวิวร้านอาหารนัมเบอร์วันของไทย เพราะนอกจากจะมี LINE Thailand เข้ามาเป็นพันธมิตรใหม่แล้ว ยังมี Alipay ผู้ให้บริการจ่ายเงินออนไลน์ของจีนในเครือ Alibaba และ TrueMoney ซึ่งอยู่ภายใต้ Ascend Group มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์

ความร่วมมือครั้งนี้ Wongnai เป็นหัวเรือใหญ่ในการดึงทุกฝ่ายมาไดรฟ์ธุรกิจให้เติบใหญ่ โดยปีที่ผ่านมา Wongnai มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จำนวนผู้ใช้และสมาชิกก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และปัจจุบัน Wongnai มีสมาชิกลงทะเบียนแล้วกว่า 2,500,000 ราย และมีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 200,000 ร้านในไทย

คิดแบบ ‘ยอด’ ดัน Wongnai ให้เป็น Lifestyle Platform เต็มรูปแบบ

ยอด ชินสุภัค กรรมการผู้จัดการการและผู้ก่อตั้งบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือ วงใน บอกว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ Wongnai เปิดตัว 3 พันธมิตรใหม่ ซึ่งสรุปได้ 3 ความตั้งใจ คือ ตั้งใจให้คนไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการ Wongnai มากขึ้น ตั้งใจให้มีร้านค้าเปิดรับการชำระเงินผ่าน E-payment มากขึ้น และตั้งเป้าขึ้นแท่นเป็น Lifestyle Platform เต็มรูปแบบ

  • พันธมิตรที่หนึ่ง LINE ประเทศไทย ในการนำเสนอ Wongnai LINEMAN Delivery บริการสั่งอาหารเดลิเวอรีให้แก่คนเมืองที่ไม่สะดวกเดินทาง โดยสามารถสั่งอาหารได้อย่างรวดเร็วผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับ  Wongnai ว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้สั่งอาหารผ่าน LINEMAN มากกว่า 400,000 คนต่อเดือน มีร้านอาหารให้เลือกจาก Wongnai มากกว่า 20,000 ร้าน ทำให้ LINEMAN ก้าวขึ้นเป็นผู้นำบริการเดลิเวอรีอันดับ 1 ล่าสุด Wongnai ยังได้เป็นหนึ่งใน LINE Chat Bot ภายใต้ชื่อ Wongnai’s Official Account เปิดประสบการณ์การค้นหาร้านอาหารบน LINE และยังร่วมเป็นหนึ่งใน LINE TV โดยการนำวิดีโอ คอนเทนต์ของ Wongnai Beauty มาร่วมในการผลิตคอนเทนต์ให้แก่ลูกค้าชาวไทยได้ชม - สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าไลน์อยู่กับไลน์มากขึ้น

  • พันธมิตรที่สอง Alipay และ สาม TrueMoney โดยมุ่งให้บริการ E-payment ผ่านแอปพลิเคชัน Wongnai เพื่อความสะดวกในการชำระเงินของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มากินอาหารในร้านทั่วไทย โดยชำระเงินผ่าน Alipay Wallet ซึ่งการชำระเงินแบบนี้ เงินที่ไหลเข้าประเทศไทยจึงมาจากกระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์ที่มีต้นทางเป็นสกุลเงิน ‘หยวน’ 

เนื่องจากประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาปีละประมาณ 10 ล้านคน โอกาสการจับมือทำธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้จึงเป็นช่องทางเพิ่มฐาน Users และเม็ดเงินจากชาวจีนมาสู่ Wongnai กับทุกพาร์ทเนอร์ได้ และแน่นอน ร้านอาหารในไทยก็จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว

Alipay กับความคาดหวังในไทย

นอกจากร้านอาหาร ก็คงรู้กันแล้วว่าการ Wongnai ยังผนวก Wongnai Beauty เข้ามาในแอปพลิเคชัน ซึ่ง ยอด ชินสุภัคกุล บอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจและการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังคนจีนว่า

หน้าที่ของ Wongnai ก็คือ ทำยังไงให้ Acquire ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านสปา มาอยู่ในระบบของ Alipay ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน เราก็ทำเรื่องข้อมูลด้วย โดยเราอัปโหลดข้อมูลบางส่วนเป็นภาษาจีนเข้าไปในระบบของ Alipay แล้ว เพื่อคอนเน็กต์คนจีนกับร้านอาหารไทยที่มันดี

พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ANT Financial Service Group ผู้ให้บริการ Alipay กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของชาวจีน  บอกสิ่งที่คาดหวังจากความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“อย่างแรกคือ เน็ตเวิร์กที่ Wongnai มีอยู่ เราก็หวังอยากให้ทุกร้านรับ Alipay ได้ แล้วก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคอนเทนต์หรือพวกรีวิวต่างๆ ที่ Wongnai มีอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้เขาตั้งทีมจีนมาช่วยแปลคอนเทนต์พวกนี้เป็นภาษาจีน ซึ่งทำให้ผู้ใช้ Alipay ของเราเข้าใจตรงนั้นด้วย มันมีประโยชน์มาก และการที่เราทำเพย์เมนต์ที่หลากหลาย เช่น ในเมืองไทย เราก็คอนเน็กต์กับทาง 7-11 ไว้ นักท่องเที่ยวจีนมาซื้อน้ำซื้อขนมที่ร้านสะดวกซื้อเยอะเหมือนกัน ที่ King Power ก็ซื้อเยอะ แต่ถ้านับจำนวน Transaction ร้านสะดวกซื้อก็กินขาดเพราะคนจีนซื้อเรื่อยๆ”

ด้านผู้ใช้ที่เป็น Active Users ของ Alipay มี 450 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเป็นล้านๆ คนที่ชอบท่องเที่ยวและมีโอกาสมาเที่ยวประเทศไทย และในฐานะนักท่องเที่ยวย่อมต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการชิม ชม ช็อปในต่างแดน Wongnai จึงเข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวชาวจีนในยุคดิจิทัลได้ไม่ยาก

alipay-pipawin

พิภาวิน ผู้บริหารที่เข้ามาทำงานกับ ANT Financial Service Group ตั้งแต่ปลายปี 2016 เปิดเผยว่า ประสบการณ์การทำงานผลิตภัณฑ์แรกคือ Alipay Wallet สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศจีน ส่วนการทำงานร่วมกับ TrueMoney ดูแลในด้านการพัฒนาระบบและกระบวนการต่างๆ เพื่อทำให้ TrueMoney Wallet เป็นเหมือน Alipay Wallet สำหรับคนไทย รวมทั้งยังทำงานร่วมกับ Lazada เนื่องจากเป็นอีคอมเมิร์ซในเครือ Alibaba ด้วย

เราเป็นแพลตฟอร์ม เรามีพาร์ทเนอร์ตลอดเวลาเพราะเราเชื่อในแพลตฟอร์มและ Eco-system โดยจะร่วมงานกับผู้มีความชำนาญเพื่อเพิ่มเน็ตเวิร์กของเรา อย่างเช่น Wongnai ซึ่งคุยกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต้นปีก็มาทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มเรื่องคอนเทนต์และ Acquirer ให้เรา และเราก็ยังทำอยู่ ในลักษณะ Acquirer การแนะนำร้านค้าในไทยให้รับ Alipay ตอนนี้ก็มี 9 รายแล้ว และก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Alipay เปิดให้บริการแล้วกับ 22 Currencies คนจีนจึงนิยมใช้ Mobile Wallet ในการชำระเงินมากขึ้น และยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศ ต่างประเทศ เปิดรับการชำระเงินผ่าน E-wallet คนจีนก็พกเงินสดน้อยลง เช่น การที่คนจีนชอบเที่ยว ซีหม่าไท่ (การเดินทางท่องเที่ยว 3 ประเทศในทริปเดียว ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย) ซึ่งค่าเงินมีความแตกต่าง นักท่องเที่ยวชาวจีนก็จะยุ่งยากในการแลกเงินของแต่ละประเทศเพื่อใช้จ่าย แต่ถ้าร้านค้าไม่ว่าในประเทศใดแสดงสัญลักษณ์ว่ารับ Alipay ก็จะเรียกการจับจ่ายใช้สอยจากคนจีนได้เพิ่มขึ้น

TrueMoney ดีลที่อยู่ระหว่าง Alipay กับ Wongnai

truemoney-sararnrat

สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวเสริมด้านการท่องเที่ยวของคนจีนกับการใช้ Alipay ว่า ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 8.8 ล้านคน นิยมซื้อของที่ King Power, Naraya และอยู่ในเมืองไทยอย่างต่ำ 3 วัน หากนับเรื่องมื้ออาหารก็รวม 9 มื้อ ซึ่งถ้าร้านอาหารเปิดรับการชำระเงินผ่าน Alipay กันมาก อาจจะมีปริมาณ Transaction มากกว่าการซื้อของเสียอีก

ในขณะที่ TrueMoney โฟกัสเรื่อง E-payment ส่วน Alipay โฟกัสที่ E-wallet ในเมืองจีน ร่วมกับการทำตลาดในต่างประเทศ สราญรัตน์อธิบายถึงลักษณะพาร์ทเนอร์ที่ร่วมทำกับ Wongnai ว่า

“Alipay ไม่มีไลเซนส์ในเมืองไทยให้ร้านค้ารับ Alipay ได้โดยตรง เพราะฉะนั้นเขาก็เลยให้เราในฐานะพาร์ทเนอร์ไปต่อกับ Wongnai อีกที ซึ่งเรามีความพร้อมในด้าน E-payment Solution โดย Wongnai มา Acquire หาร้านค้าให้กระเป๋า Alipay เราจึงเป็นแพลตฟอร์มเชื่อม Wongnai กับ Alipay เข้าด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายในการหาร้านค้าก็ตั้งไว้ว่าอย่างต่ำมี 5,000 ร้านภายในปีนี้ แต่คิดว่า Wongnai มีศักยภาพมากกว่านั้น  และถ้ามีคนใช้ Wongnai เยอะ เราก็ต้องเตรียมบุคลากรหลังบ้านเราให้เยอะขึ้นด้วย เพื่อสกรีนร้านค้าเหมือน KYB (Know Your Business) คือเขาทำอะไร ถูกกฎหมายหรือเปล่า เพื่อจะรับเป็นร้านค้าได้”

Wongnai แอดส่ิงใหม่ เอาใจคนรัก (การทำ) อาหาร

ย้อนกลับไปดูที่ Wongnai ในส่วนที่เป็นธุรกิจของตัวเอง ยอด  ออกมาแนะนำบริการใหม่ Wongnai Cooking ช่องทางใหม่ที่ตอบโจทย์คนรักการทำอาหารในแอปพลิเคชัน Wongnai โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาค้นหาสูตรอาหารและดูส่วนผสมได้หลายวิธี เช่น หาจากประเภทอาหาร เมนูอาหารเช้า, เมนูอาหารญี่ปุ่น, เมนูอาหารจีน  หาจากวัตถุดิบที่มีในบ้าน อาทิ เมนูหมู เมนูขนมปัง หรือจะหาจากวิธีทำ เช่น เมนูอบ เมนูไมโครเวฟ ก็ทำได้ และยังมีวิดีโอสอนทำอาหารให้ดูอีกด้วย

นอกจากนี้ในอนาคตก็จะทำให้เป็น community  สมาชิกสามารถส่งสูตรอาหารเข้ามาใน Wongnai มีการให้คะแนนและรีวิวสูตรอาหารต่อไป เพื่อให้ Wongnai Connect กับ Users หรือผู้สนใจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

wongnai-recipes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

10 Tech Event ในเอเชีย ที่สายเทคฯ ธุรกิจ ไม่ควรพลาด ปี 2024

เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรจึงต้องหมั่นอัปเดตเทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้ Techsauce คัดสรร 10 งานประชุมเทคโนโลยีระดับเอเชีย ที่สายเทคไม่ควรพลาดในปี 2024 รวมไว้ในบทความเดียวก...

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

เปิดตัว Meta AI ใหม่ ถามได้ทุกเรื่อง สร้างภาพได้ทุกอย่าง ใช้ได้ทุกแอปฯ​ โซเชียลของ Meta

สำหรับ Meta AI เป็นแชทบอทที่เคยเปิดตัวให้เห็นครั้งแรกในงาน Connect 2023 ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง Llama 2 แต่ล่าสุดได้มีการอัปเกรดไปใช้โมเดลภาษาใหม่ Llama 3...