กรณีศึกษา วิกฤต Zilingo เกิดปัญหาอะไร ทำไม CEO จึงถูกพักงาน | Techsauce

กรณีศึกษา วิกฤต Zilingo เกิดปัญหาอะไร ทำไม CEO จึงถูกพักงาน

จากกรณีก่อนหน้าที่ Zilingo เป็นจุดสนใจในแวดวง startup สิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อบอร์ดตั้งชุดสืบสวนและลงมติให้ CEO ของบริษัทพักงานถึงวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นแห่งภูมิภาคซึ่งมีมูลค่าเกือบพันล้านดอลลาร์นั้นเกิดปัญหาอะไรขึ้น เรื่องนี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องการดำเนินงานของ startup เป็นอย่างมากว่า เกิดข้อผิดพลาดในเรื่องใดของบริษัท เพื่อเป็นการถอดบทเรียนไปพร้อมกัน

กรณีศึกษา วิกฤต Zilingo เกิดปัญหาอะไร ทำไม CEO จึงถูกพักงาน

จุดเริ่มของ Zilingo ดาวเด่น B2B ด้านแฟชั่น

Zilingo เป็น startup ด้านแฟชั่นอีคอมเมิร์ซจากสิงคโปร์ ก่อตั้งโดย Ankiti Bose ซึ่งเป็น CEO บุคคลในข่าวและ Dhruv Kapoor ซึ่งปัจจุบันเป็น CTO ของ Zilingo โดย Ankiti เดิมนั้นได้แรงบันดาลใจจากการมาเที่ยวประเทศไทยและประทับใจในตลาดจตุจักร ซึ่งเป็นตลาดนัดกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก Ankiti จึงสนใจในโมเดลที่ผู้ขายมาพบกับผู้ซื้อโดยตรง และต้องการประยุกต์นำโมเดลนี้ไปสู่โลก Online marketplace 

ครั้นเมื่อได้พูดคุยกับผู้ขายเสื้อผ้ารายย่อย Ankiti พบว่าหลายคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนได้ ทั้งๆ ที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย บังคลาเทศ จนจรดเวียดนามนั้นเป็นแหล่งแรงงานป้อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้า fast fashion และแบรนด์เนมชั้นนำของโลก Ankiti จึงตัดสินใจลาออกจากงานวิเคราะห์การลงทุนที่ทำอยู่ที่ Sequoia เพื่อมาก่อตั้ง startup อย่างเต็มตัวและได้ปรึกษากับ Dhruv เพื่อพัฒนา marketplace และใช้เทคโนโลยีช่วยให้ผู้ค้าสามารถเข้าถึงโรงงานต่างๆ ได้ และทำให้กระบวนการขนส่งข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น 

จากนั้นจึงได้เปิดระดมทุนครั้งแรกในปี  2015 และภายในเวลาไม่ถึง 5 ปีก็กลายเป็นยูนิคอร์นในปี 2019 โดยได้รับเงินทุนหลักจาก Sequoia, Burda และ Temasek นับแต่นั้นมา Zilingo จึงเปลี่ยนจากการเป็นเพียง Online Marketplace มาสู่จุดนับพบด้านแฟชั่นสำหรับ B2B เป็นตัวแก้ปัญหาในด้าน supply chain ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในระดับภูมิภาค
 
เมื่อดูคร่าวๆ นั้นเห็นได้ว่าบริษัทกำลังไปในทิศทางที่สวยงาม มีอนาคตที่ดี แต่เรื่องราวเริ่มเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นข่าวอย่างที่เห็นได้อย่างไร 

จุดเปลี่ยน การระดมทุนที่น่าสงสัย หรือการถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม

ชนวนเหตุการณ์ในครั้งนี้มาจากเมื่อต้นปี 2022 นั้น Ankiti ได้พยายามระดมทุนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในคราวนี้กลับไม่ได้รับความไว้วางใจจาก VC ผู้ให้ทุน เพราะคณะกรรมการตั้งข้อสงสัยในการใช้เงินของบริษัทไปกับกิจกรรมที่ดูไม่สมเหตุสมผลหลายครั้ง และนี้คือรายละเอียดที่ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ประเด็นความน่าสงสัยของบริษัทในครั้งนี้

มีรายงานการคิด Valuation ที่คลาดเคลื่อนเกินจริง

โดยวัดจาก GMV (Gross Merchandise Value) ในช่วงปีงบประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา (2019-2021) บริษัทมีรายได้สุทธิทั้งหมดอยู่ที่ 285 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การขาดทุนสะสมของบริษัทมีมากกว่า 430 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทกลับอ้างว่าในปีงบประมาณ 2021 บริษัทมีผลดำเนินงานเป็นบวกอยู่ 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ มีการสืบทราบว่า “อาจ” มีการสร้าง Vendor ปลอมของบริษัทเพื่อทำให้ยอดตัวเลขรายได้ที่สร้างขึ้นนั้นสมจริงมากขึ้น และทาง Zilingo ยังไม่ได้ยื่นงบการเงินในสิงคโปร์ให้ทาง KPMG ทำ audit ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2019 แล้ว

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารายได้ที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้ เกิดจากความตั้งใจหรือเกิดจากการขัดข้องในเรื่องใด

การขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม 

การดำเนินการต่างๆ ขาดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้งานได้สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วม โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ กระบวนการขายยังเป็นแบบ manual เช่นเดียวกับธุรกิจแบบเก่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำกล่าวอ้างของ Zilingo ที่จะเชื่อมโยง supply chain ในภูมิภาคด้วยเทคโนโลยี โดยถึงแม้ว่า Zilingo จะระดมทุนได้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงธันวาคม 2019 แล้วในรอบนั้น แต่การดำเนินงานส่วนใหญ่ในไทย อินโดนีเซีย และอินเดียนั้น หลักๆ ยังคงเป็นการจัดการผ่าน Spreadsheet ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์ม SaaS เข้ามาช่วย

ความไม่แน่นอนระหว่างการเป็น B2C กับ B2B ในช่วงแรก

ในช่วงปี 2016 บริษัทพยายามประคองตัวเองทั้งฝั่ง B2B และ B2C ซึ่งถึงแม้จะรู้ดีว่าธุรกิจ B2C จะเป็นภาระด้านกระแสเงินสดของบริษัทในการทำการตลาด แต่ Ankiti ก็ไม่ได้หยุดดำเนินการธุรกิจในด้านนี้ แต่กลับมีแผนรองรับเพียงเล็กน้อย

และอีกครั้งเมื่อตอนดำเนินงานแบบ B2C ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งนั้น Zilingo ได้ลงนามในสัญญามูลค่า 20 ล้านเหรียญเพื่อจัดตั้งแพลตฟอร์มขนาดเล็ก และใช้เงินรวม 100 ล้านเหรียญเพื่อจัดการ Supply Chain ไปพร้อมกัน มีการจ้างเอเจนซี่เป็นตัวจัดการแบรนด์ในสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คณะกรรมการจึงเห็นว่า Ankiti ใช้ทุนมากเกินไปในด้านการตลาด การใช้จ่ายในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นการผลาญเงินโดยไม่จำเป็นมากกว่า 

การดำเนินงานที่ไม่มีทิศทาง

ในระดับพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ทีมการขายและจัดซื้อไม่ได้รับทิศทางหรือเป้าหมายใดๆ ทั้งยังขาดกลยุทธ์ในการทำตลาด อย่างเช่นที่ในปี 2019 ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยพร้อมสิงคโปร์ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงนโยบายในการตรวจสอบคุณภาพแต่ละร้านค้า และขาดการวางแผนที่สอดคล้องกันทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ดูตัวอย่างธุรกิจที่ล้มเหลวเพราะจัดการด้าน operation ได้ไม่ดี 

การ overpromise และทำในจุดที่บริษัทไม่ถนัด

ในช่วงแรกที่ COVID ระบาด ในปี 2020 มีการลงความร่วมมือเพื่อจัดหา supply ด้านชุด PPE และหน้ากากอนามัยให้รัฐบาลของเยอรมนีและอินเดีย ในครั้งนั้นมีผู้รายงานว่า Dhruv คัดค้านการตัดสินใจนี้ เนื่องจากไม่ใช่จุดแข็งของ Zilingo แต่แรก แม้ว่า Ankiti ได้ยืนยันกับ Dhruv แล้วว่า Zilingo จะไม่เข้าสู่ธุรกิจ PPE แต่ในท้ายที่สุด Ankiti กลับไปลงนามในสัญญาส่งมอบชุด PPE และหน้ากากให้กับรัฐบาลของประเทศข้างต้น ซึ่งต่อมาผู้ผลิตบางรายที่ Zilingo จัดหานั้น ผลิตหน้ากากได้ต่ำกว่าคุณภาพ และบางผู้ผลิตยังไม่ได้ส่งมอบหน้ากากเลย ทำให้เกิดความล่าช้า ขณะเดียวกันทาง Zilingo ได้อ้างว่าทางรัฐบาลอินเดียไม่สามารถชำระเงินขั้นต่ำที่กำหนดได้ สุดท้ายกลายเป็นคดีที่ยังต้องรอกำหนดไต่สวนในศาลที่อินเดียด้วย

ความไม่ลงรอยกันระหว่างสองผู้ก่อตั้ง 

ฟางเส้นสุดท้ายของเหตุการณ์นี้ คือการมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น แต่ไม่ได้สร้างความเข้าใจร่วมกัน นอกจากเหตุการณ์การลง MOU เรื่องหน้ากากกับรัฐบาลในข้างต้นแล้ว ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อ Zilingo ได้เข้าซื้อกิจการของ nCinga ซึ่งเป็น startup ด้านเทคฯ จากศรีลังกา ด้วยมูลค่า 15.5 ล้านเหรียญแลกกับการเข้าถือหุ้น ซึ่งในตอนแรกเจรจามูลค่ากันไว้ที่ประมาณ 5-7 ล้านเหรียญเท่านั้น 

การเข้าซื้อกิจการนี้สวนทางกับความคิดเห็นของ Dhruv ที่เชื่อว่า Zilingo ควรใช้โซลูชันบางอย่างจาก nCinga ก็เพียงพอแล้ว แทนที่จะซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัทไว้เอง แต่ในที่สุด Zilingo ก็ต้องจ่ายเงินมากกว่า 2 เท่า เพื่อซื้อบริษัท และมีแหล่งข่าวรายงานกับทาง inc42 ว่าในเจ็ดเดือนให้หลัง Ankiti รู้สึกผิดหวังต่อการเข้าซื้อบริษัทในครั้งนี้

สุดท้ายนี้ พอบริษัทกำลังมีแผนจะยื่นระดมเงินรอบใหม่ คณะกรรมการผู้ให้ทุนจึงไม่ไว้วางใจ CEO และได้จ้างหน่วยงานภายนอก คือบริษัท Kroll เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดเรื่องความผิดปกติทางบัญชี

ภาพ สัดส่วนผู้ถือหุ้นใน Zilingo Cr.inc42.comภาพ สัดส่วนผู้ถือหุ้นใน Zilingo Cr.inc42.com

เสียงอีกด้านจากทางฝั่ง CEO ผู้ถูกกล่าวหา

ในส่วนของ CEO Ankiti Bose ได้ปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม Bose ได้กดดันให้คณะกรรมการชี้แจงสถานะของเธอโดยเร็ว เนื่องจากกังวลว่าบริษัทจะเติบโตอย่างไร้ทิศทาง และยินดีร่วมมือในการสืบสวนอย่างเต็มที่ ซึ่งในฐานะสมาชิกคณะกรรมการเช่นกัน เธอยืนยันว่าเธอได้ตัดสินใจและทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบริษัท เพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าทุกคน พนักงานหลายร้อยคน และผู้ถือหุ้นมาโดยตลอด

ความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ

ผู้เชี่ยวชาญบางแหล่งข่าวบอกว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทาง Ankiti ด้วย อย่างเช่นในช่วงที่ขยายการดำเนินงานไปที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ต้องระงับไปก่อน เป็นเพราะในช่วงนั้นสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงทำให้เป็นปัญหา และต้องกลับมาโฟกัสที่รายได้ในเอเชียเป็นหลักก่อน

และอีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องการใช้เงินบริษัทไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว Ankiti ได้ปฏิเสธเกี่ยวกับการเบิกเงินบริษัทเพื่อให้ครอบครัวใช้โดยสารเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสและนำไปใช้เพื่อตัวเอง พร้อมทั้งยืนยันว่าในฐานะ CEO บางครั้งเธอเองกลับต้องใช้เงินตัวเองเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วยซ้ำ

การล่าแม่มด 

ทั้งนี้ Ankiti ได้กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ อาจเป็นการวางแผนเพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจในองค์กร โดยมีการใช้อำนาจแฝง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นแผนการที่ถูกปลุกปลั่น เปรียบเสมือนเป็นการล่าแม่มด โดยที่ตนนั้นบริสุทธิ์

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานบุคคลที่ถูกเสนอชื่อทั้งบุคคลจาก VC ที่ร่วมทุนหลายคน รวมทั้งบุคคลที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งในบริษัทอย่าง Ramesh Bafna อดีตคนของ Myntra โดย Bafna เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็น CFO ให้ Zilingo เมื่อเดือนมีนาคม 2022 แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ CEO คนใหม่อาจทำได้ไม่ง่ายนักหาก Ankiti ยังคงถือหุ้น 8.58% และมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในบริษัทอยู่ นอกจากนี้ Ankiti จะยังคงดำเนินการทางกฎหมายทุกทาง

ข้อกังขาเรื่อง sexual harassment

ขณะเดียวกัน นอกจาก Ankiti จะแจ้งความกลับเรื่องการถูกกลั่นแกล้งทางโครงสร้างองค์กรแล้ว Ankiti ยังกล่าวถึงรายละเอียดว่า ได้ยื่นเรื่องให้ทำการสืบสวนในเรื่อง sexual harassment เพราะมีการได้รับร้องเรียนการละเมิดสิทธิทางเพศในองค์กร โดยมีการจ้างบริษัท Deloitte มาตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางฝั่งของ Dhruv ได้กล่าวถึงข้อร้องเรียนเรื่องนี้ของ Ankiti ในเชิงปฎิเสธ โดยกล่าวว่า "เรามีวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนต่อการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การกลั่นแกล้ง หรือการข่มขู่ และเรายังส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเป็นผู้หญิงหลายตำแหน่งด้วยซ้ำ" 

ข้อสรุปยังเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันของการพักงาน Ankiti Bose ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการผลาญเงินขององค์กรหรือการตบแต่ง GMV เป็นหลัก แต่ได้มีการระบุในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจงใจประพฤติผิดและการฉ้อโกงที่เข้าข่ายลักษณะผู้กระทำความผิด ซึ่งยังไม่เปิดเผยรายละเอียดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นทาง Ankiti Bose, Dhruv Kapoor ทาง Sequoia Capital India ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพิ่มเติม

ไม่ว่าประเด็นที่ Ankiti ถูกกล่าวหานั้นจะเป็นจริงหรือไม่ สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้ คือ การเตรียมความพร้อมให้องค์กรเติบโดจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกัน มีการจัดการที่เหมาะสม และการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตามจริยธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็น บทสรุปสำหรับเรื่องนี้ ยังมีบางประเด็นที่ต้องรอคอยการอัปเดต โดยแหล่งข่าวคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีความเคลื่อนไหวที่กระจ่างมากขึ้น หากมีประเด็นใดเพิ่มเติม ทาง Techsauce จะนำมารายงานให้ทุกคนได้ทราบต่อไป

อ้างอิงจาก 
Zilingo’s House Of Cards Falls: How Founders Burnt Millions And The Company To The Ground
Zilingo’s board suspends another top executive
What Next For Zilingo? Questions Linger Around Vacant CEO Post

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...

Responsive image

ttb เปิดตัว 7 ผู้บริหารรุ่นใหม่นำทัพ ทรานส์ฟอร์มองค์กรรอบด้าน เร่งยกระดับประสบการณ์ด้านการเงินแบบไร้รอยต่อ

ทีทีบี (ttb) ปรับโครงสร้างองค์กรรอบด้าน ส่งคนรุ่นใหม่ 7 ผู้บริหารระดับสูง นำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์ มุ่งเจาะกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน มนุษย์เงินเดือน และลูกค้า Wealth...