วันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 62 กสทช. ให้ปรับราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จาก 300 ล้านบาทเป็น 423 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติกรอบการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 5G
คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 พ.ย. 2562) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 24.25-27 กิกะเฮิรตซ์ และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยให้รับข้อสังเกตของ กสทช. ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ด้วยพร้อมทั้งให้ความเห็นชอบกรอบเวลาดำเนินการและงบประมาณในการจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz
โดยสำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูล 5G กสทช. กำหนดจัดการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านคลื่นความถี่ ในปี 2563 เพื่อเปิดให้บริการ 5G โดยคลื่นที่จะนำมาประมูลได้แก่คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ดังนี้
คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 2x15 MHz นำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 2,637.60 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 440 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุดในการประมูลผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้ตามที่ต้องการ สำหรับการชำระเงินค่าประมูลแบ่งการชำระออกเป็น 10 งวด งวดละ 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล
คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2x35 MHz นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 4,994.40 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูลแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% และงวดที่ 3 ชำระอีก 25% โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขให้ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี และ 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
คลื่นความถี่ย่าน 2,600 MHz จำนวน 190 MHz นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูล ปีแรก ชำระงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล ปีที่ 2-4 ยกเว้นยังไม่ต้องชำระค่าการประมูล ปีที่ 5-10 (งวดที่ 2-7) ชำระ ปีละ 15% โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขให้ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และ 50% ของพื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละจังหวัด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต) ภายใน 4 ปี
คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 2700 MHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการมูลเป็นจำนวนเงิน 507.6 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 12 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูลชำระงวดเดียว
การประมูล 5G ในครั้งนี้ จะใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ขั้นตอนการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage) และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage)
สำหรับกรอบเวลาดำเนินการในการจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz หลังจากนี้จะนำร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 2562 และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 27 ธ.ค. 2562 จากนั้นวันที่ 2 ม.ค.–3 ก.พ. 2563 จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล และกำหนดให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 (เป็นการประมูลแบบ Multiband Auction) จากนั้นจะจัดให้มีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ออกใบอนุญาตได้ในเดือน มี.ค. 2563 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค. 2563 ในบางพื้นที่ อาทิ พื้นที่ EEC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด