กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมมือ Huawei นำ 5G รวมกับ AI ตรวจ COVID-19 มอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราช | Techsauce

กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมมือ Huawei นำ 5G รวมกับ AI ตรวจ COVID-19 มอบให้แก่โรงพยาบาลศิริราช

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI ผสานพลังเทคโนโลยีเครือข่าย 5G เพื่อใช้รายงานผลตรวจโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำ ผ่านเครือข่ายความเร็วสูง เสริมพลังแพทย์ไทยในการรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีศักยภาพด้วยเทคโนโลยีระดับโลก  

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่นิ่งนอนใจไม่ได้ ภาครัฐและกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้ ทั้ง 5G, AI, Big Data และบริการ Cloud โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 5G ที่จะพลิกโฉมการให้บริการด้านสาธารณสุขให้มีความรวดเร็ว ความแม่นยำ และชาญฉลาด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างคล่องตัว สามารถติดตามผู้ป่วยจากระยะไกล ลดการใช้ทรัพยากร อีกทั้งช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เป็นแบบอย่างสำคัญในการนำเอาเทคโนโลยีอันล้ำสมัย มาใช้เพื่อบริหารจัดการและตอบสนองความต้องการในภารกิจเร่งด่วนของประเทศในการดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงเวลาสำคัญครั้งนี้ได้”

ด้านศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การตรวจผู้ป่วยที่เป็นหรือสงสัยว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) นับเป็นวิธีหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยและติดตามการรักษาในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจซ้ำและเปรียบเทียบอ่านผลภาพการตรวจหลายครั้ง เทคโนโลยี AI จะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยให้แพทย์สามารถนำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส จึงลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญ ความเร็วในการส่งข้อมูลของเครือข่าย 5G จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ระบบทางการแพทย์ต่างๆ ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว ช่วยให้ติดตามอาการและเก็บข้อมูลคนไข้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย”

คุณอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) กล่าวว่า “ขณะนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมหลายรายต่างช่วยกันติดตั้งเครือข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลในเครือข่ายโรงพยาบาลและบริการด้านการแพทย์โดยเฉพาะ หัวเว่ย ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีและเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย จึงต้องการเสริมศักยภาพให้แก่แพทย์ไทย โดยโซลูชันผู้ช่วย AI จาก HUAWEI CLOUD และเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคการปฏิบัติการ และการติดต่อประสานงานในโรงพยาบาลศิริราช อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงในภาคสาธารณสุขของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพงานบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี Cloud ขึ้นไปอีกขั้น”

สำหรับโซลูชันผู้ช่วย AI บนเทคโนโลยีของ HUAWEI CLOUD ดังกล่าว เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างหัวเว่ยและเอชวายเมดิคัล (HY Medical) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศจีนที่เชี่ยวชาญด้านการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์โดยปัญญาประดิษฐ์ โดยผสานคอมพิวเตอร์วิทัศน์เข้ากับการเรียนรู้เชิงลึก เทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เพื่อแยกแยะระหว่างจุดขาวพร่าในปอด (ground glass opacities - GGOs) จำนวนมาก กับการรวมตัวกันของเนื้อปอด (consolidation) แล้ววิเคราะห์ผลเชิงปริมาณจากผลการตรวจ CT ปอดผู้ป่วย สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ช่วยให้แพทย์ระบุได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือระยะรุนแรง โดยโรงพยาบาลในประเทศจีนกว่า 20 แห่ง หลังจากใช้ตรวจภาพเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้กว่า 20,000 ภาพ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 4,000 ราย ทำให้ระบบมีอัตราความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 96% และได้รับคะแนน DICE score ซึ่งเป็นค่าดัชนีสำหรับใช้วัดความแม่นยำของการประเมินผลรูปภาพทางการแพทย์สูงกว่า 85 คะแนน

ทั้งนี้ เครือข่าย 5G จะมีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลจากการรับประกันคุณภาพความเร็วเครือข่าย ความเสถียรของเครือข่าย และช่วยให้ระบบบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ มีค่าความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำที่สุด ด้วยประสิทธิภาพในการอัพโหลดข้อมูลที่ดีขึ้นกว่าการส่งผ่านสัญญาณไวไฟ 3-4 เท่า ส่งผลให้งานด้านการดูแลผู้ป่วย การเก็บข้อมูลวิเคราะห์ และการสั่งงานจากระยะไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังเป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินบนเทคโนโลยี Cloud ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังของข้อมูลในประเทศไทย

ทางบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ได้ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI สำหรับใช้วินิจฉัยโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงได้ส่งมอบระบบนวัตกรรมสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ Huawei Telemedicine Video Conference Solution ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เพื่อช่วยให้การดำเนินงานของบุคลากรแพทย์ในไทยสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์มือถือ และที่สำคัญคือยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้แก่ทีมแพทย์ไทยอีกด้วย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ติดท็อป 5 ‘Best Taiwan Global Brands’ 7 ปีซ้อน ขับเคลื่อน Edge AI ด้วยมูลค่า 2.8 หมื่นล้าน

แอดวานซ์เทค (Advantech Co., Ltd.) ผู้นำด้านอุตสาหกรรม IoT ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกของ "2024 Best Taiwan Global Brands" ด้วยมูลค่าแบรนด์ 851 ล้านดอลลาร์...

Responsive image

PLEX MES ก้าวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วย Smart Manufacturing Solutions

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการแนะนำ PLEX MES โซลูชันที่เปรียบเสมือน "สมองดิจิทัล" สำหรับโรงงานยุคใหม่ ระบบนี้ถูกออกแบบ...

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...