5G ถือเป็นเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญที่กำลัง “มาแรง” ในประเทศไทยขณะนี้ เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ทั้งหลายต่างก็ประมูลทั้งคลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz สำหรับเครือข่าย 5G ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้เริ่มให้บริการแก่ผู้ใช้งานในไทย ที่สำคัญคือเราได้เห็นการใช้งาน 5G ร่วมกับโซลูชันไอซีทีอื่นๆ จากภาคสาธารณสุขของไทยที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 นี้ด้วย Telemedicine และ AI
โจทย์ต่อไปคือ เทรนด์ของการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเริ่มฟื้นตัวจากโควิด หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้เทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้คือ “5G อีโคซิสเต็ม” ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เดินต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนประกอบสำคัญของ 5G อีโคซิสเต็มคือ การผสมผสานระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานและภาครัฐ ดังนี้
1. โอเปอเรเตอร์ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายเป็นผู้ติดตั้งเครือข่าย 5G ให้สามารถใช้งานได้ในประเทศไทย ถือเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานให้แก่เครือข่ายยุคใหม่และเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการขยายเครือข่าย 5G ให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
2. โซลูชัน โพรไวเดอร์ คือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์และผู้ให้บริการโซลูชันที่รวมถึงหัวเว่ย ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายในไทย โดยก่อนหน้านี้เวนเดอร์อาจให้บริการเพียงช่วยวางเครือข่าย แต่ในยุคดิจิทัลนี้ต้องคำนึงถึงการทำโซลูชันเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในแต่ละภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และสามารถเพิ่มความ “อัจฉริยะ” ให้กับทุกภาคอุตสาหกรรมของไทย
3. อุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industry) คือภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงาน (ระดับมหภาค) หรือ SME รายย่อยต่างๆ (ระดับจุลภาค) ซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริงและเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การสร้างเกษตรกรรมอัจฉริยะให้เป็นจริงได้ในประเทศไทย จะต้องดึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นส่วนประกอบของภาคเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ให้เข้ามาร่วมในอีโคซิสเต็มของ 5G ด้วย เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะนำนวัตกรรมใหม่นี้ไปใช้งานจริง
4. พาร์ทเนอร์รายย่อยในประเทศ ถึงแม้เวนเดอร์ระดับโลกอย่างหัวเว่ยจะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและโซลูชันโทรคมนาคม แต่ก็ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ในไทยที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นกัน อาทิ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ โรงงาน เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยดึงศักยภาพด้านดิจิทัลหรือ 5G มาควบรวมเข้าไปในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ แล้วสร้างให้เกิดโซลูชันที่มีประโยชน์สูงสุด ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเห็นตัวอย่างการใช้งาน 5G มากมายที่เกิดจากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในภาคสาธารณสุข ซึ่งถือว่าประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีมากสำหรับประเทศที่เพิ่งมีเทคโนโลยี 5G เพียง 6 เดือนเท่านั้น
5. ภาครัฐและสมาคมในภาคอุตสาหกรรม นับว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎระเบียบ รวมถึงให้การสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างขวางในภาคธุรกิจของประเทศ
สิ่งสำคัญของ 5G อีโคซิสเต็มคือ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความพยายามร่วมกันในการผลักดันจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างความได้เปรียบให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ในโลกยุคหลังโควิด-19 ซึ่งการที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เป็นอันดับแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ในขณะนี้ หากเราสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ก็จะยกระดับประเทศไทยให้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดทางสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด