ตามที่ AIS และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดนี้ รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ AIS ตรวจความเรียบร้อย การติดตั้งเครือข่าย 5G ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเปิดตัว “5G Garage Innovation LAB ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง AIS และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา รวมถึงนักพัฒนา ใน 5G Ecosystem ได้เข้ามาใช้ 5G Garage Innovation LAB เป็นพื้นที่ทดลอง ทดสอบ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม 5G ในการพัฒนาประเทศ
ภายใน 5G Garage Innovation LAB จะประกอบไปด้วยข้อมูลเทคโนโลยีเกี่ยวกับ 5G ที่จะเป็นองค์ความรู้พื้นฐานแบบครบวงจร ตั้งแต่รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, อุปกรณ์โครงข่าย, อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ ตลอดจนตัวอย่างรูปแบบการใช้งาน หรือ Use case ที่มาจากความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์ระดับโลก พร้อมทั้งการ work shop เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค รวมไปถึงร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง โดยคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก AIS และ partner ในแวดวงโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ
5G Garage Innovation LAB ตั้งอยู่ที่อาคารวิศวฯ 1๐๐ ปี จะพร้อมเปิดให้บริการแก่นิสิต นักศึกษา และเหล่านักพัฒนาภายในไตรมาส 1 ของปี 2019 โดยถือเป็นพื้นที่ทดลอง ทดสอบ 5G แห่งแรกในเมืองไทย ที่เปิดให้ได้ลงมือพัฒนาได้จริง ภายใต้เครือข่าย 5G LIVE ที่ กสทช. ให้การสนับสนุน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด