Amadeus และ Depa ร่วมแนะกลยุทธ์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวไทย | Techsauce

Amadeus และ Depa ร่วมแนะกลยุทธ์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวไทย

รายงานล่าสุด โดยอมาเดอุส ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการยกระดับบริการในสนามบินของประเทศไทย

รายงานฉบับใหม่โดย อมาเดอุส บริษัทเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) ระบุ ประเทศไทยจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวให้มีความชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทศวรรษหน้า

แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 6 ในปี 2018 แต่รายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เผยว่า ความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินต่างๆ ในประเทศกำลังจะถึงเพดานสูงสุด ในขณะที่จุดหมายปลายทางยอดนิยมเริ่มได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากเกินไป (Overtourism) ซึ่งสองปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รายงานได้นำเสนอ 4 ประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในทศวรรษหน้า ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบิน การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานและเมือง การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายการคมนาคมในเขตเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง ซึ่งล้วนต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะไปประยุกต์ใช้

เพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยการพัฒนาระบบการจัดการผู้โดยสาร

ในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนประเทศไทยถึง 38.27 ล้านคน และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2019 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม รายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เน้นย้ำว่า นอกเหนือจากการขยายอาคารสนามบินที่ได้วางแผนไว้แล้วนั้น ท่าอากาศยานของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทศวรรษหน้าอีกด้วย

ดร.มาริโอ ฮาร์ดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พาต้า กล่าวว่า “หากการท่องเที่ยวยังคงเติบโตต่อเนื่องในอัตราเท่ากับปัจจุบัน สนามบินในประเทศไทยจะถูกใช้งานเต็มความจุเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ การขยายอาคารสนามบินอาจเข้ามาช่วยลดปัญหานี้ได้บางส่วน แต่เทคโนโลยีอัจฉริยะจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการรองรับจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานในประเทศไทยได้ในอนาคต”

รายงานแนะนำว่า ระบบการเช็คอินด้วยตนเองผ่านคีออส เครื่องดร็อปกระเป๋าอัตโนมัติ และการยืนยันตัวตนผ่านระบบไบโอเมตทริกซ์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร และสำหรับสนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น ควรพิจารณาเปิดให้บริการเช็คอินและดร็อปสัมภาระนอกสนามบิน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเช็คอิน รวมถึงดร็อปกระเป๋า นอกอาคารผู้โดยสารได้อีกด้วย

ขยายการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสู่เมือง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ MICE

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า 2 เซ็กเม็นต์ที่น่าจับตา ได้แก่ ธุรกิจ MICE (อุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ) และนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน คือกลุ่ม “bleisure” หรือผู้ที่เดินทางมาเพื่อธุรกิจแล้วอยู่ท่องเที่ยวพักผ่อนต่อ โดยตลาดทั้งสองนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ในการสร้างรายได้ที่หลากหลายยิ่งขึ้นในทศวรรษหน้า

นอกเหนือไปจากการเชื่อมต่อระบบรางระหว่างสนามบินกับศูนย์ประชุมโดยตรง เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม MICE ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ขอนแก่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และเชียงรายแล้ว รายงานยังแนะนำว่าในผู้ประกอบธุรกิจ MICE ในพื้นที่เหล่านี้ควรจัดตารางเวลารถไฟและเที่ยวบิน ให้สอดคล้องกับเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการประชุม เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาด bleisure ด้วยเช่นกัน

หนึ่งในผู้เขียนรายงาน ไซมอน เอครอยด์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ อมาเดอุส เน้นย้ำว่า พื้นที่จุดหมายปลายทางของตลาด MICE ในประเทศไทย ต้องมีเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

“ในอนาคตอันใกล้นี้ จุดหมายปลายทางยอดนิยมในกลุ่ม MICE ในภูมิภาคจะหันมาแข่งขันกันที่ความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง ดังนั้น เมืองเหล่านี้จึงจำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยมอบความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยว เช่น บริการเช็คอินและดร็อปกระเป๋า ณ สถานที่จัดประชุม ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้ยังต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจุดหมายปลายทางในตลาด MICE ข้างต้นไม่ได้แข่งขันกับเพียงจังหวัดอื่นๆ ในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย” นายไซมอน กล่าว

ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับระบบขนส่งในเขตเมือง

การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) หรือโซลูชันที่เชื่อมต่อข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการเคลื่อนที่ของประชากรรอบๆ เมือง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในรายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” โดยโซลูชันนี้จะเข้ามาช่วยลดความแออัดและมลภาวะในเขตเมืองของประเทศไทย และทำให้เมืองน่าดึงดูดยิ่งขึ้นในทั้งสายตาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

“Smart Mobility ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพสูงมากในการปรับปรุงการเดินทางในเขตเมืองได้” นายไซมอน เอครอยด์ อมาเดอุส กล่าว “การใช้ข้อมูลการขนส่งในการจัดการระบบการจราจรแบบเรียลไทม์ เช่น สัญญาณไฟจราจร หรือจัดการบริการด้านเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เช่น รถรับส่ง Grab และ Get เป็นเพียง 2 แนวทางเด่นๆ ในการประยุกต์ใช้โซลูชันนี้ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่ง”

รายงานชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือ ภาครัฐของประเทศไทยยังไม่ทราบว่าจะร่วมมือกับบริษัทใด ในขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็ก ธุรกิจสตาร์ทอัพ และนักลงทุนต่างประเทศเองก็มักไม่ทราบว่าจะร่วมมือในลักษณะใด ดังนั้น ที่ปรึกษาฝ่ายที่สามอาจมีความสำคัญในการนำผู้เล่นจากทั้งสองภาคส่วนมาพบกัน

ดีป้ามองว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นหนึ่งอุปสรรคของประเทศไทย และแนะนำว่าจังหวัดควรจัดตั้ง "บริษัทพัฒนาเมือง" ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนในอนาคต เพื่อให้สามารถระดมทุนได้เพียงพอ และวางแนวทางการร่วมมือพันธมิตรที่เป็นมาตรฐานชัดเจน

“ทุกวันนี้ เราได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับ Smart Mobility แค่เพียงผิวเผินเท่านั้น หลายๆ จังหวัดจำเป็นต้องพัฒนาตามโมเดล บริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งนำร่องโดยจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นและวางแผนการดำเนินงานในระยะยาว” คุณประชา อัศวธีระ รองประธานสำนักงานเขตภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าว

ลดผลกระทบด้านลบของการท่องเที่ยว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ประเด็นสุดท้ายที่ระบุไว้ในรายงานคือ ความสำคัญของการวางมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยจากความเสี่ยงของปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง

อมาเดอุส ดีป้า และ พาต้า มองว่า หากประเทศไทยต้องการจะบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น และธุรกิจบริการ ควรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ (Real-time Analysis) และการวางโมเดลด้วยเทคนิคการทำนายข้อมูล (Predictive Modeling) แต่เช่นเดียวกับ Smart Mobility การใช้เทคโนโลยีข้างต้นยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นในประเทศไทย

“เรามีข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอยู่ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการบริหารจัดการในช่วงฤดูท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีวิเคราะห์และใช้ข้อมูลจึงมีความสำคัญพอๆ กับการเข้าถึงแหล่งข้อมูล หากนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ข้อมูลเหล่านี้จะไม่เพียงช่วยในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยในการวางแผนอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาตั๋ว ไปจนถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการท่องเที่ยวระยะยาว” ดร.มาริโอ ฮาร์ดี พาต้า กล่าว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และดาวน์โหลดรายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ฉบับเต็มได้ที่ https://amadeus.com/en/insights/research-report/thailand-towards-2030.

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...