มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็น ศูนย์ทำวิจัยด้าน BCG ของประเทศ | Techsauce

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็น ศูนย์ทำวิจัยด้าน BCG ของประเทศ

ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจ คือ การดำเนินการของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศ  

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็น ศูนย์ทำวิจัยด้าน BCG ของประเทศโดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา กล่าวว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานทั้งวิชาการและผลงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ และได้นำไปประยุกต์ใช้ทั้งเรื่องการเกษตร อาหาร สุขภาพ พลังงาน และสังคม สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจ BCG เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

“มจธ.นอกจากเป็นศูนย์ทางวิชาการแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนา BCG ด้านพลังงาน รวมถึงด้านอื่น ๆ เป็นตัวอย่างของภาคการศึกษาที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และประชาสังคม ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ จะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศได้ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปจัดทำรายงานและขยายผลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน และโดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 อาทิ การผลิตยา และการผลิตวัคซีน ที่จะต้องมีการพิจารณาผลักดันงบประมาณสนับสนุนต่อไป”การดำเนินการเรื่อง BCG ของ มจธ. อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT

การดำเนินการเรื่อง BCG ของ มจธ. อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT

ด้าน รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย  อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การดำเนินการเรื่อง BCG ของ มจธ. อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT อันเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของ มจธ. ที่จะพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ มจธ. มีความเข้มแข็งไปพร้อมกับการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในสังคมไทย โดยเน้นพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่เป็นสินค้าทางการเกษตรแบบครบวงจร

มีการนำของเหลือใช้มาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมกับลดของเหลือใช้ตามหลักการของ BCG ซึ่ง มจธ. มีโรงงานต้นแบบที่ตอบโจทย์ BCG ในด้านต่าง ๆ ทางด้าน Bio Economy หรือระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เรามีความเชี่ยวชาญ 4 ด้าน ได้แก่ Food, Feed, Biofuel และ Pharmaceuticals ในด้าน Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เรามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีครบวงจรที่นำของเหลือใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การผลิตไบโอแก๊สจากน้ำเสียในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง การผลิตไบโอเอทานอลจากของเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร เป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 และใน Green Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว เราได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จนถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนทั้งในอุตสาหกรรม ชุมชน และในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่ยั่งยืน เป็นต้น

“ตัวอย่างเช่น การทำ BCG ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังได้ครบวงจร โดย มจธ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อนโยบาย Carbon Neutrality และ SDGs ของประเทศให้บรรลุเป้าหมายได้”

จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังของ มจธ. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่าสามสิบปี ทำให้ มจธ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกระดับอุตสาหกรรมให้กับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศชนิดนี้ ตั้งแต่ในไร่ จนถึงโรงงาน โดยมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์วิจัย BCG Model@KMUTT ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ของหัวมันสำปะหลัง พัฒนาวิธีการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และนำหัวมันมาผลิตแป้งมัน ในส่วนของอุตสาหกรรมแป้งมันก็มีงานวิจัยเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสียและนำกากมันสำปะหลังและของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ จนนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรทั้งในและต่างประเทศ

โรงงานต้นแบบ มจธ. มีความพร้อมของห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเครื่องมือ

ด้าน ผศ. สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้บริหาร มจธ.บางขุนเทียน กล่าวว่า โรงงานต้นแบบสกัดสารสำคัญมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดของการขยายผลงานวิจัยด้านสารสำคัญที่สกัดจากพืช จากห้องแล็บไปสู่ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์ เพราะแม้นักวิจัยจะสามารถหาวิธีสกัดสารสำคัญในห้องแล็บได้ แต่การขยายกำลังผลิตในเชิงพาณิชย์ มีความจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องและการปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสม

 ซึ่งโรงงานต้นแบบ มจธ. มีความพร้อมของห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเครื่องมือ ที่จะให้บริการกับหน่วยงานและผู้ประกอบการ ให้สามารถขยายขนาดกำลังผลิตสารสำคัญที่สกัดจากพืชจากระดับห้องแล็บไปสู่การผลิตระดับโรงงานในเชิงพาณิชย์ได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โรงงานต้นแบบจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสีย และการใช้ประโยชน์จากของเสียเหลือทิ้ง รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร 

หนุนนำ BCG กระจายสู่ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV

นอกจากการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านมันสำปะหลัง จะตอบ BCG ในประเทศไทยแล้ว ยังเข้าไปช่วยประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV  (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามแนวคิด BCG Model ของประเทศตามนโยบายภาครัฐที่มหาวิทยาลัยได้ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และประสบความสำเร็จ  

มจธ. มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าทั้งกับชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้การดำเนินงานตามกรอบของ BCG เกิดความยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน มจธ. มีผลการดำเนินงานด้าน BCG Model @KMUTT ที่เป็นรูปธรรมและมีองค์ความรู้ที่พร้อมต่อการพัฒนาและส่งต่อ อาทิ โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility - NBF)  โรงงานต้นแบบสกัดสารสำคัญ และศูนย์เรียนรู้พลังงานชนบท เป็นต้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBank เปิดผลงานปี 67 กำไร 48,598 ล้านบาท ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) แม้ในภาพรวมสามารถประคองการขยายตัวไว...

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...