โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดบ้าน ย้ำความเป็นผู้นำแผนกผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) พร้อมเผยกุญแจสำคัญในแผนกผู้ป่วยหนัก 'บุคลากรที่มีความชำนาญในขั้นสูง' และ 'การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ' ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “ด้วยปณิธานในการดำเนินงานของบำรุงราษฎร์ ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งกว่า 40 ปี โรงพยาบาลฯ ตระหนักและคำนึงถึง ‘ความปลอดภัยของผู้ป่วย’ เป็นอันดับแรก ซึ่งหัวใจของประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมาจากการบริหารจัดการแบบไร้รอยต่อระหว่างบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบการบริบาลที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยหนัก นับเป็นความโดดเด่นของบำรุงราษฎร์ที่พัฒนามาโดยตลอด”
ให้บริการแบบ One Stop Service
แผนกผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริหารงานโดยหน่วยเวชบำบัดวิกฤต ให้บริการแบบครบวงจร หรือ One Stop Service ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการแบ่งดูแลผู้ป่วยหนัก เป็น 5 แผนก ตามความชำนาญพิเศษในการดูแลรักษาผู้ป่วยหนัก โดยสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้ถึง 63 เตียง จากจำนวนเตียงทั้งหมดในโรงพยาบาล 580 เตียง คิดเป็นสัดส่วน 12% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูงกว่าโรงพยาบาลทั่วไป ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10% ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคตของแผนกไอซียูของสหรัฐอเมริกาที่จะมีการแบ่งแผนกการรักษาเฉพาะทางตามอาการของโรคมากยิ่งขึ้น พร้อมกับมีบุคลากรที่ชำนาญการในสาขานั้นๆ มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
บรรยากาศห้อง ICU ผู้ใหญ่
บรรยากาศห้อง ICU เด็กแผนกผู้ป่วยหนัก ทั้ง 5 แผนก ประกอบด้วย
- แผนกผู้ป่วยหนัก 1 (ICU 1) ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักทางระบบทางเดินอาหาร, ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต, ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ และผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้-น้ำร้อนลวก
- แผนกผู้ป่วยหนัก 2 (ICU 2) ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักทางระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือด สมองตีบหรือแตก (stroke), ผู้ป่วยโคม่า (Coma) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวมากกว่า 6 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองใดๆ ต่อสิ่งเร้ารอบตัว และผู้ป่วยหลังผ่าตัดอวัยวะสำคัญต่างๆ ที่ต้องได้รับการดูแลและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหลังผ่าตัด
- แผนกผู้ป่วยหนัก 3 (ICU 3) ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึง 15 ปี ที่ต้องได้รับการดูแล ทางระบบทางเดินหายใจ และ/หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และผู้ป่วยหนักทางสูติ-นรีเวช
- แผนกผู้ป่วยหนัก 4 (ICU 4) ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักที่มีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ และ/หรือ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- แผนกผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ (CCU) ดูแลรักษาผู้ป่วยหนักโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน (heart attack) ทั้งด้านอายุรกรรม/ศัลยกรรมเด็กและผู้ใหญ่ ภายใต้การบริหารของศูนย์หัวใจ
'โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ' เป็นโรคที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุด
นางสาวสุกัญญาดา รัตนกุลชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์แผนกผู้ป่วยหนักและแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า “บำรุงราษฎร์มีผู้ป่วยหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 - 14,000 รายต่อปี และรับผู้ป่วยใหม่วันละ 5-10 ราย สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์มีสัดส่วนผู้ป่วยหนักคนไทย 52% และต่างชาติ 48% โดยแบ่งเป็นต่างชาติที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย 16% และต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษา 32% ทั้งนี้ โรงพยาบาลฯ ได้มีแผนการขยายพื้นที่และจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการที่ทีมมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางทำงานประสานงานร่วมมือกันเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ทำให้เกิดการบอกต่อของผู้ป่วย ญาติมิตร หรือจากการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลพันธมิตรที่มีกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ และจากโรงพยาบาลในต่างประเทศ โดยภาวะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อันดับ 2 โรคหัวใจ และอันดับ 3 โรคที่เกี่ยวกับระบบสมอง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตมากที่สุด”
นพ. เขมชาติ พงศานนท์การดูแลผู้ป่วยของแผนกไอซียูของบำรุงราษฎร์
ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูได้แก่ผู้ป่วย 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้ที่มีความเจ็บป่วยขั้นวิกฤตอาจถึงชีวิต เช่น หัวใจวาย การหายใจล้มเหลว ความดันโลหิตตก ไตวาย อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว หรือ ผู้ป่วยที่เราคาดการณ์ได้ว่ามีความเสี่ยงที่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหญ่ หรือผู้ที่มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร
ดังนั้นจุดแตกต่างที่เด่นชัดของแผนกไอซียูจากหอผู้ป่วยทั่วไป คือ เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกนำมาใช้เพื่อประคับประคองหรือทดแทนการทำงานของอวัยวะที่ล้มเหลว เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องฟอกเลือด เครื่องปั๊มหัวใจเทียม เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด รวมถึงอุปกรณ์เฝ้าติดตามการทำงานของสัญญาณชีพที่ใช้ในคนไข้ทุกคนในไอซียู
พร้อมด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญและมีองค์ความรู้เฉพาะทาง
กุญแจที่สำคัญยิ่งกว่า คือบุคลากรที่มีองค์ความรู้เฉพาะทาง ความชำนาญ รวมถึงประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีได้เต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยตามฟังก์ชันงานที่ซับซ้อนของอุปกรณ์แต่ละชนิด โดยให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด
องค์ความรู้และความชำนาญในการแปลผลการแสดงค่าต่างๆ ที่ได้จากอุปกรณ์เฝ้าติดตามการทำงานของสัญญาณชีพ จะทำให้ทีมการรักษาสามารถตรวจพบอาการของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลงในระยะเริ่มต้น นำไปสู่การวางแผน และเลือกวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการเฝ้าระวังโรคในไอซียู
นอกเหนือจากความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว แผนกไอซียูของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญกับทีมบุคลากรที่มีความชำนาญการในขั้นสูงและมีทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ ผู้ป่วยหนักแต่ละคนจะได้รับการดูแลจากทีมไอซียูที่ประกอบด้วย
- แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผู้ป่วยวิกฤต โดยทุกคนสำเร็จหลักสูตรมาตรฐานเป็นผู้ชำนาญการพิเศษด้านเวชบำบัดวิกฤตจากสหรัฐอเมริกา (American Board of Critical Care Medicine) เป็นหัวหน้าทีม วางแผนตัดสินใจการรักษาร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางในสาขาอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงต่อความเจ็บป่วยของผู้ป่วยหนักนั้นๆ
- พยาบาลผู้ชำนาญการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นเสมือนศูนย์กลางในการประสานงานทั้งภายในทีมไอซียูและแผนกต่างๆ นอกไอซียู
- เภสัชกรประจำแผนกไอซียู ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในรายละเอียด การเลือกชนิด วิธีการบริหารยา การปรับขนาดยาให้สัมพันธ์กับโรค และการทำงานของไตหรือตับ รวมถึงการป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากยาหลายชนิดที่ผู้ป่วยต้องได้รับในไอซียู
- พยาบาลผู้ชำนาญการบำบัดระบบหายใจ ดูแลเพิ่มเติมเฉพาะระบบ สำหรับผู้ป่วยทุกคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากเครื่องช่วยหายใจในไอซียู ทำงานประสาน และแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบของแพทย์และพยาบาลประจำไอซียูให้สามารถทำหน้าที่ส่วนอื่นๆ ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะมีนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง นักบำบัดปัญหาการกลืนการพูด นักโภชนากร และพยาบาลผู้ประสานงานเฉพาะโรคเช่นทางระบบประสาทและสมอง ทางระบบหัวใจ เป็นต้น ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลลัพธ์ทีมีคุณภาพ โดยยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็น สำคัญ”
นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารพูดคุยกับครอบครัวผู้ป่วย ซึ่งในสถานการณ์นั้น สภาพจิตใจของครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ในขณะปฏิบัติงานซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชุลมุนวุ่นวาย โรงพยาบาลฯ มีแพทย์และพยาบาลที่พร้อมจะให้ข้อมูลตลอดเวลาเพื่อคลายความวิตกกังวลของครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงระหว่างการรักษาตัวนั้น แพทย์จะมีการแจ้งความคืบหน้าถึงขั้นตอนการรักษาในทุกๆ เช้า หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่ญาติต้องการขอพูดคุยกับแพทย์ โรงพยาบาลฯ มีห้องประชุมที่จัดแยกเฉพาะสำหรับใช้พูดคุยกับครอบครัวเพื่อความเป็นส่วนตัว