Cisco ปรับโฉมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต รองรับอนาคตในยุค 5G | Techsauce

Cisco ปรับโฉมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต รองรับอนาคตในยุค 5G

Cisco ประกาศกลยุทธ์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและบริษัทที่ให้บริการคลาวด์ทั่วโลกในการเชื่อมต่อ คุ้มครอง และสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับเครือข่ายขององค์กร เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับทุกคนในทุกๆ ที่ โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ประชาชน องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และชุมชนต่างๆ จำเป็นต้องพึ่งพาระบบเชื่อมต่อเพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  จากเดิมที่เคยเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในตอนนี้อินเทอร์เน็ตได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนห่วงชูชีพที่ช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยรองรับการเชื่อมต่อกับข้อมูลและการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน  การประชุมผ่านวิดีโอ (Video Conferencing) มีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพราะประชาชนจำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านหรือเรียนหนังสือทางออนไลน์  นอกจากนี้ยังมีการใช้บริการทางการแพทย์ผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล วิดีโอสตรีมมิ่ง การเล่นเกมออนไลน์ และอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันราว 25-45 เปอร์เซ็นต์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก  

ตอนนี้ระบบเครือข่ายยังสามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ Cisco คาดการณ์ว่าปริมาณแทรฟฟิกจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากเมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค 5G ซึ่งคาดว่าจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อราว 29.3 พันล้านเครื่องในปี 2566   สถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ  อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีประชากรกว่า 3 พันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี (Digital Divide) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และโอกาส ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างระบบเครือข่ายที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายดังกล่าว

คุณโจนาธาน เดวิดสัน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของ Cisco กล่าวว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Cisco ได้ศึกษาวิจัยและลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมในส่วนนี้ โดยมุ่งเน้นการช่วยให้ลูกค้านำเสนอบริการอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และป้องกันความเสี่ยง  เราช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเกี่ยวกับระบบเครือข่ายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในตอนนี้ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อผู้คน สถานที่ และสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต  และในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเรามองย้อนกลับมา เราก็จะรู้สึกยินดีที่เราได้ดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วในการพัฒนาปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต”

เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอินเทอร์เน็ตเพื่อลดค่าใช้จ่าย

การสร้างระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการขยายอินเทอร์เน็ตไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมนับเป็นงานที่ท้าทายสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย  ด้วยเหตุนี้ Cisco จึงได้ออกแบบ Converged SDN Transport ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถผนวกรวมหลายๆ เครือข่ายเข้าด้วยกันบนโครงสร้างพื้นฐานร่วมที่ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีขนาดที่ใหญ่มาก

เพื่อลดความซับซ้อนของโครงสร้างอินเทอร์เน็ต Cisco จึงได้เปิดตัวโซลูชั่น Routed Optical Networking ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุบเครือข่าย IP และเครือข่ายออปติก  ด้วยออปติกที่เชื่อมต่อได้ง่ายจาก Acacia รวมถึงความก้าวหน้าทางด้าน Segment Routing และ Ethernet VPN และเทคโนโลยีใหม่ Cisco Crosswork Cloud ผู้ให้บริการจะสามารถสร้างเครือข่ายที่มีขนาดเหมาะสม เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ จัดการดูแลได้อย่างง่ายดาย สามารถรองรับแทรฟฟิกจำนวนมากที่คาดว่าจะมาพร้อมกับเครือข่าย 5G

นวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต

Cisco ร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและบริษัทที่ให้บริการคลาวด์อย่างเช่น Altibox, AWS, Facebook, Google Cloud, Microsoft Azure, Deutsche Telecom, Rakuten, SFR, Telenor, Telia Carrier, Telstra, Vodafone และอื่นๆ ในการออกแบบส่วนประกอบของ ‘อินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต’ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

Cisco Silicon One 

Cisco ได้เปิดตัวสถาปัตยกรรมซิลิคอนสำหรับระบบเครือข่าย Silicon One™ เมื่อปี 2562 เพื่อนำเสนอสถาปัตยกรรมซิลิคอนแบบครบวงจรที่ตั้งค่าได้ ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และมอบความเร็วและความจุที่เหนือกว่าสำหรับยุค 5G  ในช่วงเวลาเพียง 15 เดือน Cisco ได้ขยายแพลตฟอร์ม Cisco Silicon One จากเดิมที่เป็นโซลูชั่นที่มุ่งเน้นระบบเราติ้ง ไปสู่โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดระบบสวิตชิ่งแบบ Web Scale โดยนำเสนอชิปเครือข่าย (อุปกรณ์) 10 รุ่น ตั้งแต่ 3.2 Tbps ไปจนถึง 25.6 Tbps และนับเป็นซิลิคอนสำหรับระบบเราติ้งและสวิตชิ่งแบบตั้งโปรแกรมได้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในตลาด 

การจัดการลูกค้า

Cisco ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Cisco Cloud Native Broadband Network Gateway สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม (เครือข่ายพื้นฐาน) โดยอยู่ภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์บรอดแบนด์เราเตอร์แบบคลาวด์เนทีฟสำหรับเครือข่ายเคเบิลและมือถือ  นับเป็นการปูทางสู่การผนวกรวมเข้ากับโซลูชั่นการจัดการลูกค้า (Subscriber Management) อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถนำเสนอบริการที่รองรับทุกการเข้าถึงอย่างแท้จริง ไม่ว่าลูกค้าจะใช้บริการดังกล่าวจากที่ใดก็ตาม 

การพัฒนาเครือข่ายส่วนการเข้าถึง, การรวม, Edge และ Core Networks เพื่อประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

  • ผลิตภัณฑ์เราเตอร์รุ่นล่าสุดในตระกูล 8000 ของ Cisco ประกอบด้วยชิป Cisco Silicon One Q200 series ซึ่งมอบความจุสูงสุด 14.4 Tbps รองรับสวิตช์ 100G Web Scale จำนวน 32 และ 64 เครื่อง
  • เปิดตัวไลน์การ์ดและแชสซีรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพสำหรับ Cisco Aggregated Service Router (ASR) 9000 series และเราเตอร์ Network Convergence System (NCS) 500 และ 5500 series ช่วยเพิ่มกำลังความจุ ควบคู่ไปกับการประหยัดเงินทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • ฟีเจอร์ใหม่ Crosswork Network Controller (CNC) ช่วยให้ลูกค้าควบคุมและใช้งานโซลูชั่น Cisco Routed Optical Networking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Cisco Crosswork Cloud

Crosswork Cloud นำเสนอแอพพลิเคชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า Traffic Analysis ซึ่งรองรับการตรวจสอบอย่างครอบคลุมสำหรับจุดเชื่อมต่อ Peering บนเครือข่าย และ Traffic Analysis จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงแทรฟฟิกที่ส่วนขอบ (Edge) ของเครือข่าย และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า

Cisco Business Critical Services 

บริการ Cisco Business Critical Services ช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้โซลูชั่น Routed Optical Networking และ Cloud Native Broadband ของ Cisco สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างราบรื่น  บริการ Business Critical Services ครอบคลุมการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมเครือข่าย และการวางแผนติดตั้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการโยกย้ายระบบและลดความเสี่ยง  ตัวเลือกใหม่ๆ ภายในบริการ Specialized Expertise Scrum Services และ Expert-as-a-Service ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกชุดทักษะที่จะช่วยขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนระบบเครือข่าย

คุณแมทเทียส ฟริดสตรอม หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่นวัตกรรมองค์กรของ Telia Carrier กล่าวว่า “ในอดีต การสร้างและควบคุมจัดการสถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยหลายเลเยอร์นับเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยนวัตกรรมสำคัญที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของซิลิคอน ระบบเราติ้ง และออปติกมาตรฐาน 400G เลเยอร์ต่างๆ ที่ซับซ้อนจะถูกรวมเข้าไว้บนสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย มีประสิทธิภาพ ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น และประหยัดค่าใช้จ่าย  Telia Carrier เดินหน้าอย่างจริงจังเพื่อทำการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากส่วนประกอบต่างๆ เช่น เราเตอร์ Cisco 8000 และ NCS 5700 ซึ่งช่วยให้เราจัดการดูแลระบบเครือข่ายได้ง่ายขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน  เราคาดว่าผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจะดำเนินการปรับเปลี่ยนเครือข่าย Metro และ Long-haul กันอย่างจริงจังในช่วงปีนี้”

คุณเพอร์-ออยวินด์ โอดิการ์ด หัวหน้าสถาปนิกโครงสร้างพื้นฐานของ Atibox กล่าวว่า “ปัจจุบัน แทรฟฟิกบนเครือข่ายมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุนี้ โซลูชั่น Broadband Network Gateway (BNG) แบบคลาวด์เนทีฟของ Cisco จึงนับเป็นตัวพลิกเกมที่แท้จริง  ด้วยการติดตั้ง BNG ไว้ใกล้กับผู้ใช้มากขึ้น เราจะสามารถเพิ่มขนาดของเครือข่ายได้อย่างเท่าทวีคูณ โดยไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในการควบคุมจัดการ  นอกจากนี้ ยังรองรับตำแหน่งที่ตั้งของ CDN ในลักษณะที่กระจัดกระจายมากขึ้น จึงช่วยให้เราสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้แก่ผู้ใช้ และลดความต้องการแทรฟฟิกบนเครือข่ายส่วน Core Network และดังนั้นจึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น  และท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนย้ายไปสู่รูปแบบคลาวด์เนทีฟ โดยมีการแยกส่วน User Plane และ Control Plane ออกจากกัน จะช่วยให้สามารถนำเสนอบริการที่รองรับการเข้าถึงทุกรูปแบบ โดยใช้โซลูชั่นการจัดการ Subscriber ที่รวมเครือข่ายพื้นฐานและ 5G เข้าด้วยกัน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...

Responsive image

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

โรคไข้เลือด เป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นในทุกประเทศเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายหรือยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน และในปัจจุบันมีประชากรประม...