ความสำคัญของ Cloud computing ที่กลายเป็นตัวช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายองค์กรช่วง COVID-19 | Techsauce

ความสำคัญของ Cloud computing ที่กลายเป็นตัวช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายองค์กรช่วง COVID-19

บริษัท บูลบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik Group) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มององค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีได้มากในช่วงภาวะวิกฤต ด้วยการใช้ประโยชน์จาก “Cloud computing” เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและประมวลผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการใช้เซิร์ฟเวอร์แบบเดิมและสามารถคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง พร้อมชี้ 3 ประเด็นหลักที่จะทำให้ใช้ Cloud ในองค์กรได้สำเร็จ 

คุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (Bluebik Group) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไปทั่วโลก องค์กรธุรกิจต่างค้นหาแนวทางในการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อเป็นผู้อยู่รอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะเน้นนโยบายในการดูแลต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย  ซึ่งปกติธุรกิจส่วนใหญ่จะมีรายจ่ายในการใช้เงินลงทุนครั้งใหญ่ (Big investment) ที่ยังไม่สร้างผลกำไรในปัจจุบัน (Sunk cost) หรือเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ที่ไม่สามารถปรับลดลงได้ ดังนั้น Fixed cost จึงเป็นประเด็นหลักที่อาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้ ซึ่งสถานะทางการเงินถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ใช้หล่อเลี้ยงองค์กร พร้อมทั้งเป็นตัวชี้ชะตาว่าบริษัทจะอยู่รอด หรือเสี่ยงที่จะล้มในวิกฤตนี้ได้ โดยผิดกับต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable cost) ที่หากไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีรายจ่ายเกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ตามปกติธุรกิจขนาดใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายแบบ Big investment หรือหากเลือกจ่ายเป็นรายเดือนก็ต้องดำเนินการแบบผ่อนชำระ นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายได้ถูกแปลงเป็นต้นทุนแบบ Fixed cost อยู่ดี ซึ่งเมื่อองค์กรได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบ IT ที่ลงทุนไปอาจไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ จึงทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจควรทำคือ แปลงค่าใช้จ่ายด้านระบบ IT ให้เป็น Variable cost จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจและสามารถอยู่รอดได้

ช่วงวิกฤตเช่นนี้จึงเป็นจังหวะและจุดเริ่มต้นที่ดีของภาคธุรกิจที่จะเริ่มมาใช้ “Cloud computing” เพื่อลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นของตนเอง (On-Premise) อีกทั้งช่วยลดความยุ่งยากในการติดตั้ง การดูแลรักษาระบบ ที่สำคัญช่วยประหยัดเวลาและยังมีความยืดหยุ่นด้านค่าใช้จ่าย 

โดยปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ Cloud computing  3 รูปแบบ คือ 1. การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่แทน server (Infrastructure-as-a-Service) หรือ IaaS 2. การให้บริการด้านแพลตฟอร์มสำหรับซอฟต์แวร์ (Platform as a Service) หรือ PasS เช่น เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ระบบประมวลผลกลางขององค์กรขนาดใหญ่ (Database Server) หรือระบบ API ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยสูง และ 3. การให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (Software as a Service หรือ SaaS ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน (Pay-as-you-go) เช่น จำนวนผู้ใช้ ปริมาณที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ เช่น ผู้ให้บริการทางด้านซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ อย่าง Microsoft 365, google suite 

ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี Cloud computing มาช่วยธุรกิจในสภาวะวิกฤตเช่นนี้มีอยู่หลายข้อ 

1. Cost Efficiency : บริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์แบบเดิม ที่ปกติช่วงเริ่มต้นการใช้งานมีคนใช้บริการน้อย ทำให้ไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) แต่ระบบ Cloud จะมีค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ใช้งานจริง คือใช้แค่ไหนจ่ายเท่านั้น 

2. Shorten time to market : เปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้เร็ว รวมทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเอง เพราะธุรกิจบางประเภทที่จำเป็นต้องมีแอพพลิเคชัน แต่ช่วงเกิดโควิด-19 หากต้องมาพัฒนาเอง อาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ทันคู่แข่ง หรือทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจไป 

3. Anywhere – Anytime : เทคโนโลยี Cloud จะเอื้อความสะดวกต่อการทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากระบบจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถทำงานได้ อย่าง Work from home ที่หลายบริษัทหันมาใช้บริการ Software as a Service (SaaS) จากผู้ให้บริการหลากหลายที่ เช่น Microsoft team, Google hangout 

4. Flexibility : การใช้ Cloud ช่วยทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นขึ้น เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น ช่วงที่ต้องการรูปแบบ Scale up ที่ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตเร็ว เมื่อเห็นโอกาสทองการทำรายได้ หรือ Scale down ลง เมื่อต้องการใช้งานลดลง อย่างตอนที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 

คุณพชร กล่าวต่อว่า เทคโนโลยี Cloud computing อาจไม่สามารถตอบโจทย์ทุกธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภทมีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะ ฉะนั้น ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี จำเป็นต้องทำงานควบคู่กันเพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า เทคโนโลยี Cloud จะสามารถเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้สูงสุดอย่างไร ที่สำคัญต้องทำให้เกิดความร่วมมือทั้งจากฝ่ายธุรกิจและ IT เพื่อออกแบบโครงการสร้างและสัดส่วนการใช้งานให้ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด รวมทั้งต้องผลักดันให้พนักงานทั้งองค์กรเข้าใจวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนขององค์กรในทิศทางเดียวกัน ว่า Cloud คือตัวแปรสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ใช้ Cloud ในองค์กรได้สำเร็จ 

ประเมินขีดความสามารถด้านไอทีขององค์กร (Understand your IT capabilities) – ก่อนนำเทคโนโลยี Cloud มาประยุกต์ใช้ ควรประเมินศักยภาพทางด้านระบบ IT ขององค์กรว่ามีความเหมาะสมจะใช้ cloud หรือไม่ ถ้ามีระบบเก่า (on premise) อยู่แล้ว ต้องคำนึงถึงเรื่องการโอนย้าย (migration) ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ดังนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวิเคราะห์และเปรียบเทียบระบบปัจจุบันกับระบบที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถออกแบบสถาปัตยกรรมด้านไอที (IT Architecture) ได้ตอบโจทย์ตามความต้องการและรองรับกับการทำงานได้อย่างเหมาะสมที่สุด 

เลือกกลยุทธ์และวางแผนการ Migration ให้เหมาะกับองค์กร (Develop migration roadmap) – การวางแผนเพื่อย้ายระบบและข้อมูลขึ้นไปบน cloud สามารถเลือกให้มีการใช้ทั้ง Cloud จากผู้ให้บริการและ on premise ใช้งานควบคู่กันไป (Hybrid cloud) ในขณะเดียวกันการวางแผนเพื่อการโอนย้ายที่ดีนั้น ควรวางแผนให้สามารถย้ายระบบหรือ Application ต่างๆ จากผู้ให้บริการแต่ละรายได้อย่างอิสระ เพื่อลดปัญหาการพึ่งพา Vendor จากรายใดรายหนึ่ง 

ประยุกต์แนวคิดการทำงานแบบ Agile (Adapt agile to organization) – การทำ Cloud transformation ให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องอาศัยการทำงานแบบ Agile เนื่องจากต้องการความรวดเร็ว และสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลาเพื่อหาโครงสร้างที่เหมาะสมกับองค์กรที่สุด ดังนั้นบุคลากรในองค์กรควรมีความ Proactive และต้องพร้อมที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่มีความสนใจหรือจะเริ่มต้นใช้ Cloud มาช่วยในการดำเนินธุรกิจนั้น อาจจะมีความยุ่งยากในการจัดการ ว่าจะต้องมีการวิเคราะห์ เปรียบเทียบรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลหรือการดำเนินธุรกิจแบบเดิม รวมถึงขั้นตอนหรือความซับซ้อนในการย้ายข้อมูลที่มีอยู่เดิมไปไว้ที่ Cloud  ดังนั้น การหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาเป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี และน่าจะส่งผลให้กระบวนการทำงานเกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า เพราะทำให้ไม่ต้องมาลงรายละเอียดในการบริหารจัดการเอง ที่สำคัญทำให้ธุรกิจได้มุ่งเน้นไปยังการวางแผนปรับกลยุทธ์ในการตั้งรับกับการหารายได้หลัก รวมทั้งการฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นดีกว่า 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...

Responsive image

MarTech MarTalk 2024 EP.3 จากต้นกล้าสู่ความสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนและ MarTech

ChocoCRM จัดงานใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน MarTech MarTalk 2024 EP.3 From Seeds to Success: Driving Business Growth with People and Marketing Technology ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องเป็น...

Responsive image

ทีทีบี เปิดตัว ttb smart shop พร้อม “ปังปัง” มังกรน้ำเงินมงคล ผู้ช่วยร้านค้าแบบครบวงจร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี นำโดย นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ พร้อมด้วย นางกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจ เปิดตัวฟีเจอร...