Cloud Technology เครื่องมือพลิกวิกฤตขององกรค์ให้กลายเป็นโอกาสพัฒนาธุรกิจให้ทันยุค New normal | Techsauce

Cloud Technology เครื่องมือพลิกวิกฤตขององกรค์ให้กลายเป็นโอกาสพัฒนาธุรกิจให้ทันยุค New normal

เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างมหาศาล ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ออกคำสั่งปิดประเทศ (Lockdown) และส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ซึ่งแน่นอนว่า มาตรการดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก หลายโรงงานอุตสาหกรรมต้องสั่งพักงานของลูกจ้าง หรือต้องหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว 

ขณะที่หลายองค์กรที่ยังพอปฏิบัติการได้ ต้องออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from home) โดยแต่ละองค์กรก็มีความพร้อม และความสามารถที่จะนำนโยบายนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับองค์กรในสถานการณ์แบบนี้ด้วย ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud technology) ซึ่งผมเชื่อว่า คลาวด์จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจที่จะต้องเข้าสู่ภาวะความปกติใหม่ (New normal) หลังจากที่วิกฤตนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 

เทคโนโลยีคลาวด์ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน เพราะที่จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ได้ฝังตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราจนแทบไม่รู้ตัว ทุกครั้งที่เราใช้จีเมล เล่นเฟสบุ๊ค ดูหนังผ่านเน็ตฟลิกซ์ หรือแม้กระทั่ง เรียกแท็กซี่ หรือสั่งอาหารเดลิเวอรีจากแกร็บ ซึ่งแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเหล่านี้ ได้ถูกสร้างมาบนเทคโนโลยีคลาวด์ โดยเป็นตัวอย่างของรูปแบบการใช้งานที่เราเรียกว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งเป็นการใช้งานทางซอฟต์แวร์เฉพาะด้านผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ได้ถูกสร้าง บริหารจัดการ และประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ  ในเชิงธุรกิจ ปัจจุบันหลายองค์กรได้มีการนำ SaaS มาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office 365, Salesforce, SAP, Workday และ Slack เพราะช่วยให้องค์กรไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบขึ้นมาเอง และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ เพราะซอฟต์แวร์จะถูกเรียกใช้งานผ่านคลาวด์จากที่ไหนก็ได้

สำหรับรูปแบบการใช้งานคลาวด์ที่เป็นที่นิยมอีก 2 ประเภท ได้แก่  Infrastructure as a Service (IaaS) และ Platform as a Service (PaaS) โดย IaaS เป็นเพียงบริการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์คือ มีหน่วยประมวลผล (Server) ระบบเครือข่าย (Network) และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualisation) ให้ใช้งาน ส่วน PaaS จะมีเพิ่มในส่วนของระบบปฏิบัติการ (Operating system) และฐานข้อมูล (Database) เพื่อเป็นการใช้งานเกี่ยวกับแพลตฟอรม์ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน หรือโมบายแอปพลิเคชัน 

ประโยชน์-ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับคลาวด์

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานคลาวด์ประเภทใดก็ตาม ประโยชน์ที่ได้คือ ความสามารถในการทำงาน และการเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมยังช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และลดความยุ่งยากในบริหารจัดการด้านไอทีขององค์กร 

ผมเชื่อว่า องค์กรส่วนมากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ แต่ก็มีหลายองค์กรที่ยังคงลังเลกับการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ จากผลสำรวจของ PwC ในปี 2562 ที่ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจจำนวนกว่า 100 รายในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 ปัจจัยที่สร้างความกังวลในการนำคลาวด์มาใช้มากที่สุด คือ 1. ความกังวลด้านความปลอดภัย (63%) ตามมาด้วย 2. ความกลัวที่ข้อมูลจะสูญหาย หรือรั่วไหล (51%) และ 3. ความเสี่ยงในการสูญเสียการควบคุม (36%) 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ได้นำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ จึงได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น มีการควบคุมการเข้าถึง (Access control) การเข้ารหัสข้อมูล (Data encryption) การให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลแก่พนักงาน และการตรวจสอบบันทึกการใช้งานต่าง ๆ ในเครือข่าย 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์คือ การกำหนดความปลอดภัย (Security configuration) ที่เน้นให้การใช้บริการต้องได้รับการปรับรูปแบบที่เหมาะสมและให้องค์กรได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามต่อบริการ ด้วยการตั้งค่าที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับบริษัทชั้นนำอย่าง Capital One Financial Corp. ในสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยไฟร์วอลล์ของบริษัทมีการตั้งค่าที่ไม่ถูกต้องบนคลาวด์สาธารณะของ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลก ส่งผลให้มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และทำให้แฮ็กเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้กว่า 106 ล้านราย 

ทำความรู้จักประเภทของคลาวด์

คลาวด์สาธารณะ (Public cloud) คือ คลาวด์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้แบบสาธารณะ ซึ่งต้องทำการเช่า หรือสมัครสมาชิกเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน โดยผู้ใช้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงระบบคลาวด์ จะมีข้อมูลเข้าสู่ระบบของผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว จากส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อดีของคลาวด์สาธารณะ ได้แก่ ความง่ายในการเชื่อมต่อและใช้งาน การปรับขนาดได้ และยังได้รับความน่าเชื่อถือสูง หากใช้คลาวด์จากผู้ให้บริการชั้นนำ เช่น AWS, Microsoft Azure หรือ Google Cloud Platform (GCP) ที่มีเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ที่กว้างใหญ่ครอบคลุมในหลายพื้นที่จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะสามารถทำเองได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อข้อมูลได้ถูกจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์สาธารณะ นี่ทำให้หลายองค์กรมีความกังวลด้านความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการใช้คลาวด์ส่วนตัว (Private cloud) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่มีการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้นอกประเทศ ในส่วนของคลาวด์ส่วนตัว เป็นการบริการจัดเก็บข้อมูลที่ตั้งศูนย์ข้อมูลไว้ในพื้นที่ที่ผู้ใช้จัดสรร เพื่อความต้องการของแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและจำกัดต่อการเข้าถึงข้อมูล องค์กรสามารถสร้างคลาวด์ส่วนตัว ขึ้นมาเองได้ หรือใช้บริการ เช่น Amazon Virtual Private Cloud (VPC) ที่เป็นการเช่าเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวจากผู้ให้บริการ โดยค่าใช้จ่ายของคลาวด์ส่วนตัวจะสูงกว่าคลาวด์สาธารณะ เพราะองค์กรต้องจัดและซ่อมบำรุงทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับคลาวด์แบบไฮบริด (Hybrid cloud) ซึ่งเป็นการใช้งานร่วมกันระหว่างคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัว เพื่อผสมผสานข้อดีและอุดข้อเสียจากการใช้งานคลาวด์ทั้ง 2 ประเภท โดยจะได้รับประโยชน์จากความยืดหยุ่นของคลาวด์สาธารณะและความปลอดภัยของการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าในคลาวด์ส่วนตัว

ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีคลาวด์แบบไฮบริดก็ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลได้สักทีเดียว เนื่องจากการรับ-ส่งข้อมูลทำให้เกิดความเสี่ยง และถึงแม้ว่าจะมีการตั้งรหัสข้อมูลแล้วก็ตาม ดังนั้น แผนกไอทีขององค์กรต้องให้ความสำคัญในการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการกำหนดค่าและการวางแผนพัฒนาคลาวด์แบบไฮบริดอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการเทคโนโลยีคลาวด์อีกหนึ่งประเภทที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นคือ มัลติ-คลาวด์ (Multi-cloud) เป็นการนำเอาคลาวด์จากหลายผู้ให้บริการมาใช้งานร่วมกันด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ 1. การเลือกสรรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ตอบสนองเนื้องานแบบเฉพาะ (ฺฺBest of breed) และ 2. เป็นการปิดช่องโหว่ความเสี่ยงจากการที่องค์กรจะต้องพึ่งพา หรือผูกมัดกับผู้ให้บริการเพียงรายเดียว 

จะเห็นว่า ไม่ว่าองค์กรจะเลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์ประเภทใด ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ ความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องการขาย ศักยภาพทางการเงิน หรือข้อมูลในเชิงธุรกิจอื่น ๆ ที่จะช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมงาน ได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก โดยเฉพาะสถานการณ์อย่างโควิด-19 ในเวลานี้ 

ผมเชื่อว่า หลังจากที่เราพ้นวิกฤตการณ์นี้ไป เทคโนโลยีคลาวด์จะยิ่งมีบทบาทที่สำคัญในการตอบสนองวิถีชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เน้นความคล่องแคล่วและความเป็นอิสระ รวมทั้งเป็นการประสานและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G, บิ๊ก ดาต้า หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราทุกคนในอนาคตอันใกล้นี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...