บทวิเคราะห์ Cloud Technology กับบทบาทต่อภาคธุรกิจที่เข้มข้นขึ้นหลัง COVID-19 | Techsauce

บทวิเคราะห์ Cloud Technology กับบทบาทต่อภาคธุรกิจที่เข้มข้นขึ้นหลัง COVID-19

Photo by Taylor Vick on Unsplash

เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างมหาศาล ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ออกคำสั่งปิดประเทศ (Lockdown) และส่วนของประเทศไทยเอง ก็ได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ซึ่งแน่นอนว่า มาตรการดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก หลายโรงงานอุตสาหกรรมต้องสั่งพักงานของลูกจ้าง หรือต้องหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว ขณะที่หลายองค์กรที่ยังพอปฏิบัติการได้ ต้องออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from home) โดยแต่ละองค์กรก็มีความพร้อม และความสามารถที่จะนำนโยบายนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับองค์กรในสถานการณ์แบบนี้ด้วย ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud technology) ซึ่งผมเชื่อว่า คลาวด์จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจที่จะต้องเข้าสู่ภาวะความปกติใหม่ (New normal) หลังจากที่วิกฤตนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 

เทคโนโลยีคลาวด์ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน เพราะที่จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ได้ฝังตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราจนแทบไม่รู้ตัว ทุกครั้งที่เราใช้จีเมล เล่นเฟสบุ๊ค ดูหนังผ่านเน็ตฟลิกซ์ หรือแม้กระทั่ง เรียกแท็กซี่ หรือสั่งอาหารเดลิเวอรีจากแกร็บ ซึ่งแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเหล่านี้ ได้ถูกสร้างมาบนเทคโนโลยีคลาวด์ โดยเป็นตัวอย่างของรูปแบบการใช้งานที่เราเรียกว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งเป็นการใช้งานทางซอฟต์แวร์เฉพาะด้านผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ได้ถูกสร้าง บริหารจัดการ และประมวลผลบนระบบของผู้ให้บริการ  ในเชิงธุรกิจ ปัจจุบันหลายองค์กรได้มีการนำ SaaS มาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office 365, Salesforce, SAP, Workday และ Slack เพราะช่วยให้องค์กรไม่ต้องลงทุนในการสร้างระบบขึ้นมาเอง และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ เพราะซอฟต์แวร์จะถูกเรียกใช้งานผ่านคลาวด์จากที่ไหนก็ได้

สำหรับรูปแบบการใช้งานคลาวด์ที่เป็นที่นิยมอีก 2 ประเภท ได้แก่  Infrastructure as a Service (IaaS) และ Platform as a Service (PaaS) โดย IaaS เป็นเพียงบริการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับระบบคอมพิวเตอร์คือ มีหน่วยประมวลผล (Server) ระบบเครือข่าย (Network) และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualisation) ให้ใช้งาน ส่วน PaaS จะมีเพิ่มในส่วนของระบบปฏิบัติการ (Operating system) และฐานข้อมูล (Database) เพื่อเป็นการใช้งานเกี่ยวกับแพลตฟอรม์ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน หรือโมบายแอปพลิเคชัน 

ประโยชน์-ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับคลาวด์

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานคลาวด์ประเภทใดก็ตาม ประโยชน์ที่ได้คือ ความสามารถในการทำงาน และการเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมยังช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และลดความยุ่งยากในบริหารจัดการด้านไอทีขององค์กร 

ผมเชื่อว่า องค์กรส่วนมากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ แต่ก็มีหลายองค์กรที่ยังคงลังเลกับการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ จากผลสำรวจของ PwC ในปี 2562 ที่ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจจำนวนกว่า 100 รายในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า 3 ปัจจัยที่สร้างความกังวลในการนำคลาวด์มาใช้มากที่สุด คือ 1. ความกังวลด้านความปลอดภัย (63%) ตามมาด้วย 2. ความกลัวที่ข้อมูลจะสูญหาย หรือรั่วไหล (51%) และ 3. ความเสี่ยงในการสูญเสียการควบคุม (36%) 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ได้นำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ จึงได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น มีการควบคุมการเข้าถึง (Access control) การเข้ารหัสข้อมูล (Data encryption) การให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลแก่พนักงาน และการตรวจสอบบันทึกการใช้งานต่าง ๆ ในเครือข่าย 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์คือ การกำหนดความปลอดภัย (Security configuration) ที่เน้นให้การใช้บริการต้องได้รับการปรับรูปแบบที่เหมาะสมและให้องค์กรได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามต่อบริการ ด้วยการตั้งค่าที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับบริษัทชั้นนำอย่าง Capital One Financial Corp. ในสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยไฟร์วอลล์ของบริษัทมีการตั้งค่าที่ไม่ถูกต้องบนคลาวด์สาธารณะของ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลก ส่งผลให้มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และทำให้แฮ็กเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้กว่า 106 ล้านราย 

ทำความรู้จักประเภทของคลาวด์ 

คลาวด์สาธารณะ (Public cloud) คือ คลาวด์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้แบบสาธารณะ ซึ่งต้องทำการเช่า หรือสมัครสมาชิกเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน โดยผู้ใช้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงระบบคลาวด์ จะมีข้อมูลเข้าสู่ระบบของผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว จากส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อดีของคลาวด์สาธารณะ ได้แก่ ความง่ายในการเชื่อมต่อและใช้งาน การปรับขนาดได้ และยังได้รับความน่าเชื่อถือสูง หากใช้คลาวด์จากผู้ให้บริการชั้นนำ เช่น AWS, Microsoft Azure หรือ Google Cloud Platform (GCP) ที่มีเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ที่กว้างใหญ่ครอบคลุมในหลายพื้นที่จึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะสามารถทำเองได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อข้อมูลได้ถูกจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์สาธารณะ นี่ทำให้หลายองค์กรมีความกังวลด้านความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการใช้คลาวด์ส่วนตัว (Private cloud) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่มีการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้นอกประเทศ ในส่วนของคลาวด์ส่วนตัว เป็นการบริการจัดเก็บข้อมูลที่ตั้งศูนย์ข้อมูลไว้ในพื้นที่ที่ผู้ใช้จัดสรร เพื่อความต้องการของแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและจำกัดต่อการเข้าถึงข้อมูล องค์กรสามารถสร้างคลาวด์ส่วนตัว ขึ้นมาเองได้ หรือใช้บริการ เช่น Amazon Virtual Private Cloud (VPC) ที่เป็นการเช่าเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวจากผู้ให้บริการ โดยค่าใช้จ่ายของคลาวด์ส่วนตัวจะสูงกว่าคลาวด์สาธารณะ เพราะองค์กรต้องจัดและซ่อมบำรุงทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับคลาวด์แบบไฮบริด (Hybrid cloud) ซึ่งเป็นการใช้งานร่วมกันระหว่างคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัว เพื่อผสมผสานข้อดีและอุดข้อเสียจากการใช้งานคลาวด์ทั้ง 2 ประเภท โดยจะได้รับประโยชน์จากความยืดหยุ่นของคลาวด์สาธารณะและความปลอดภัยของการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าในคลาวด์ส่วนตัว

ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีคลาวด์แบบไฮบริดก็ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลได้สักทีเดียว เนื่องจากการรับ-ส่งข้อมูลทำให้เกิดความเสี่ยง และถึงแม้ว่าจะมีการตั้งรหัสข้อมูลแล้วก็ตาม ดังนั้น แผนกไอทีขององค์กรต้องให้ความสำคัญในการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการกำหนดค่าและการวางแผนพัฒนาคลาวด์แบบไฮบริดอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการเทคโนโลยีคลาวด์อีกหนึ่งประเภทที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นคือ มัลติ-คลาวด์ (Multi-cloud) เป็นการนำเอาคลาวด์จากหลายผู้ให้บริการมาใช้งานร่วมกันด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ 1. การเลือกสรรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ตอบสนองเนื้องานแบบเฉพาะ (Best of breed) และ 2. เป็นการปิดช่องโหว่ความเสี่ยงจากการที่องค์กรจะต้องพึ่งพา หรือผูกมัดกับผู้ให้บริการเพียงรายเดียว 

จะเห็นว่า ไม่ว่าองค์กรจะเลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์ประเภทใด ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ ความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องการขาย ศักยภาพทางการเงิน หรือข้อมูลในเชิงธุรกิจอื่น ๆ ที่จะช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทีมงาน ได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก โดยเฉพาะสถานการณ์อย่างโควิด-19 ในเวลานี้ 

ผมเชื่อว่า หลังจากที่เราพ้นวิกฤตการณ์นี้ไป เทคโนโลยีคลาวด์จะยิ่งมีบทบาทที่สำคัญในการตอบสนองวิถีชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เน้นความคล่องแคล่วและความเป็นอิสระ รวมทั้งเป็นการประสานและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G, บิ๊ก ดาต้า หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราทุกคนในอนาคตอันใกล้นี้

บทความโดย จุลยุทธ โล่โชตินันท์  หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OR มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน 3 กลยุทธ์

OR เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิบัติจริง...

Responsive image

MFEC ตั้งเป้า ปี 67 รายได้โต 15% ปักธงฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี

MFEC ตั้งเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้เติบโต 15% และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ชูกลยุทธ์ผสานโซลูชันไอที พร้อมเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโ...

Responsive image

KBank เดินหน้า Net Zero ภายในปี 2030 ชวนธุรกิจไทยรับมือ Climate Game ผ่าน 4 กลยุทธ์

KBank พลิกโฉมสู่ธนาคารแห่งความยั่งยืนรับยุค Climate Game จัดเตรียมยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 ที่อยากชวนธุรกิจไทยก้าวสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ TOGETHER ‘Transitioning Away’ ผ่าน ...