CMMU ชี้เทรนด์ตลาดปี 2020 สินค้า ‘โลกสวยแบบมงลง’ มีโอกาสขายได้สูงกว่า 70% | Techsauce

CMMU ชี้เทรนด์ตลาดปี 2020 สินค้า ‘โลกสวยแบบมงลง’ มีโอกาสขายได้สูงกว่า 70%

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดข้อมูลงานวิจัยการตลาดโลกสวย  Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา  จากกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน พบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74% มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจำนวนผู้บริโภคถึง 37.6% เป็นกลุ่มผู้บริโภคเพื่อโลกสวยที่มองหาเฉพาะผลิตภัณฑ์อีโค่เท่านั้น โดยในจำนวนนั้นเป็นกลุ่ม Baby boomer อายุ 55-73 ปี  และ Gen X  อายุ 39-54 ปี สูงสุด โดยกลุ่มสินค้าที่มาแรงในปี 2563 ได้แก่ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ  สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่มผู้บริโภคโลกสวย แบ่งเป็น  4 ประเภท แบ่งเป็น 1) สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6% 2) สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8% 3) สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7% และ 4) สายโนกรีน จำนวน 26.0%  

ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาดโลกสวย “Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ  ข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือ  www.cmmu.mahidol.ac.th  

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทัศนคติการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกสวยด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลกของตนเอง ส่งผลให้ทุกธุรกิจเผชิญความท้าทาย และต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด ให้เท่าทันเทรนด์รักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยในยุคปัจจุบัน จากข้อมูลงานวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน พบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74% มีทัศนคติที่ให้ความสำคัญ และใส่ใจต่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์อีโค่แบรนด์ การลดการใช้ถุงพลาสติก การพกแก้ว หลอดไปที่ร้านอาหารเอง เป็นต้น อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนถึง 37.6% ที่เป็นสายกรีนตัวแม่ ที่พร้อมจะใช้จ่ายเงินไปกับสินค้า และบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นโอกาสทองของธุรกิจที่ต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์การตลาด เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยเหล่านี้

“ในประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนานแต่ยังไม่เกิดผลในเชิงประจักษ์ เนื่องจากมักมีการรณรงค์เป็นช่วงเป็นสั้นๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดเป็นกระแส อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 มีแนวโน้มที่เทรนด์รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะกลับมาเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้น จากนโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และผู้ประกอบการที่หลากหลาย เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่นักการตลาดจะเร่งดึงกลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวยที่น่าสนใจออกมาสอดรับกับนโยบายดังกล่าว อาทิ การสร้างแรงจูงใจจากส่วนลด ของแถม ให้แก่ผู้บริโภคที่นำถุงผ้า หรือบรรจุภัณฑ์มาเอง เพื่อส่งเสริมแนวคิดการใช้ซ้ำ เป็นต้น การดึงกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ และเข้ากับกระแสจะทำให้แบรนด์สามารถคว้าโอกาสให้กับธุรกิจท่ามกลางกระแสที่ผู้บริโภคโลกสวยกำลังตื่นตัวได้อย่างแน่นอน” ดร.บุญยิ่ง กล่าวสรุป

ด้าน คุณพิมพ์ลดา ธารินทร์ภิรมย์ Project Leader งานวิจัย Voice of Green เพื่อโลก เพื่อเรา ตัวแทนนักศึกษา สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทรนด์การตลาดโลกสวย เริ่มแพร่หลายมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จากการตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ยอมเสียสละความสะดวกสบายบางอย่าง เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลการวิจัยสามารถจัดกลุ่มผู้บริโภคได้ 4 ประเภท แบ่งเป็น 1) สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6% ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 2) สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8% เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมตามกระแสการใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว 3) สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7% ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน และ 4) สายโนกรีน จำนวน 26.0% ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก 

คุณพิมพ์ลดา กล่าวเพิ่มว่า ผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะคนกลุ่ม Baby boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีจากข้อมูลดังกล่าวสามารถจำแนกเป็นกลุ่มผู้บริโภคเพื่อโลก ได้แก่ สายกรีนตัวแม่ สายกรีนตามกระแส สายสะดวกกรีน รวมถึง 74% ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อการบริโภคโลกสวยได้ ซึ่งเป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะสร้างสรรค์สินค้า บริการ และแคมเปญ เพื่อเข้าถึงความต้องการดังกล่าว   

โดยกลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวย ที่จะช่วยทำให้กลุ่มผู้บริโภคสายโนกรีน และสายสะดวกกรีน ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่ กลยุทธ์ “เอ็นไว” (ENVI Strategy) ประกอบด้วย 1. ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ (E: Early) สำหรับผู้บริโภคกลุ่มในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม  ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ 2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที (N: Now or Never) เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ 3. สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง (V: Viral)   นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง และแพร่หลาย (viral)  4. ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (I: Innovative) การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น  

ทั้งนี้ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า “องค์กรธุรกิจ” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามองมากขึ้น องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในปี 2563 ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้า หรือบริการต่อไปนี้

•    สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ 

•    สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เป็นต้น 

•    สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น 

•    สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าผ้าใบดีไซน์สุดติสต์ยี่ห้อ Freitag และแพคเกจจิ้งอาหารกินได้ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาการตลาด “Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา” ยังมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคว่ามีการดำเนินธุรกิจที่ให้คุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลการตัดสินมาจากเสียงของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลแบรนด์ที่รับความนิยมสูงสุดในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Top Green Brand Love) ได้แก่ เอสซีจี และรางวัลองค์กรที่ได้รับความนิยมในฐานะองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Brand Love) โดยมีองค์กรที่ได้รับรางวัลดังกล่าวทั้งหมด 9 องค์กร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...