depa จับมือ 6 สถาบันการศึกษาพัฒนาสื่อการสอน เสริมความรู้ด้านดิจิทัลแก่เยาวชน | Techsauce

depa จับมือ 6 สถาบันการศึกษาพัฒนาสื่อการสอน เสริมความรู้ด้านดิจิทัลแก่เยาวชน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จับมือ 6 สถาบันการศึกษาแนวหน้า พัฒนาสื่อการสอน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” เพื่อส่งต่อให้กับคุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ เดินหน้าเสริมความรู้ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้กับเด็กและเยาวชน กระตุ้นความสนใจ ก่อนนำไปสู่การขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน คาดบทเรียนถูกใช้สอนจริงแก่เด็กและเยาวชนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ พร้อมเตรียมต่อยอดสู่โครงการ Coding in Your Area และ Codekathon

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ โดยเฉพาะการมุ่งปลูกฝังความตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศพัฒนาสื่อการสอนในบทเรียน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” ขึ้น เพื่อส่งต่อให้กับคุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเสริมความรู้ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ จากบริบทใกล้ตัว ช่วยกระตุ้นความสนใจในเทคโนโลยีดิจิทัล และนำไปสู่การขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน

โดยบทเรียน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” ครอบคลุมพื้นฐานความรู้ด้าน Smart Farm, Smart Living, Smart Environment และ Smart Community นำเสนอผ่านเกม เพื่อเป็นสื่อกลางสอดแทรกความสนุกสนานพร้อมกับสาระความรู้ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความหมายกับเด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น ซึ่งบทเรียนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของ ดีป้า และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีสถาบันการศึกษาชั้นนำประจำภูมิภาคเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ขณะที่ทีมวิทยากรจากแต่ละมหาวิทยาลัยประยุกต์เนื้อหาบทเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาคนั้น ๆ ก่อนถ่ายทอดให้กับคุณครู โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับหน้าที่ถ่ายทอดบทเรียนให้กับคุณครูจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคกลาง ตะวันตก และตะวันออก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคใต้ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ถ่ายทอดสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส)

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า ตั้งเป้าให้คุณครูสามารถดาวน์โหลดสื่อการสอนและเรียนรู้วิธีการใช้สื่อฯ ตัวเองผ่านทาง Youtube: depa Thailand ซึ่งคาดว่า บทเรียนนี้จะถูกนำไปใช้สอนจริงแก่เด็กและเยาวชนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ก่อนเตรียมต่อยอดสู่โครงการ Coding in Your Area ที่มุ่งเน้นจุดประกายการเรียนโค้ดดิ้งของเยาวชนให้เป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยการใช้ตัวอย่างนวัตกรรมในท้องถิ่น อาทิ การโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมเครื่องวัดอุณหภูมิการหมักปลาร้า การโค้ดดิ้งเพื่อสร้างนวัตกรรมวัดปริมาณน้ำยางพารา และนวัตกรรมมัสยิดอัจฉริยะ ซึ่งมีแผนจะลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้เยาวชนกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ พร้อมเปิดพื้นที่ให้เยาวชนสร้างสรรค์ และแสดงผลงานนวัตกรรมจริงผ่านเวทีประกวดแข่งขันในโครงการ Codekathon ซึ่งจะสามารถเปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมภายในสิ้นปี 2564

“กิจกรรมถ่ายทอดบทเรียนจัดขึ้นทั้งหมด 10 ครั้ง ผ่านโปรแกรมออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 5 – 14 สิงหาคม 2564 โดยคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับสไลด์บทเรียนและเกมประกอบการสอน อีกทั้งยังได้เรียนรู้เนื้อหาบทเรียนและเทคนิคการสอนที่จะทำให้คุณครูสามารถนำบทเรียนและเกมไปใช้จัดกิจกรรมการสอนจริงได้อย่างมั่นใจ ซึ่งได้รับการตอบรับจากคุณครูกว่า 700 คน โดยหลังจากจัดกิจกรรมเพียง 1 เดือน พบว่ามีคุณครูนำสื่อการสอนไปใช้สอนจริงแล้วกว่า 300 ห้องเรียน มีนักเรียนได้รับความรู้แล้วกว่า 16,000 คน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้ากล่าว

เสียงตอบรับจากนักเรียนและคุณครูผู้สอน

“ทึ่งมากครับที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ ไม่ค่อยได้เห็นอะไรอย่างนี้สักเท่าไหร่ครับ มันเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผมมากครับ” นายณัฐวุฒิ อาษาธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโนนศิลาวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น

“เด็กเค้ามีประสบการณ์น้อย ยิ่งเด็กในต่างจังหวัดอาจไม่ได้เห็นเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ เค้าก็จะรู้จักแค่เทคโนโลยีใกล้ตัว อย่างเช่น นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ (Smart Watch) โทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) เด็กหลายคนยังตื่นเต้นกับกลอนประตูอัจฉริยะ (Smart Door Lock) ที่เราเห็นกันในแทบทุกคอนโดอยู่เลย พอได้บทเรียนนี้มาก็คิดว่าเป็นโอกาสของเด็กที่จะได้เรียนรู้ ได้เตรียมรับมือกับสิ่งที่เค้าจะต้องเจอในอนาคต” นางสาวพิลัดดา ดวงจันทร์ คุณครูโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จังหวัดสงขลา

“บทเรียนนี้ทำให้ผู้เรียนได้เห็นภาพว่าเทคโนโลยีใกล้ตัวเค้ามากขึ้น ทำให้เค้าอาจมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างอุปกรณ์สมาร์ทขึ้นมาด้วยตัวเอง และต่อยอดสู่การเรียนโค้ดดิ้งในอนาคตได้” นายธีรศักดิ์ ศรีประเสริฐ คุณครูโรงเรียนโนนศิลาวิทยาคม จังหวัดขอนแก่ก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

True IDC ทุ่มหมื่นล้านลงทุนธุรกิจ Data Center ตอบโจทย์บิ๊กเทค และยุคของ AI

บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี (True IDC) ผู้นำการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ของประเทศไทยลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจ...

Responsive image

อินโดรามา เวนเจอร์ส ระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์ ผ่าน Syndicated Loan จาก HSBC และ Standard Chartered เตรียมลุยกลยุทธ์ IVL 2.0

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จในการทำสัญญาสินเชื่อเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) มูลค่า 500 ล้านเ...

Responsive image

ETDA จัดงานใหญ่ DGT2024 ดึง 120 องค์กรชั้นนำถ่ายทอดโซลูชั่น ตอบโจทย์ SMEs

ETDA ดึงกว่า 120 องค์กรชั้นนำ จัดงานใหญ่ DGT2024 แลนด์มาร์คคนรุ่นใหม่ จัดเต็ม! โซลูชั่น ตอบโจทย์ SMEs เพื่อคนดิจิทัล 29-30 พ.ค.นี้ ที่พารากอน ฮอลล...