depa เผยมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2562 พุ่งแตะ 31,000 ล้านบาท ตลาดเกมกินส่วนแบ่งกว่า 25,000 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าโตด้วย | Techsauce

depa เผยมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2562 พุ่งแตะ 31,000 ล้านบาท ตลาดเกมกินส่วนแบ่งกว่า 25,000 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าโตด้วย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้าปี 2561-2562 ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 2562 โตขึ้นจากการขยายตัวของตลาดเกม ส่วนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า เติบโตต่อเนื่อง กูรูคาด 5G หนุน 2 อุตสาหกรรมควงแขนโตต่อปีนี้  

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยในงานแถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้าปี 2561-2562 ที่จัดร่วมกับสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) เผยผลสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้าของปี 2561-2562 ในประเทศไทย โดยครอบคลุมสามสาขาหลักได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ และบิ๊กดาต้า ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 2562 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 11.51% คิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรม 31,080 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปี 2561 ที่ 27,873 ล้านบาท และ 25,040 ล้านบาทในปี 2560 

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปีก่อนเติบโตมาจากตลาดเกมที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดที่ 15.96% คิดเป็นมูลค่า 25,440 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากการเปิดตัวเกมใหม่ของผู้ประกอบการไทย และคนไทยนิยมเล่นเกมไทยมากขึ้น ประกอบกับสมาร์ทโฟนรุ่นพื้นฐานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและจูงใจต่อการเล่นเกม

ขณะที่ตลาดแอนิเมชันหดตัวเฉลี่ย 6.53% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,494 ล้านบาท เนื่องจากความนิยมของประชาชนที่เปลี่ยนจากการชมเพย์ทีวีและฟรีทีวีในประเทศไปเป็นสตรีมมิงต่างประเทศ ซึ่งสถิติรายได้จากบริการสตรีมมิงบางส่วนไม่ถูกรวมในการสำรวจ เช่นเดียวกับตลาดคาแรคเตอร์ที่หดตัว 2.32% มีมูลค่ารวม 2,146 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดคาแรคเตอร์มาจากความนิยมสติ๊กเกอร์ LINE ลดลง ขณะที่อัตราการจ้างงานจากต่างประเทศหดตัวลงเล็กน้อยต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ส่วนรายได้จากผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า และผู้ดูแลลิขสิทธิ์หดตัว เพราะผลพวงทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าที่มีแบรนด์คาแรคเตอร์ลดลง

ในส่วนของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าไทยปี 2562 พบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.64% คิดเป็นมูลค่า 13,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12,129 ล้านบาทในปี 2561 โดยตลาดที่มีเม็ดเงินสะพัดมากที่สุดคือ ส่วนบริการ และส่วนซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์

บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ลดลง

บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ลดลง 12.04% เหลือ 5,021 คน จาก 5,708 คนในปี 2561 บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2562 ลดลง 12.04% เหลือ 5,021 คน จาก 5,708 คน ในปี 2561 เพราะรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบันผู้ประกอบการนิยมเอาส์ซอร์สงานทดแทนการจ้างพนักงานประจำ เพื่อลดภาระต้นทุนคงที่ 

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี คาดการณ์ว่า ปี 2563 การให้บริการบนคลื่นความถี่ 5G และการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยและบิ๊กดาต้าเติบโตต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ปี 2563 อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะขยายตัวขึ้นอีก 10.1% คิดเป็นมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 34,229 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากตลาดเกมที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากในช่วงของวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในทางกลับกัน การผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันในนี้ต้องหยุดชะงักไป คาดว่าส่งผลให้ตลาดแอนิเมชันมีแนวโน้มจะหดตัวเพิ่มขึ้น  เช่นเดียวกับความนิยมการบริโภคสติ๊กเกอร์ LINE ในตลาดคาแรคเตอร์เริ่มลดลง แต่โดยรวมยังคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยมูลค่าอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 45,094 ล้านบาทในปี 2565 โดย ดร.กษิติธร ได้กล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจสถานภาพและคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้ ดีป้า ต้องเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการต่อยอด พัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกมให้มีพื้นที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ต่อผู้พัฒนาเกม (game developer) เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากประเทศพัฒนาเกมชั้นนำ เช่น เกาหลี จีน ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเกม ให้ก้าวหน้า และเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดโลก

ส่วนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าปี 2563 จะขยายตัวจากการเข้าสู่ยุคแห่งการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทุกภาคส่วนเล็งเห็นประโยชน์ในการใช้บิ๊กดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกให้ใช้บริการแบบเช่าใช้ ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจลงทุน

ทั้งนี้ การสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และบิ๊กดาต้า เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นผลงานที่ดีป้าจัดทำต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้สถานภาพปัจจุบันของอุตสาหกรรม และข้อมูลคาดการณ์ที่บ่งชี้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในแต่ละปี โดยดีป้าจะขยายขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมมิติอื่นเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งดีป้ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา Digital Pulse ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั้งดัชนีชี้วัดระดับสากล และฐานข้อมูลที่ดีป้าสำรวจเองทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการที่จะเป็นฐานข้อมูลและแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัล  และความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำรวจและนำเสนอผลรายไตรมาส  ตลอดจนการสำรวจฝั่งผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยในระยะแรกโฟกัสที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิตเป็นอันดับแรก และจะขยายผลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และบริการต่อไปในอนาคตอันใกล้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...