DEXON ลุยโรดโชว์ เสนอขาย IPO 123.18 ล้านหุ้น หลังปักหมุดขยายธุรกิจไปยังสหรัฐฯ-ยุโรป | Techsauce

DEXON ลุยโรดโชว์ เสนอขาย IPO 123.18 ล้านหุ้น หลังปักหมุดขยายธุรกิจไปยังสหรัฐฯ-ยุโรป

DEXON เดินสายโรดโชว์ หนุนเสนอขาย IPO 123.18 ล้านหุ้น หลังปักหมุดขยายธุรกิจไปยังสหรัฐฯ-ยุโรป ประเดิมที่ระยอง ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ และปิดท้ายที่กรุงเทพฯ โชว์พื้นฐานธุรกิจแกร่ง มั่นใจได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน

คุณมัลลิกา แก่กล้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ DEXON ในฐานะ ผู้ให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรม และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพในการผลิตเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบและการประเมินความสมบูรณ์ของระบบท่อส่ง (Pipeline Integrity)  เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่ง DEXON เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯเตรียมที่จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน หรือโรดโชว์ โดยจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน 5 จังหวัด

ประกอบไปด้วย จังหวัดระยองในวันที่ 10 มีนาคม 2566 จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 13 มีนาคม 2566 จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 14มีนาคม 2566 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในวันที่ 15 มีนาคม 2566 และปิดท้ายการนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุนที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 17 มีนาคม 2566

โดยจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai และจะมีการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO  จำนวน 123.18 ล้านหุ้น ราคา PAR 0.50 บาท/หุ้น ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินคือ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ในการพิจารณากำหนดราคาหุ้น IPO จะต้องมีการดูปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตของบริษัทในอนาคต (ในมุมมองของ DEXON เท่านั้น) รวมทั้งนโยบายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิที่เหลือจากการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองตามกฎหมาย 

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อ 

1.ขยายธุรกิจไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 

ซึ่งมีระบบท่อนำส่งที่ซับซ้อนและเก่าแก่ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบทางกฎหมาย และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยมุ่งเน้นที่จะให้บริการโดยเฉพาะ Crack detection and sizing และ Furnance Inspection รวมทั้งบริษัทมีแผนที่จะตั้งบริษัทย่อยที่สหรัฐอเมริกาภายในปี 2566-2567 ด้วยเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 70 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเช่าและปรับปรุงอาคาร เครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจสอบท่อโดยเทคโนโลยีชั้นสูง 

2.ขยายธุรกิจไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ (ทวีปยุโรป) 

บริษัทมีแผนการตลาดที่จะนำเสนอการบริการ ผ่านการจัดนิทรรศการ และการให้ทีมการตลาดเข้าหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรง ผ่านบริษัทย่อยในประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ บริษัท ดาคอน ยุโรป บีวี 

ซึ่งบริษัทดังกล่าวจัดตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2564 เพื่อเตรียมที่จะให้บริการลูกค้าในทวีปยุโรป และประเทศในแถบอเมริกาใต้ ที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Agreement) รวมทั้งบริษัทมีแผนที่จะลงทุนในบริษัท ดาคอน ยุโรป บีวี ภายในปี 2566-2567 ด้วยเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 50 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเช่าและปรับปรุงอาคาร เครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจสอบท่อโดยเทคโนโลยีชั้นสูง ค่าใช้จ่ายพนักงาน ฝึกอบรม ทำการตลาด

3.การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา 

แบ่งเป็นลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการ ประมวลผล, เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาตรวจสอบอุปกรณ์ท่ออัจฉริยะ Intelligent Pigging , เพื่อลงทุนในอุปกรณ์อัตโนมัติ หุ่นยนต์สำหรับผลิต ทรานสดิวเซอร์ (Transducer) และตัวเชื่อมต่อทนแรงดันสูงใต้ทะเล

4.เพื่อชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวน 110 ล้านบาท 

5.เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ (ส่วนที่เหลือ) 

ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าในปี 66 รายได้เติบโต 25% หลังจาก ได้เงินระดมทุนจากการขายหุ้น IPO เนื่องจากการขยายตลาดไปสหรัฐอเมริกากับเนเธอร์แลนด์สามารถเพิ่มโอกาสในการได้รับงานมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถเติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2565 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ได้แก่ งานตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 106.79  ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปี 2566 อยู่ที่ 99.01 ล้านบาท, ปี 2567 อยู่ที่ 6.78 ล้านบาท, ปี 2568  อยู่ที่ 1 ล้านบาท 

ต่อมาคืองานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสิ้น 58.58 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ปี 2566 อยู่ที่ 28.58 ล้านบาท  

ซึ่งธุรกิจของบริษัทมีสัญญาระยะยาวน้อย ส่วนใหญ่ลูกค้าจะใช้บริการตรวจสอบในข่วงระยะเวลาสั้น แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าเก่าจะกลับมาใช้บริการกับบริษัทเป็นประจำ ทั้งนี้รายการ backlog ด้านบนคือรายการที่ได้รับการแจ้งการสั่งซื้อไว้และรอส่งมอบ ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของรายได้ทั้งหมด

ทั้งนี้รายได้ปี 2022 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 435 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 479.4% จากปีก่อนที่ 18 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ เฉลี่ยปี 2020-2022 แบ่งเป็น เทคโนโลยีไม่ทำลายขั้นสูง 41% , ตรวจสอบท่อขั้นสูง 31%, เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน 21%, ออกแบบวิศวกรรม 1%, ฝึกอบรม 2%, วิจัยและพัฒนา 4% 

DEXON

กลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ ได้แก่ ปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, โรงไฟฟ้า, กังหันลม, ก่อสร้าง, ขนส่ง และอื่น ๆ เช่น กิจการ, ท่าเรือ, เหมืองแร่, อุตสาหกรรมเหล็ก 

อย่างไรก็ตามภาพรวมของบริษัทฯ ที่ให้บริการแก่ลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และขยายการให้บริการสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวข้องเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้บริษัทยังมุ่งพัฒนาการให้บริการ และคิดค้นนวัตกรรมไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก 

ทั้งนี้ IEA ได้มีการวิเคราะห์แนวโน้มการใช้พลังงานขั้นต้นทั่วโลกในช่วงปี 2021-2050 ความต้องการการใช้นำ้มันจะลดลงตั้งแต่ปี 2030 และจะลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องจนไปถึง 2050 ขณะที่ก๊าซธรรมชาติยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2027 และจะค่อย ๆ ลดอัตราความต้องการลง ส่วนถ่านหินคาดว่าความต้องการจะเริ่มลดลงในปี 2025 และจะลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนความต้องการการใช้พลังงานทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจาก  601 พันล้านบีทียูในปี 2020 เป็น 886 พันล้านบีทียู ในปี 2050 หรือประมาณร้อยละ 32 เป็นการเพิ่มขึ้นของความต้องการพลังงานจากประเทศที่กำลังพัฒนา ในสัดส่วนร้อยละ 68  ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการเข้าถึงตลาดพลังงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว 

ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้น 5.7  ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดยบริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทฯ ได้เตรียมข้อมูลธุรกิจซึ่งมีความแข็งแกร่ง ซึ่ง DEXON เป็นผู้ให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรม และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบโครงสร้าง และอุปกรณ์การผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม พลังงาน ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ซึ่ง DEXON มีทีมผู้เชี่ยวชาญ และทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ รวมถึงให้บริการด้วยมาตรฐานทางเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัย โดยที่บริษัทสามารถพัฒนาขึ้นเอง ได้รับการยอมรับ และได้รับใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ จากหน่วยงานรับรองระบบในระดับสากล 

โดยมีรูปแบบการให้บริการตามโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 

1. การบริการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advance Inspection Technology) 

2. การบริการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน (Conventional Inspection Technology) 

3. การบริการฝึกอบรมด้านการตรวจสอบ (Training Services) 

4. การให้บริการออกแบบทางด้านวิศวกรรม ประกอบ ติดตั้งและซ่อมบำรุง (Engineering design, Assembly, Installation and Maintenance Service)

ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ (ทวีปยุโรป) รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยเน้นให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรมระบบท่อด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Smart Pigging Technology) ที่มีคู่แข่งในตลาดน้อยราย โดยเฉพาะการตรวจสอบรอยแตกขนาดเล็กในระบบท่อส่งที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่มีเทคโนโลยีสูงที่บริษัทพัฒนาขึ้น (Hawk Pipeline Crack Detection and Measurement System), ลงทุนในงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า 

และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่นการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การตรวจสอบระบบท่อส่งเพื่อรองรับการแปลงไปสู่การใช้งานของก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen Energy Conversion) ที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในระบบท่อส่งจากเดิมเป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นการขนส่งก๊าซไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, ชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับบริษัท

ในขณะเดียวกัน DEXON ยังมีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อขยายการให้บริการ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจรได้อย่างครอบคลุม โดยจัดตั้งบริษัทย่อยได้แก่ 

1. บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี พีทีอี ลิมิเต็ด (DTS) ให้บริการลูกค้าในประเทศสิงคโปร์ และประเทศข้างเคียง 

2. บริษัท เด็กซ์ซอน เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด (DTC) ให้บริการการฝึกอมรบเพื่อส่งเสริม และยกระดับความรู้ความสามารถแก่บุคลากรทั้งภายใน และภายนอกบริษัท 

3. บริษัท เด็กซ์ซอน เมคคานิคอล โซลูชั่นส์ จำกัด (DMS) ให้บริการงานออกแบบทางวิศวกรรม งานประกอบ งานโครงสร้าง และงานให้บริการบุคลากรทางด้านเครื่องกล และซ่อมบำรุงทั้งในส่วนงานท่อ และโครงสร้าง ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี 

4. บริษัท ดาคอน ยุโรป บีวี (DEBV) (อยู่ระหว่างเปลี่ยนชื่อจาก ดาคอน เป็น เด็กซ์ซอน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2566) จัดตั้งในเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมลูกค้าในแถบอเมริกาใต้ และลูกค้าในกลุ่มยุโรป ซึ่งได้รับประโยชน์ทางภาษีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าด้วยการเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Double Tax Treaty) โดยเน้นการให้บริการการตรวจสอบท่อโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advance Inline Inspection)

“เรามีความพร้อมอย่างยิ่งในการเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน ซึ่งด้วยพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และโอกาสในการเติบโตในอนาคต ทำให้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้ง 5 จังหวัด และทั้ง 5 จังหวัดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าจะสามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้อย่างแน่นอน” คุณมัลลิกากล่าว

คุณวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ DEXON เปิดเผยว่า DEXON เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO จำนวน 123,183,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท คิดเป็น 25.85% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ โดยภายหลังได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้น IPO และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ รวมถึงเดินทางนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุนเรียบร้อยแล้ว จะกำหนดวันที่เสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะนำ DEXON เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เร็ว ๆ นี้

ในขณะที่ผลประกอบการของ DEXON ในปี 2563-2565 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย และบริการ 438.97 ล้านบาท 433.46 ล้านบาท และ 608.51 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 11.04 ล้านบาท 18.15 ล้านบาท 105.15 ล้านบาท ตามลำดับ  ซึ่งรายได้ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 175.04 ล้านบาท เติบโต 40.38% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และมีกำไรสุทธิในปี 2565เพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท เติบโต 479.33% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564  เนื่องจากลูกค้าต่างประเทศเป็นหลักตามสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลายและบริษัทสามารถเดินทางไปให้บริการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่เผชิญวิกฤต COVID-19 มาตั้งแต่ปี 2563

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OR มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน 3 กลยุทธ์

OR เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิบัติจริง...

Responsive image

MFEC ตั้งเป้า ปี 67 รายได้โต 15% ปักธงฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี

MFEC ตั้งเป้าหมายปี 2567 สร้างรายได้เติบโต 15% และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี ชูกลยุทธ์ผสานโซลูชันไอที พร้อมเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโ...

Responsive image

KBank เดินหน้า Net Zero ภายในปี 2030 ชวนธุรกิจไทยรับมือ Climate Game ผ่าน 4 กลยุทธ์

KBank พลิกโฉมสู่ธนาคารแห่งความยั่งยืนรับยุค Climate Game จัดเตรียมยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 ที่อยากชวนธุรกิจไทยก้าวสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ TOGETHER ‘Transitioning Away’ ผ่าน ...