ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) อาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลายในแง่ของการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทย เทียบเท่ากับต่างประเทศที่วันนี้เดินหน้าไปแล้วหลายช่วงตัว ตัวอย่างเช่น MedRec นำเทคโนโลยีบล็อกเชน ใช้ในการจัดการประวัติการรักษาให้กับผู้ป่วยด้วย Ethereum บน Blockchain ช่วยให้การเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาลจากทุกโรงพยาบาลที่เคยไปรับการรักษาทำให้การวิเคราะห์ทำได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
แม้แต่การบริจาคและระดมทุนก็สามารถนำบล็อกเชนเข้าไปพัฒนาอย่างกรณีของ Helperbit Startup ในอิตาลี ที่ทำให้เส้นทางของเงินบริจาคตรวจสอบได้ว่าถูกส่งไปถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ยังมีที่รับรู้กันอย่างมากกับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในแวดวงการเงินการธนาคารที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อย้อนมองกลับมาที่ประเทศไทย วันนี้นับว่ายังเพิ่งเริ่มต้น
เทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาไปไกลมากแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำก็คือเร่งสร้าง “คน” ที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถต่อยอดบล็อกเชนสู่การทำงานได้จริงในภาคธุรกิจและสังคม
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และหนึ่งในทีมผู้สอนโครงการ Geeks on the Block(chain) Batch#1 โดย DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า จากนี้จะได้เห็นถึงการนำบล็อกเชนไปปรับใช้กับองค์กรต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนที่มีผลมาจากบล็อกเชน เช่น ที่สหรัฐอเมริกาเปิดให้ใช้ระบบการเงินออนไลน์ผ่านทาง Bitcoinทำให้การโอนเงิน จ่ายเงิน เกิดความความโปร่งใส และ ยืนยันความเป็นเจ้าของได้ ด้วยการทำงานที่รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนจุดเริ่มต้นของหลักสูตร Geeks on the Block(chain) Batch#1 มีขึ้นเพื่อต้องการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยเฉพาะนักพัฒนาโปรแกรมบล็อกเชนให้เข้าใจพื้นฐาน โครงสร้าง จนถึงการเขียนโปรแกรม (Coding) แล้วไปใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ
Geeks on the Block(chain) Batch#1 เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พ.ศ.2562 จนเดินทางมาถึงวัน Damo Day เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี 5 ทีมนำเสนอผลงาน กิจกรรมจัดขึ้นที่ True Digital Park ประกอบด้วย
- CannaBlock ทีมที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปบริหารจัดการ “กัญชา” เพื่อให้รู้เส้นทางตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงการแปรรูปและถึงมือผู้บริโภค
- Gross Domestic Happiness แนวคิดของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ให้คะแนนความสุขของคนในประเทศ
- Real Time Democracy ทีมที่มองถึงความสำคัญของการใช้สิทธิของผู้บริโภคที่ไม่เฉพาะช่วงเวลาของการเลือกตั้งเท่านั้น
- Social Scoring แนวคิดการพัฒนาของทีมนี้เริ่มจากการให้คะแนนกับการทำดี โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการให้คะแนน
- TRAFFIX การจัดการปัญหาจราจรโดยดึงการใช้รถจากถนนเส้นหลักที่หนาแน่นไปสู่ถนนสายรองที่คล่องตัวมากกว่า
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงงาน Geeks on the Block(chain) Batch#1 DEMO Dayว่า หลังจากจบหลักสูตร บล็อกเชน ผู้เข้าอบรมจะต้องจัดทำโปรเจคจริง มีทั้งหมด 5 กลุ่ม 5 โปรเจคซึ่งสามารถนำไปใช้ได้เลย
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)สำหรับโปรเจคเหล่านี้ถือเป็นการประยุกต์การใช้บล็อกเชนในหลายๆมิติ หากกล่าวถึงบล็อกเชน ส่วนใหญ่คนจะทราบว่าเทคโนโลยีนี้มาแรงแต่ก็ยังไม่เข้าใจว่า บล็อกเชนจะเกี่ยวข้องกับชีวิตได้อย่างไร
โปรเจคเหล่านี้จะเป็นการเปิดมุมมองว่า บล็อกเชนสามารถนำมาใช้ได้ในทุกธุรกิจ ขอแค่เข้าใจเท่านั้นเอง
บล็อกเชนเป็นการรวมทุกอย่างมาในลูปนี้ โดยที่แต่ละคนสามารถใส่ข้อมูลอะไรเข้าไปได้ โดยที่ข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นๆ จะปลอดภัย
สิ่งสำคัญสำหรับบล็อกเชนคือ การสร้างความน่าเชื่อถือ อนาคตอาจจะตัดตัวกลางอะไรบางอย่างออกไปแต่อาจจะมีตัวกลางใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่ตัวกลางเดิม ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ อุตสาหกรรมถ้าใครประยุกต์ใช้ได้ก่อนก็จะได้เปรียบคนอื่น
จากผลงานของผู้เข้าอบรม ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า วิธีการนำเสนอไม่ได้นำเสนอเฉพาะไอเดียโปรเจ็คเพียงอย่างเดียว แต่เรานำเสนอโค้ด แนวคิด ที่มาโครงสร้าง ของการเขียนโปรแกรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการอบรมสามารถโค้ดได้ วางแผน สตรัคเจอร์ แล้วเดโมงานได้
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ภาพรวมน่าสนใจอยู่ที่ บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจกว่าแต่ก่อนมาก เห็นได้จากงานนี้ก็มีคนมานั่งฟังการนำเสนอผลงานและต้องการทราบถึงคอนเซ็ปการเอาบล็อกเชนไปใช้ว่าทำอะไรได้บ้าง
ในงานยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง “ผู้รู้” ที่เชี่ยวชาญในโลกบล็อกเชน และผู้ที่สนใจ เกิดเป็นบรรยากาศของคอมมูนิตี้ที่ดี สร้างสรรค์ความคิด และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
จาก บล็อกเชน คอมมูนิตี้ ที่เริ่มต้น ดร.พณชิต เชื่อว่า สังคมแห่งการเรียนรู้และสร้าง “คนเก่ง” ในโลกของบล็อกเชนจะเป็นภารกิจสำคัญของ DPU X นับจากนี้ เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยี บล็อกเชน จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลง การสร้างความเชื่อถือระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลดีในระยะยาวในเชิงโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศ