EIC ชี้เเนวทางโอกาสลงทุนผ้าทำหน้ากากอนามัย เพื่อคนไทยมีใช้อย่างยั่งยืน | Techsauce

EIC ชี้เเนวทางโอกาสลงทุนผ้าทำหน้ากากอนามัย เพื่อคนไทยมีใช้อย่างยั่งยืน

EIC มองว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตหน้ากากอนามัย ได้แก่ ธุรกิจผลิตผ้าชั้นใน ผ้าชั้นนอก และแผ่นกรองของหน้ากากอนามัย ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อให้ supply chain ของการผลิตหน้ากากอนามัยครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ แม้ในยามวิกฤตที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

หน้ากากอนามัยที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่ หน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์ (Surgical masks) และหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง (Respirator masks) โดยมีความแตกต่างกันที่ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง จัดเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ป้องกันอนุภาคขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย ผลิตจากผ้าแบบไม่ถักไม่ทอ (non-woven) ที่ขึ้นรูปโดยใช้เส้นใยจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งหน้ากากทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันที่ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค สำหรับหน้ากากทางการแพทย์จะกรองอนุภาคในระดับ 3 ไมครอน มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกัน

การติดต่อของเชื้อโรคทั้งในรูปแบบของสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง และเลือด หรือละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากและจมูก ส่วนหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองจะใส่กระดาษกรองที่ช่วยกรองอนุภาคในระดับ 0.3-0.1 ไมครอน เช่น หน้ากาก N95 ที่สามารถกรองฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน

ความแตกต่างของ Surgical mask และ Respirator mask

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Medical Device Intelligence Unit

ผ้าและแผ่นกรองหน้ากากอนามัยซึ่งทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี polypropylene เป็นส่วนประกอบสำคัญใน supply chain ของการผลิตหน้ากากอนามัย อุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยในส่วนต้นน้ำผลิตผ้าชั้นใน ผ้าชั้นนอก และแผ่นกรอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของหน้ากากอนามัยทั้งสองแบบ 

โดยผ้าชั้นในและชั้นนอกผลิตจากเส้นใยไม่ถักไม่ทอประเภท polypropylene non-woven ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เส้นใยจาก polypropylene เนื่องจากมีจุดหลอมเหลวต่ำเมื่อเทียบกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ เหมาะที่จะนำมาหลอมเพื่อทำเป็น melt-blown non-woven โดยเส้นใยดังกล่าวจะมีลักษณะเล็กละเอียดในระดับนาโนเมตร-ไมโครเมตร มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก 

แต่ระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าทออื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เหมาะแก่การใช้แล้วทิ้ง ดังนั้น ผ้า polypropylene non-woven จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัย โดยผ้า polypropylene non-woven 1 ล้านตัน จะสามารถผลิตเป็น Surgical masks ได้ราว 1.3 ล้านชิ้น และ Respirator masks ได้ราว 2.7 แสนชิ้น

Supply chain อุตสาหกรรมหน้ากากอนามัย มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การผลิตผ้า non-woven ในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Medical Device Intelligence Unit

การระบาดของ COVID-19 ทำให้ปริมาณหน้ากากอนามัยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ว่าอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ PPE อย่างหน้ากากอนามัย ถุงมือ มีความต้องการพุ่งสูงขึ้นถึง 100 เท่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้รองรับ

ความต้องการที่สูงขึ้น เช่น บริษัท 3M ซึ่งเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ขยายกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในปี 2020 จาก 400 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 1,100 ล้านชิ้นต่อปี และวางแผนว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 2,000 ล้านชิ้นต่อปี ภายใน 12 เดือนนี้ เพื่อรองรับความต้องการทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่ใส่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 

สำหรับประเทศไทยโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรง ผลิตหน้ากากอนามัยได้ราว 40.5 ล้านชิ้นต่อเดือน ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในภาวะปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัยของไทยอยู่ที่ประมาณ 30 - 40 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว มาอยู่ที่ความต้องการราว 200 ล้านชิ้นต่อเดือน ในขณะที่การนำเข้า

ทำได้ยากเนื่องจากหลายประเทศจำกัดการส่งออก เช่น สหรัฐฯ และหลายประเทศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เช่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับไทยที่กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2020 ห้ามไม่ให้มีการส่งออก ทั้งนี้หาก COVID-19 ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือนจะทำให้ปัญหาภาวะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลงได้ในช่วงต่อไป แต่ปัญหามลพิษทางอากาศ กระแสรักษ์สุขภาพ และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยด้านระบบทางเดินหายใจที่มีมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุน

ความต้องการหน้ากากอนามัยของไทยในอนาคต จากข้อมูลของ WTO มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนต่อปี จากการสะสมและสูดอากาศเป็นพิษเข้าไปในร่างกาย และมีผู้ป่วยราว 334 ล้านคน ที่ต้องทนทุกข์กับโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดอักเสบ ซึ่ง WTO ได้แนะนำว่าการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองอย่าง N95 จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้ สำหรับประเทศไทยนั้น มลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและกินระยะเวลายาวนาน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในกรุงเทพฯ มีค่าเกินระดับมาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม กินระยะเวลาเกือบ 5 เดือน อีกทั้งยังมีฝุ่นจากหมอกควันไฟป่าทั้งในประเทศและข้ามประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคใต้จะพบมากในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข  จำนวนผู้ป่วยในที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใส่หน้ากากอนามัย เช่น ไข้หวัดใหญ่ 

ปอดบวม หลอมลมอักเสบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2013 มีผู้ป่วยราว 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.8 ล้านคนในปี 2018 คิดเป็นการเติบโต 4% ต่อปี สำหรับผู้ป่วยนอกมีจำนวนค่อนข้างผันผวนในแต่ละปี ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2018 จำนวนผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมาใช้บริการสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึงเกือบ 23 ล้านครั้ง

ปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในกรุงเทพมหานคร ปี 2016-2019 เกินค่ามาตรฐานช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม กินระยะเวลานานเกือบ 5 เดือน

 ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ

ไทยมีปัจจัยส่งเสริมในการผลิตหน้ากากอนามัยภายในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ อีกทั้งภาครัฐยังให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์อีกด้วย วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตหน้ากากอนามัยได้แก่เม็ดพลาสติก polypropylene ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว โดย EIC ประเมินว่าหากต้องนำเม็ดพลาสติก polypropylene ไปผลิตหน้ากากอนามัยให้มีเพียงพอใช้ครบทุกคนราว 70 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเป็นหน้ากากแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และใช้ติดต่อกัน 5 เดือน 

ตามระยะเวลาที่ฝุ่น pm 2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน จะมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยราว 10,500 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจะใช้ polypropylene ราว 42,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ในปี 2019 ไทยมีกำลังการผลิต polypropylene กว่า 2.5 ล้านตันต่อปี แต่มีการผลิตจริงที่ 2.1 ล้านตัน และถูกนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเส้นใยราว 5% ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งปริมาณการผลิต polypropylene ของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกได้ราว 9.5 แสนตันในปี 2019 

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ จากข้อมูลของ Medical Devices Intelligence Unit ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เช่น ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้งในแต่ละเขต

นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้าน Medical Tourism ซึ่งจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2010-2018 เติบโตสูงถึงปีละ 8.52% อีกทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยจะมีทั้งโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย และการตรวจรักษาโรคทั่วไป ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2020 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023 จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญจากทางภาครัฐที่จะทำให้ตลาดหน้ากากอนามัยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 

กำลังการผลิต ปริมาณการผลิต ความต้องการใช้ PolyPropylene ของไทย และการนำ PolyPropylene ไปผลิตเป็นเส้นใย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Wood Mackenzie

อย่างไรก็ตาม การลงทุนผลิตหน้ากากอนามัยของไทยยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปัญหาสำคัญในระยะสั้นที่ทำให้ไทยไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในทันที คือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตผ้า และแผ่นกรองหน้ากากอนามัย melt-blown ต้องนำเข้าจากจีนเป็นหลักซึ่งทำได้ยากลำบากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพราะจีนควบคุมการส่งออก สำหรับผู้ผลิตไทยที่มีเครื่องจักรอยู่แล้วต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากส่วนประกอบที่เป็นผ้า และแผ่นกรอง melt-blown หายากและต้องรอสินค้าจากจีนเป็นเวลานาน ต้นทุนของผ้าดังกล่าวยังสูงขึ้นมาก 

จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ย 80-100 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 1,700-2,000 บาทต่อกิโลกรัม เพราะโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั่วโลกมีความต้องการสูงมาก ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไทยควบคุมราคาไม่ให้ขายเกิน 2.50 บาทต่อชิ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้นำเข้าหน้ากากอนามัย และผู้ผลิตหน้ากากอนามัยที่ต้องนำเข้าผ้า/แผ่นกรองมาผลิตต่อ ให้คำนวณราคาขายจากต้นทุน บวกค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าผลตอบแทนจากการขาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ไม่เกิน 10% ของต้นทุน  สำหรับความท้าทายในระยะยาว ผู้ผลิตไทยต้องพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ทั้งตลาด

ในประเทศที่มีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศส่งออกมาตีตลาด และตลาดส่งออกที่ผู้ผลิตไทยส่งออกหน้ากากอนามัยไปขายยังต่างประเทศ โดยคู่แข่งสำคัญคือ จีน และไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดของหน้ากากอนามัยกว่าครึ่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายเรื่องเทคโนโลยีการผลิต โดยไทยยังไม่สามารถผลิตเครื่องจักรทำผ้า melt-blown ได้เอง ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่ง Exxon เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาการผลิตผ้า melt-blown ในอุตสาหกรรม 

EIC มองว่าแม้ไทยจะมีความท้าทายหลายด้าน แต่ในระยะยาวการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตหน้ากากอนามัยควรต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยไปทั่วโลก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอาจไม่ใช่ประเด็นเรื่องของผลกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชนที่ต้องคำนึงถึง ไทยจึงต้องมีอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อผลิตผ้า polypropylene non-woven และแผ่นกรอง โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ในระยะยาว เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ supply chain ของการผลิตหน้ากากอนามัยครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า แม้ในยามวิกฤตที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต ในยุคที่ความมั่นคงทางสุขภาพได้เข้ามามีบทบาทเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) และหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ของมันต้องมี”

บทวิเคราะห์โดย scbeic.com

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...

Responsive image

AstraZeneca รับรางวัล Most Innovative Company จาก BCCT จากความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม AI ด้านสุขภาพ

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข้ารับรางวัล Most Innovative Company (รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม) จาก สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู...

Responsive image

Gourmet Market เปิดตัวรถเข็น Smart Cart ครั้งแรกในไทย ค้นหาสินค้า หาโปรโมชัน คิดเงิน ครบจบในคันเดียว

กูร์เมต์ มาร์เก็ต ยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งสู่ยุคดิจิทัล เปิดตัว “Gourmet Market Smart Cart” เจ้าแรกในประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Shopping Made Easy at Once” ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซูเ...