EIC เผย 5 ข้อสะท้อนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย | Techsauce

EIC เผย 5 ข้อสะท้อนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย

5 ข้อค้นพบสะท้อนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย

  • เศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทยอยู่ในสภาวะซบเซา ทั้งรายได้และการใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
  • สถานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบางมากขึ้น จากภาระหนี้ที่ยังเพิ่มขึ้น อัตราการออมที่ลดลง และกันชนทางการเงิน (financial cushion) ที่มีน้อยลง
  • เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการประคับประคองกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยในช่วงที่ความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและยังมีความเปราะบางสูง

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย (Household Socio-Economic Survey หรือ SES) ซึ่งจัดทำด้วยการสำรวจครัวเรือนจำนวนกว่า 4 หมื่นครัวเรือนในทุก ๆ 2 ปีโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ EIC นำเอาข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามี 5 ข้อค้นพบน่าสนใจที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

Fact 1: รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีสวนทาง GDP ที่ยังเติบโต

  • ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลงสวนทางกับ GDP ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากในปี 2017 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปีจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้รายได้ครัวเรือนที่ลดลงนั้นสวนทางกับเศรษฐกิจเมื่อวัดจาก nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน (คำนวณเทียบ nominal GDP รวม 4 ไตรมาสย้อนหลังนับจากช่วงครึ่งแรกของปี 2017 เทียบกับของทั้งปี 2017) 
  • รายได้ครัวเรือนลดลงทั้งในส่วนที่มาจากการทำงานเป็นลูกจ้าง (ค่าจ้าง) และจากการประกอบธุรกิจ (กำไรจากกิจการ) โดยมีรายละเอียดในแต่ละแหล่งที่มารายได้ ดังนี้
  • รายได้ครัวเรือนจากการทำงานเป็นลูกจ้างลดลงจากปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้าง จาก 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2017 เหลือ 21,879 บาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 หรือลดลง -1.6% อีไอซีวิเคราะห์ว่าการลดลงของรายได้ค่าจ้างของครัวเรือนมีสาเหตุมาจากจำนวนคนทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนที่ลดลง รวมไปถึงอัตราค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (การลดการใช้แรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (การเกษียณอายุของแรงงานตามโครงสร้างประชากร และการนำเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมาใช้) 
  • รายได้ครัวเรือนจากกำไรกิจการลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยกำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ลดลง -4.8% จาก 2 ปีก่อนหน้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมที่เผชิญกับทั้งภัยแล้งและปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ทั้งนี้กำไรกิจการการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ส่วนรายได้ครัวเรือนที่มาจากกำไรกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 19,269 บาท ลดลงจาก 18,685 บาทในปี 2017 หรือลดลง -3.0% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่
  • สำหรับรายได้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว โดยรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2017 คาดว่าสาเหตุที่รายได้ในส่วนนี้ทรงตัวมาจากเงินออมเฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ

Fact 2: การใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นกัน

  • ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2017 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ทั้งนี้การลดลงของการใช้จ่ายยังอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายในหลายหมวด โดยเฉพาะรายจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบระหว่างช่วงครึ่งแรกของปี 2019 และปี 2017 ในแต่ละหมวดรายจ่ายพบว่า ครัวเรือนมีการลดรายจ่ายในสินค้าจำเป็นบางรายการ เช่น หมวดอาหารซึ่งเป็นหมวดที่มีสัดส่วนรายจ่ายสูงที่สุด (33.2% ของรายจ่ายทั้งหมด) และหมวดรายจ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แต่ส่วนที่ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รายจ่ายในด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ความบันเทิง และการท่องเที่ยว สะท้อนว่าครัวเรือนไทยเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยลงมากเป็นพิเศษในภาวะที่รายได้ไม่เติบโต 
  • อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ยครัวเรือนก็ยังคงมีการเพิ่มรายจ่ายในบางรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ของใช้และบริการส่วนบุคคล และรายจ่ายด้านการสื่อสาร โดยรายจ่ายด้านการสื่อสารเป็นรายจ่ายหลักประเภทเดียวที่ครัวเรือนไม่เคยมีการลดการใช้จ่ายลงในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

Fact 3: ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด

  • ครัวเรือนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ (46.3% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2019 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่างจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีการลดลง (deleverage) ในช่วงปี 2015 ถึงปี 2017 แล้วจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังจากนั้น ทั้งนี้สาเหตุหลักเป็นเพราะในช่วงดังกล่าวสัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ขณะที่สัดส่วนของกำไรภาคธุรกิจ (ซึ่งส่วนมากน่าจะมาจากกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่) ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น
  • หนี้บ้าน-บริโภค-การเกษตรเพิ่ม หนี้ธุรกิจลด โดยมีรายละเอียดในแต่ละวัตุประสงค์การก่อหนี้ดังต่อไปนี้ 
  • หนี้บ้านเพิ่ม การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 135,312 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 5.5% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 36.3% มาเป็น 37.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
  • หนี้เพื่อการบริโภคเพิ่ม ในส่วนของหนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคนี้ถือเป็นหนี้ที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ย 7.0% ต่อปี ขณะที่หนี้ส่วนอื่น ๆ เติบโตเฉลี่ยเพียง 3.7% ต่อปี ทำให้หนี้เพื่อการบริโภคมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30.8% ในปี 2009 มาเป็นที่ 38.4% ในปัจจุบัน 
  • การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจการเกษตรยังคงเพิ่มขึ้น จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 51,574 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 4.7% ทั้ง ๆ ที่กำไรจากกิจการการเกษตรลดลงในช่วงเดียวกัน คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการก่อหนี้เพื่อประคับประคองธุรกิจและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่ต้องเผชิญปัจจัยลบ รวมถึงอาจมีผลส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรต่อเนื่อง
  • ในทางกลับกัน การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจนอกภาคเกษตรลดลง จาก 30,120 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน คิดเป็นการลดลง -2.1% สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกำไรกิจการนอกภาคเกษตร ทั้งนี้หนี้ในส่วนนี้มีสัดส่วนมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเคยมีสัดส่วนสูงถึง 16.3% ในปี 2009 ลดลงมาเหลือเพียง 8.1% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่จำนวนครัวเรือนที่ทำกิจการนอกภาคเกษตรลดลงจาก 30.5% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 25.2% ในปัจจุบัน อีกทั้งในบรรดาครัวเรือนที่ทำธุรกิจนอกภาคเกษตร สัดส่วนครัวเรือนที่กู้ก็ลดน้อยลงเช่นกันจาก 14.2% ในปี 2009 มาอยู่ที่ 10.0% ในปัจจุบัน
  • จากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของหนี้แต่ละประเภทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนถูกขับเคลื่อนโดยหนี้เพื่อการบริโภคและหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ไม่ใช่หนี้เพื่อการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการเติบโตของหนี้ทั้งเพื่อการบริโภคและที่อยู่อาศัยอาจชะลอลงจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้การกู้ยืมใหม่ยากขึ้น รวมถึงผลของมาตรการ LTV ที่ทำให้การกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอลง

Fact 4: ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงและมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น

  • ครัวเรือนไทยออมลดลงจากในอดีตและมีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินออม เงินออมซึ่งคำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายเพื่อการบริโภค รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ และรายจ่ายภาษีของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.4% จากปี 2017 ที่ 1,718 บาท หากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา โดยเมื่อคิดเป็นอัตราการออมคำนวณจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่เพียง 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11.0% เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ 41.3% ของครัวเรือนไทยไม่มีการเก็บออมในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 และยิ่งเมื่อพิจารณาแยกเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 59.2% ของครัวเรือนที่มีหนี้ที่ไม่มีเงินออม
  • กันชนทางการเงิน (financial cushion) ของครัวเรือนไทยมีน้อยลง กันชนทางการเงินซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนของสินทรัพย์ทางการเงินต่อรายจ่ายต่อเดือนของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 7.3 เท่า (ซึ่งหมายความว่าสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ 7.3 เดือน) ลดลงจาก 7.9 เท่าในปี 2017 ถือเป็นระดับกันชนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 (ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการเก็บข้อมูลสินทรัพย์ครัวเรือน) บ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้นในการเผชิญปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ เช่น การขาดรายได้ การตกงาน ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้มีครัวเรือนไทยเกินครึ่งที่มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยสัดส่วนต่อจำนวนครัวเรือนทั้งหมดอยู่ที่ 59.2% และหากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ 62.0% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดจากข้อมูล 10 ปี

Fact 5: เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ในการประคับประคองกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยในช่วงที่ความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและยังมีความเปราะบางสูง

  • ครัวเรือนรายได้น้อยมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจากการสำรวจรายได้ของครัวเรือนนั้นจะมีส่วนหนึ่งที่มาจากการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งกลุ่มครัวเรือนที่ได้เงินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (19.9% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) โดยเงินช่วยเหลือจากรัฐที่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้สัดส่วนเงินช่วยเหลือของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยนั้นมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเพิ่มจากสัดส่วนเพียงแค่ 3.5% ในปี 2009 สำหรับสัดส่วนเงินช่วยเหลือจากรัฐในกลุ่มรายได้ที่สูงกว่านั้นมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่น กลุ่มรายได้ 1 ถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือนจะอยู่ที่ราว 3.5% หรือ กลุ่มรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไปจะอยูที่เพียง 0.6% เท่านั้น 
  • เงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคับประคอง และทำให้รายได้ของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า ส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น 0.6% เช่นกันในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้หากไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐ รายได้ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวจะลดลง -1.1% สะท้อนว่าโดยพื้นฐานการสร้างรายได้ของครัวเรือนกลุ่มนี้ยังมีความอ่อนแอและยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากรัฐ โดยหากไม่มีเงินช่วยเหลือ การใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มนี้อาจปรับตัวลดลงได้
  • กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีความเปราะบางในหลายมิติ 
  • ภาระหนี้สูงกว่ารายได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่สัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 3 กลุ่มรายได้ (กลุ่มรายได้ 1-3 หมื่น 3-5 หมื่น และมากกว่า 5 หมื่น) โดยเพิ่มจาก 71.4% ในปี 2009 (สัดส่วนสูงเป็นอันดับ 3) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีมาเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 117.8% โดยถือเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงที่สุดในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนรายได้สูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 96.2% ทั้งนี้ถ้าหักรายได้ในส่วนที่เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐออก สัดส่วนดังกล่าวของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะเพิ่มขึ้นจาก 117.8% ไปเป็น 134.2% สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มนี้จะอ่อนแอลงมาก 
  • รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อเดือนสูง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนมีค่าเฉลี่ยสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (debt service ratio หรือ DSR) เพิ่มจาก 29.5% ในปี 2009 มาเป็นที่ 40.0% ในปัจจุบัน สูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่รายได้สูงกว่า 1 หมื่นบาทขึ้นไปซึ่งมีสัดส่วน DSR เพียงประมาณ 23.1% ในช่วงเดียวกัน
  • กันชนทางการเงินมีไม่มาก สินทรัพย์ทางการเงินเทียบกับรายจ่ายต่อเดือนของครัวเรือนรายได้น้อยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยสัดส่วนของกลุ่มรายได้ที่สูงกว่านั้นจะอยู่ที่ 7.5 เท่า นอกจากนี้ กลุ่มรายได้น้อยยังมีสัดส่วนของครัวเรือนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือนสูงถึง 71.7% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 ที่สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 68.4%

โดยสรุป EIC ประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 2 ปีผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนจากการลดลงทั้งรายได้และรายจ่าย สวนทางกับทิศทาง GDP รวมของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ค่อนข้างสูงซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้จ่ายและการกู้ยืมในระยะต่อไป อีกทั้งสัดส่วนการออมและกันชนทางการเงินซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางการเงินของครัวเรือนยังลดลง โดยปัจจุบันมีครัวเรือนไทยจำนวนมากไม่มีการเก็บออมและกว่าครึ่งมีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือน 

EIC มองว่า มาตรการช่วยเหลือจากรัฐระยะสั้นจึงยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองการใช้จ่ายและการชำระหนี้โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางมากที่สุด และที่สำคัญยังควรต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนไทยที่มีความอ่อนแอทั้งในส่วนของแรงงานและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ผ่านการเพิ่มทักษะของแรงงานและการสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ SMEs ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมการกระจายรายได้ด้วยการสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรมและการลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็ก




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...