เทรนด์คนไทยหลัง COVID-19 วิถีชีวิตที่ (ไม่) เหมือนเดิม | Techsauce

เทรนด์คนไทยหลัง COVID-19 วิถีชีวิตที่ (ไม่) เหมือนเดิม

EIC วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยใช้ข้อมูล Google Trends ซึ่งเป็นข้อมูลแนวโน้มการค้นหาคำต่าง ๆ ผ่าน Google Search พบว่า พฤติกรรมยอดฮิตของผู้บริโภค หลายประเภทในช่วงล็อกดาวน์ยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพฤติกรรม New normal ของคนไทย เช่น food delivery, e-commerce และการประชุมออนไลน์ เป็นต้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทั้งจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสและมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกนอกบ้าน แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ดีระดับหนึ่ง รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลและปรับพฤติกรรมการบริโภคอีกครั้ง โดยEIC มีข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ข้อมูGoogle Trends ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสนใจของผู้บริโภคคนไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

คนไทยกลับมาสนใจกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้นหลังคลายช่วงล็อกดาวน์ : แม้ว่าในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน คนไทยจะสนใจกิจกรรมนอกบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ความสนใจกิจกรรมนอกบ้านก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการค้นหาคำว่าโรงแรมและ อาหารบุฟเฟต์ที่ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 มีจำนวนการค้นหาสูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ถึง 470% และ 232% ตามลำดับ และความสนใจต่อทั้ง 2 กิจกรรมยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์ (pent-up demand) การมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างไรก็ดี ความสนใจที่เพิ่มขึ้นผ่าน Google Search ไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายที่กลับมาในระดับเดียวกัน สะท้อนจากทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การไปโรงภาพยนตร์ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าช่วงปกติ สะท้อนจากจำนวนการค้นหาชื่อเครือโรงภาพยนตร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันระหว่างปี 2560-2562 ถึง 44% 

กิจกรรมภายในบ้านในช่วงกักตัวยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าในอดีต แม้ความนิยมจะเริ่มลดลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังมีการล็อกดาวน์ : ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ผู้คนเริ่มหากิจกรรมในบ้านชดเชยการออกนอกบ้าน จึงเกิดกระแสกิจกรรมภายในบ้านหลากหลายประเภท เช่น 1) การทำอาหารที่บ้าน สะท้อนจากคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องครัว อาทิ หม้อทอดไร้น้ำมันและ เตาอบได้รับความนิยมสูงสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคำค้นหาอุปกรณ์เครื่องครัวสูงสุดถึง 474% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน 2) การปลูกผักและต้นไม้ จากยอดค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักและต้นไม้สูงสุดในเดือนมิถุนายนสูงถึง 49% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน 3) การออกกำลังกายในบ้าน จากคำค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายใน Youtube เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคมถึง 122% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน และ 4) การทำงานที่บ้าน สะท้อนจากความสนใจอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ คีย์บอร์ดและเมาส์ เป็นต้น ซึ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 30% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้กิจกรรมภายในบ้านที่กล่าวมาข้างต้นได้รับความสนใจลดลง หลังจากที่เริ่มสามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ สะท้อนจากคำค้นหาตามคีย์เวิร์ดดังกล่าวที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ และอาจรวมไปถึงการที่คีย์เวิร์ดบางคำเป็นเพียงการค้นหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time search) เช่น การค้นหา โต๊ะทำงาน ที่เมื่อซื้อมาแล้วทำให้ไม่จำเป็น
ต้องค้นหาอีก และจากข้อมูลดัชนี
Google Mobility หมวดที่พักอาศัยยังแสดงให้เห็นว่าคนยังคงอยู่ในบ้านมากกว่าช่วงก่อน COVID-19 อย่างไรก็ตาม การค้นหาคำเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ข้างต้นก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังซึ่งบ่งชี้พฤติกรรม New normal โดยอาจมาจากการที่หลายคนได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (work from home) ในสัดส่วนที่มากขึ้น ความนิยมสำหรับกิจกรรมในบ้านจึงมีมากกว่าในอดีตช่วงก่อน COVID-19

COVID-19 เร่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมสูงกว่าแนวโน้มปกติ ในช่วงก่อนสถานการณ์COVID-19 คนไทยมีแนวโน้มปรับตัวมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากแนวโน้มการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย COVID-19 ได้ช่วยเร่งกระแสการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เร่งตัวจากแนวโน้มปกติอย่างเห็นได้ชัด จากความจำเป็นในการเข้าถึงสินค้าและบริการในช่วงที่ช่องทางเดิมมีข้อจำกัดในการใช้บริการ เช่น การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce ทดแทนการไปห้างสรรพสินค้า การใช้บริการ food delivery ทดแทนการรับประทานอาหารที่ร้านการประชุมทางไกลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทดแทนการประชุมแบบปกติ หรือการดูภาพยนตร์ผ่านแอปพลิเคชันดูหนังออนไลน์ต่าง ๆ แทนการออกไปโรงภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้นหาสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์เช่นกัน ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากการค้นหาส่วนใหญ่เป็นแบบ one-time searchกล่าวคือ หลังจากการค้นหาในครั้งแรก ๆ แล้ว ผู้ใช้อาจใช้งานจากแพลตฟอร์มโดยตรงในครั้งถัดไป ซึ่งจากข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า แม้ปริมาณการค้นหาบน Google จะลดน้อยลง แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนแพลตฟอร์มยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Lazada ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

EIC มองว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศผ่อนคลาย หลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในช่วงการล็อกดาวน์อาจกลายเป็New normal บางพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมก่อนช่วง COVID-19 เช่น หลายบริษัทในเมืองได้มีการปรับตัวด้านรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานทางไกล(remote work) มากขึ้น ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตในหลายด้านของคนจำนวนไม่น้อย ทั้งการใช้เวลา การใช้พื้นที่ และรูปแบบการใช้จ่าย พฤติกรรมการค้นหาบน Google ล่าสุดเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงแนวโน้มดังกล่าว โดยได้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมหลายอย่างที่ฮิตในช่วงล็อกดาวน์ยังคงสูงกว่าในอดีตช่วงก่อน COVID-19 

สำหรับพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เร่งตัวสูงจากความจำเป็นในช่วง COVID-19 นั้น EIC มองว่าเป็นตัวเร่งการปรับตัวระยะยาวที่สำคัญของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยเฉพาะหากบริการออนไลน์นั้นสามารถเข้ามาทดแทนรูปแบบการใช้จ่ายเดิม ๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ให้บริการที่ดีกว่าและเร็วกว่าได้ การขยายตัวของออนไลน์แพลตฟอร์มจึงมีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น การขยายตัวของ e-commerce ที่กระทบต่อยอดขายค้าปลีกช่องทางออฟไลน์, แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่อาจแย่งกลุ่มลูกค้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (commercial real-estate) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำนักงาน co-working space หรือพื้นที่ให้เช่าสำหรับการจัดประชุม-สัมมนา, แพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์ที่ดึงกำลังซื้อบางส่วนจากโรงภาพยนตร์หรือบริการfood delivery ที่เข้ามาทดแทนการทานอาหารที่ร้าน เป็นต้น แนวโน้มดังกล่าวนี้จึงมีนัยต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยหากธุรกิจไม่ปรับตัวไปกับ New normal นอกจากจะต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ครบรอบ 20 ปีในไทย ย้ำจุดยืนผู้นำ AI-IoT และ “Edge AI” ยกระดับ Smart Manufacturing, Smart City และ ESG สู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชัน AI, IoT และคอมพิวเตอร์เฉพาะทาง ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ...

Responsive image

ยกระดับบริการลูกค้าด้วย AI BOTNOI Voice บน AWS ช่วยองค์กรไทยสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

AWS ประกาศในวันนี้ว่า BOTNOI สตาร์ทอัพด้าน Generative AI ของไทยที่เชี่ยวชาญในการสร้างผู้ช่วยเสมือนจริงสำหรับการสนทนา ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม BOTNOI Voice ขึ้นบนคลาวด์ของ AWS...

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...