ตลาดยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความซับซ้อนของ VUCA (ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ) ไม่ต่างจากตลาดอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุน แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกลับประสบปัญหาชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสงครามราคาและประสบการณ์ด้านบำรุงรักษา บทความนี้ อ้างอิงจากรายงาน Automotive Industry Trends ของดีลอยท์ โดยจะนำเสนอบริบทและศักยภาพที่ซ่อนเร้นของผู้ผลิต (OEMs) และห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยชะลอตัวลง ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ หนี้ครัวเรือนที่สูง และ อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งอุณหภูมิของสงครามราคา ทั้งการปรับราคาของรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดอยู่ รวมถึงเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้มากขึ้นมาร่วมแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมไปจนถึงตลาดรถยนต์มือสอง
ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกามีการปรับลดการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า ลดการผลิต และ ลดราคาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยได้มุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฮบริดเพื่อเป็นโซลูชันการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขยายระยะทางในการขับขี่ (Extended Range Electric Vehicles: EREV) ทั้งนี้ จากรายงาน 2025 Global Automotive Consumer Study ของดีลอยท์ พบว่าความต้องการของลูกค้าชาวไทยที่มีต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2024 และปี 2025 แต่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ยังคงทรงตัว
บทความนี้นำเสนอศักยภาพ 4 ประการหลักที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิมกำลังพัฒนา พร้อมพิจารณาว่านวัตกรรมเหล่านี้จะก้าวข้ามความท้าทายดังกล่าวอย่างไร ดังต่อไปนี้
แบตเตอรี่นับเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่กลับถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของรถไฟฟ้าที่สำคัญที่สุด โดยจากรายงาน 2025 Global Automotive Consumer Study ของดีลอยท์ พบว่า ความกังวลหลักของผู้บริโภคเมื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ระยะทางขับขี่ และ ระยะเวลาในการชาร์จ
ในบริบทนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่มีความสำคัญ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate: LFP) กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ อายุการใช้งานที่ยาวนาน และ ส่งผลสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยปัจจุบันแบตเตอรี่ LFP มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่นิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ (Nickel Manganese Cobalt: NMC) ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 60 โดยแบตเตอรี่ LFP มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ตั้งแต่ปี 2560 โดยผู้ผลิตจากประเทศจีนครองตลาดแบตเตอรี่ LFP ในขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์จากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีนั้นก็มีการนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่ LFP มาใช้เพื่อลดต้นทุนและคงความสามารถแข่งขันในตลาดเช่นกัน
นอกจากนี้ แบตเตอรี่ทางเลือกใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน (Na-ion) จากแร่เกลือหิน ยิ่งทำให้ราคาจับต้องได้ไปอีก เนื่องจากโซเดียมที่มีอยู่มากและมีต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ LFP ทั้งนี้ คาดว่าแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน จะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นประมาณร้อยละ 13 ระหว่างปี 2022 และปี 2028 ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้ารุ่นเริ่มต้นในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้บริโภคในอนาคต
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการชาร์จกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองต่อความกังวลของผู้บริโภค ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสะดวกสบายและระยะทาง การชาร์จแบบไร้สาย ซึ่งใช้การเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี่ที่กำลังมาแรงที่จะเป็นทางเลือกสำหรับระบบการชาร์จเสียบสายแบบดั้งเดิม โดยนวัตกรรมนี้นำเสนอแนวทางหลักสองแนวทาง ได้แก่
จากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแรงมากขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายมีการร่วมมือกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน (End-Of-Life: EOL) โดยใช้แบตเตอรี่ดังกล่าวสำหรับการใช้งานในครั้งที่สอง หรือการรีไซเคิลเพื่อสกัดวัตถุดิบที่สำคัญออกมาใช้ใหม่
แนวทางนี้ช่วยให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิมสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ มีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษี และลดต้นทุนด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิล ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง
ถึงแม้ว่าประเทศจีนและสหภาพยุโรปจะเป็นผู้นำในความพยายามด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ แต่ห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานทั่วโลกยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไป รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเชื่อมต่อช่วยให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานต่าง ๆ และสร้างประสบการณ์ล้ำสมัยให้กับลูกค้า ดังต่อไปนี้
เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังช่วยให้ผู้ผลิตยานยนต์วางตำแหน่งตัวเองเพื่อความสำเร็จในระยะยาวในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอีกด้วย
ท่ามกลางความท้าทายในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังคงมีศักยภาพในการเติบโตเป็นอย่างมาก ด้วยการแก้ไขข้อกังวลของผู้บริโภคในด้านราคา โครงสร้างพื้นฐาน และความยั่งยืน ผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถปลดล๊อกโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ โซลูชันการชาร์จ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิล และการเชื่อมต่อ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโมเมนตัมนี้
ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์ และนักลงทุนบุคคล จะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการปฏิวัติยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้หนทางข้างหน้ายังต้องอาศัยความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว แต่นับเป็นสัญญาเชิงบวกสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป
บทความโดย
มงคล สมผล, Automotive Sector Leader, ดีลอยท์ ประเทศไทย
ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์, ผู้จัดการอาวุโส แผนก Growth, ดีลอยท์ ประเทศไทย