คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT), รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายส่งเสริมการวิจัย, นายสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ อุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายอุตสาหกรรม และนางสาวธมลวรรณ ชลประทิน ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์และรณรงค์การใช้ (WG4) เข้าพบ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครฯ เพื่อมอบรางวัล E-Visionary Award
ที่กรุงเทพมหานครฯ ได้รับจาก The Electric Drive Transportation Association (EDTA) เเละ World Electric Vehicle Association (WEVA) ที่จัดขึ้น ณ เมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐออริกอน ประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งทางกรุงเทพมหานครฯ ได้รับเลือก พร้อมกับ อีก 2 เมืองใหญ่ของโลก ได้เเก่ เมืองออสติน เมืองหลวงของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และ กรุงวอร์ซอว์ เมืองหลวงประเทศโปแลนด์ ให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อวางรากฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ดี ซึ่งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นสมาชิกในสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก World Electric Vehicle Association (WEVA) ซึ่งทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลกได้คัดเลือกเมืองต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มสมาชิก และกรุงเทพมหานครฯ มีการวางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลในปีนี้
สำหรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM.2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ประเทศไทยมักประสบปัญหาในช่วงฤดูหนาวของทุกปี สร้างผลกระทบในด้านสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM.2.5 นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครฯ กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือกพร้อมกับอีก 2 เมืองใหญ่ระดับโลก ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตด้านยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับปัญหาปัจจุบันนี้เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กทางกรุงเทพมหานครฯ เอง ก็ไม่นิ่งนอนใจ เรามีแผนระยะสั้นในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการจัด Big Cleaning Day เพื่อลดฝุ่น และการสั่งห้ามรถบรรทุกวิ่งในเขตกรุงเทพมหานครฯ ส่วนเเผนระยะยาว ทางท่านผู้ว่าการกรุงเทพมหานครมีนโยบายว่า ในอนาคตต้องการให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดหวังว่าการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานอีกด้วย นอกจากนี้เราก็ มีแผนที่จะสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเอง เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการใช้ยานยนต์ที่ปลอดมลภาวะพร้อม ๆ กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานครฯ และหวังว่าในอนาคตประชาชนจะหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษ ให้สมกับที่เราได้รับรางวัลเมืองแห่งอนาคตด้านยานยนต์ไฟฟ้า”
ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เผยว่า “ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัญหาที่ชาวกรุงเทพมหานครฯ และในหลายๆจังหวัดต้องประสบปัญหาทุก ๆ ปี แต่ด้วยปัญหาด้านมลภาวะดังกล่าวนี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงได้วางเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และได้กำหนดข้อเสนอแนะ 8 ข้อ เพื่อผลักดันให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการทำ EV Roadmap ปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น และด้วยความร่วมมือของกรุงเทพมหานครเองที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) จึงเลือกกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในสามเมืองใหญ่ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ซึ่งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ขอขอบคุณสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลกสำหรับรางวัลนี้ครับ”
ในปัจจุบัน สถิติจำนวนมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 พบว่ามียอดสะสมจากการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery EV) จำนวน 5,021 คัน โดยเป็นยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ใหม่ (Battery EV) คิดเป็น 2,267 คัน ส่วนจำนวน ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) มียอดจดทะเบียนสะสมเป็นจำนวนกว่า 175,888 คัน ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น มีทั้งสิ้นราว 1,974 หัวจ่ายใน 647 แห่งทั่วประเทศ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด