Facebook และ Bain & Company เผย E-Commerce เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โตต่อเนื่อง 85% ขึ้นแท่นผู้นำใน APAC | Techsauce

Facebook และ Bain & Company เผย E-Commerce เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โตต่อเนื่อง 85% ขึ้นแท่นผู้นำใน APAC

Facebook และ Bain & Company ได้เปิดตัวผลการศึกษาประจำปีที่มีชื่อว่า SYNC Southeast Asia เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของ E-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเน้นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของการบริโภคในยุคดิจิทัลของคนไทยในปีที่ผ่านมา

Facebookประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำด้านการเติบโตของส่วนแบ่งธุรกิจธุรกิจค้าปลีกดิจิทัล โดยธุรกิจค้าปลีกดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เติบโตขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แซงหน้าประเทศจีน (ร้อยละ 5) บราซิล (ร้อยละ 14) และอินเดีย (ร้อยละ 10)

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์ในปัจจุบันและเทรนด์ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต Facebook และ Bain & Company ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคดิจิทัลราว 16,700 คน พร้อมรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงกว่า 20 คนจาก ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

ผลการศึกษาครั้งใหม่ภายใต้หัวข้อ “Southeast Asia, the home for digital transformation”เป็นการต่อยอดจากผลการศึกษาในปีก่อนหน้านี้ ที่จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดย Facebook และ  Bain & Company และชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลราว 350 ล้านคน และร้อยละ 73 ของผู้บริโภคในประเทศไทยจะกลายเป็นผู้บริโภคดิจิทัลภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ อัตราการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลต่อคนได้เติบโตขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยอดขาย E-Commerce โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2569

ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เพียงแต่ใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้นตามที่ถูกคาดการณ์ไว้ในปี พ.ศ. 2563 แต่ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้น (ร้อยละ 45) จะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า พวกเขาพร้อมเปิดรับการค้นพบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ โดยร้อยละ 65 กล่าวว่าพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองต้องการจะซื้ออะไรเวลาที่เข้าไปในช่องทางออนไลน์

สำหรับชาวไทย ร้อยละ 64 กล่าวว่าในปีนี้ พวกเขาได้ลองซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังซื้อสินค้าออนไลน์ในหมวดหมู่ที่หลากหลายมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าในปัจจุบัน พวกเขาซื้อสินค้าออนไลน์จาก 8.3 หมวดหมู่สินค้าโดยเฉลี่ย ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเฉลี่ยที่ 5.4 หมวดหมู่สินค้าในปี พ.ศ. 2563

การค้นพบสินค้าออนไลน์:  นิยามใหม่ของประสบการณ์การช้อปปิ้ง

คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงผลักดันให้ผู้คนหันไปสู่ช่องทางออนไลน์ ในอัตราที่สูงในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยมีการสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ ในเรื่องของการค้นพบสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การพิจารณา และการซื้อ สำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นใหม่และแบรนด์ที่อยู่มายาวนาน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความจำเป็นในการพิจารณาการปรับปรุงพัฒนาประสบการณ์ E-Commerce แบบดั้งเดิม และมองหาวิธีการที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเชื่อมต่อกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้ นอกจากนั้นเรายังมองว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคนี้จะยังเป็นเทรนด์ที่คงอยู่ แม้ธุรกิจและร้านค้าต่างๆจะสามารถกลับมาเปิดได้แล้วในอนาคต อันเป็นผลจากการที่ผู้คนยังคงพึ่งพาช่องทางดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับแบรนด์ สิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรพิจารณาถึงกลยุทธ์ด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน และให้ผลระยะยาวเพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายรู้สึกเข้าถึงได้และมีส่วนร่วมอยู่เสมอ

ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์รวมถึงการเติบโต เพราะว่าตลาด E-Commerce ยังค่อนข้างกระจัดกระจาย ในปี พ.ศ. 2564 นักช้อปชาวไทยใช้เวลาค้นหา สินค้าจาก 8.6 เว็บไซต์ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากค่าเฉลี่ยที่ 5.5 เว็บไซต์ในปี พ.ศ. 2563 แม้ว่าความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปจะยังคงเป็นเหตุผลอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจเปลี่ยนแบรนด์ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญเพียงข้อเดียวอีกต่อไป เพราะว่าผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสำคัญ กับคุณภาพของสินค้า ยังคงมองหาแบรนด์อื่น ๆ ที่มีความคุ้มค่า รวมถึงยังเปิดรับที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ อีกด้วย

การค้นพบสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ร้อยละ 80 ของช่องทางที่ผู้บริโภค ใช้ในการค้นหาสิ่งที่พวกเขาจะซื้อ อยู่บนโลกออนไลน์ และสำหรับการพิจารณาซื้อสินค้า ร้อยละ 83 ของช่องทางที่ถูกใช้เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการคือช่องทางออนไลน์ ร้อยละ 56 ของการใช้จ่ายบนสินค้าจากธุรกิจค้าปลีกเกิดขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล ในขณะที่ร้อยละ 44 ที่เหลือเกิดขึ้นผ่านช่องทางออฟไลน์ อีกสิ่งที่น่าสังเกตคือวิดีโอบนโซเชียล มีเดียได้รับความนิยมสูงขึ้นสามเท่าในฐานะช่องทางการค้นพบสินค้า โดยร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบ สำรวจกล่าวว่าวิดีโอบนโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการค้นพบสินค้าของพวกเขา

การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน กับไลฟ์สไตล์ที่มีบ้านเป็นศูนย์กลาง

ผู้บริโภคชาวไทยมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 93 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าพวกเขาเต็มใจที่ จะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อซื้อสินค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และร้อยละ 78 มีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 10 สำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ค้นพบว่าไลฟ์สไตล์ที่มีบ้านเป็นศูนย์กลาง จะมีการเติบโตมากขึ้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประมาณร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าช่วงเวลาที่ถูกใช้ “ภายในบ้าน” จะเท่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นผู้ตอบแบบสำรวจภายในภูมิภาคอย่างน้อยร้อยละ 37 ยังกล่าวด้วยว่าพวกเขาคาดหวังที่จะทำงานที่บ้านแม้หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และสุดท้าย ประมาณร้อยละ 90 ของผู้บริหารเชื่อว่ารูปแบบการทำงานที่บ้านแบบไฮบริดจะกลายเป็น รูปแบบการทำงานที่เห็นได้ทั่วไปหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้

คุณแพร  กล่าวเสริมว่า “ผลการศึกษาเหล่านี้ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนอยากจะรู้สึกว่าพวกเขา ได้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เวลานี้เอง คือช่วงเวลาที่แบรนด์จะต้องแสดงความกล้า และปรับปรุงช่องทางรวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะใช้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น เพื่อที่จะถูกค้นพบโดยผู้บริโภคได้ เราหวังว่าเราจะสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม เพื่อทดลองประสบการณ์การช้อปปิ้ง ในรูปแบบใหม่ ๆ หรือนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น Augmented Reality มาใช้

สำหรับแนวโน้มใหม่ ๆ ผลการศึกษาดังกล่าวได้ค้นพบว่ากว่าร้อยละ 80 ของเงินกองทุนร่วมลงทุนต่าง ๆ กำลังไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผลการศึกษายังได้ชี้ว่าคนไทย มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายไปกับบริการธุรกรรมการเงินและการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลภายหลังสถานการณ์การ แพร่ระบาดคลี่คลาย สูงกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม (ร้อยละ 45 เทียบกับร้อยละ 38 ตามลำดับ) การลงทุนมหาศาลนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การเงิน เทคโนโลยีการศึกษา หรืออี-คอมเมิร์ซอื่น ๆ

คุณดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์และผู้อำนวยการฝ่ายการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก เบน แอนด์ คอมพานี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การปรับตัวได้อย่างว่องไวในปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าให้กับเจ้าของแบรนด์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด มีผู้บริโภคในประเทศไทย จำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 ที่เปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางในการซื้อสินค้ามากที่สุด ในทุกหมวดหมู่ โดยหมวดหมู่ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือสินค้าอุปโภคบริโภคและเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีโอกาสในการเติบโตและสามารถสร้างผลกำไรจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ ปรับเปลี่ยนไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เพื่อสร้างผลกำไรจากการเติบโตของดิจิทัลหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด และสร้างเกราะป้องกันให้กับธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แอดวานซ์เทค ครบรอบ 20 ปีในไทย ย้ำจุดยืนผู้นำ AI-IoT และ “Edge AI” ยกระดับ Smart Manufacturing, Smart City และ ESG สู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม บริษัท แอดวานซ์เทค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชัน AI, IoT และคอมพิวเตอร์เฉพาะทาง ได้จัดงานฉลองครบรอบ 20 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ...

Responsive image

ยกระดับบริการลูกค้าด้วย AI BOTNOI Voice บน AWS ช่วยองค์กรไทยสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

AWS ประกาศในวันนี้ว่า BOTNOI สตาร์ทอัพด้าน Generative AI ของไทยที่เชี่ยวชาญในการสร้างผู้ช่วยเสมือนจริงสำหรับการสนทนา ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม BOTNOI Voice ขึ้นบนคลาวด์ของ AWS...

Responsive image

ดีอี ผนึก ‘อว.- ศธ.’ ร่วมมือ UNESCO นำเวที UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025

ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ย้ำบทบาทผู้นำจริยธรรม AI ระดั...