ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและหนึ่งในกระบวนการของแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคือการนำหลักการของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน”หรือ Circular Economy มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นอีกองค์กรหนึ่งในการนำหลัก Circular Economyมาสร้างดุลยภาพการพัฒนาระหว่างด้านเทคโนโลยีกับด้านชีวภาพ เพื่อลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยล่าสุด GC เปิดตัว “โครงการ YOUเทิร์น” หรือ “พลาสติกเทิร์นสุข”ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนกระบวนการ Loop Connecting (Ecosystem) หรือการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 3 หลักการบูรณาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างแนวร่วมจากภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้โครงการ YOUเทิร์นเริ่มจากเครื่องต้นแบบที่ใช้กันภายในองค์กร GC ซึ่งมีพนักงาน GC ให้ความสนใจและนำขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วมาร่วมกิจกรรมประมาณ 10,000 ขวด ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ต่อยอดไอเดียสู่รถ YOUเทิร์น ซึ่งกลายเป็นระบบขนส่งที่สำคัญของโครงการ ช่วยตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งขวดพลาสติกใช้แล้วไปยังคลังเก็บหรือโรงงานรีไซเคิล ก่อนนำส่งให้พันธมิตร เพื่อเข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิงและผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่อไป
โดยเริ่มตั้งเเต่การบริหารจัดการขยะพลาสติกผ่านจุดรับขยะ (Drop Point) จุดรับขยะระบบดิจิตอลที่สามารถสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัลได้ (Digital Drop Point) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ร่วมกันกับ Mobile Application เพื่อรองรับการขยายตัวของแพลตฟอร์มดิจิตอล YOUเทิร์น ในอนาคต นอกจากนี้ GC กำลังดำเนินการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade มีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้บรรจุ หรือสัมผัสกับอาหาร ไม่ทิ้งสารตกค้างเมื่อสัมผัสกับอาหารแห่งแรกในประเทศไทย (ENVICCO) เพื่อตอบโจทย์การใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและยั่งยืนของ GC
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GC ได้บูรณาการหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1. Smart Operating การยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน โดยนำแนวคิด 5Rs ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การลดการใช้ (Reduce) 2.การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) 3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือกระบวนการมอบชีวิตใหม่ให้กับวัสดุเหลือใช้ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง และอัพไซคลิง (Upcycle) หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของนั้นๆ ผ่านนวัตกรรม และดีไซน์ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นสวยงาม พร้อมกับมูลค่าที่สูงขึ้นอีกด้วย 4.การปฏิเสธการใช้สารที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Refuse) และ 5.การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Renewable) เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการบริหารจัดการขยะให้น้อยลงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะไม่กลายเป็นขยะ
2. Responsible Caring การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการเลือกหรือลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควรได้รับการรับรอง Carbon Footprint เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสังคม
3. Loop Connecting (Ecosystem) การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยGC สร้างแนวร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิดต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมกันทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างคนที่มีความเชื่อคล้ายๆ กัน และขยายผลออกไป เพื่อสร้างการเชื่อมต่อธุรกิจแบบครบวงจร สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวงจรนิเวศไม่จบสิ้น และได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Customer Solution Center: CSC) เพื่อร่วมมือกับลูกค้าออกแบบ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากขยะพลาสติกให้สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ ตลอดจนเสริมสร้างมุมมองใหม่ในการเลือกใช้พลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อโลก สำหรับส่งมอบให้กับผู้บริโภคผ่านโครงการและนิทรรศการต่าง ๆ
"หลายปีที่ผ่านมา GC ได้มุ่งมั่นการเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมนำหลัก Circular Economy มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งโครงการ YOUเทิร์นล่าสุดที่ดำเนินการเรามุ่งให้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบ กระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล รวมถึงสร้างระบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกระดับ และยังเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่วงกว้างได้อย่างไม่สิ้นสุด” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าว
นอกจากนี้ GC ยังคงเฟ้นหาพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เจ้าของธุรกิจ (Brand Owner) นักออกแบบผลิตภัณฑ์ (Designer) เป็นต้น เพื่อต่อยอดความร่วมมือและขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มผ่านแพลตฟอร์มนี้ หากท่านใดสนใจ สามารถติดต่อมาได้ที่ อีเมล์ : [email protected]
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด