ทำความรู้จัก 2 นักพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร ฮีโร่ผู้ปฏิวัติภาวะวิกฤต ส่งตรงความทันสมัยให้เกษตรกรไทย | Techsauce

ทำความรู้จัก 2 นักพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร ฮีโร่ผู้ปฏิวัติภาวะวิกฤต ส่งตรงความทันสมัยให้เกษตรกรไทย

“อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone)” หนึ่งในเทคโนโลยีสุดล้ำที่ไม่ได้มีไว้แค่สำหรับถ่ายรูปมุมสูง หรือใช้เฉพาะทางการทหารเท่านั้น เพราะหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถเข้ามาช่วยปฏิวัติการทำงานของหลาย ๆ อุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาควิศวกรรมสำรวจ และภาคภูมิศาสตร์ และล่าสุดยังถูกพัฒนาขีดความสามารถเพื่อนำไปใช้กู้ภัยในเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่

วันนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จะพาไปอินไซด์แนวคิด 2 นักพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าจริง ๆ แล้วโดรนที่เข้าไปช่วยเจ้าหน้าดับเพลิงในเหตุวินาศภัยนั้น เริ่มต้นมาจากโดรนเพื่อการเกษตรที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะในด้านผลผลิตและความแม่นยำ และความหวังที่จับมือเกษตรกรวิ่งสู่ความเป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ไปด้วยกัน

เริ่มกันที่ ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโดรนชุมชน บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด กล่าวว่า แนวคิดในการทำโดรนเพื่อชุมชนนั้น เกิดขึ้นจากที่ตนและทีมต้องการที่จะยกระดับ และเพิ่มโอกาสให้ชุมชนในแถบชนบทได้เข้าถึงเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม เนื่องจากทางทีมงานได้มองเห็นความสำคัญของเกษตรกรในการเป็นผู้สร้างความมั่งคงทางอาหาร ต่อเนื่องไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงได้เริ่มต้นในการทำแพลตฟอร์มสำหรับการจัดหาโดรนเข้าไปใช้ในการทำการเกษตรให้แก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก NIA ในโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับโดรนนั้นเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้าไปช่วยให้การทำเกษตรมีความแม่นยำ ช่วยในด้านการคำนวณปริมาณสารเคมี หรือปริมาณพันธุ์ข้าวที่จะใช้ต่อไร่ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีของเกษตรกรได้ดีมากขึ้น เพราะสามารถใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีได้เลย นอกจากนี้การใช้โดรนในภาคการเกษตรยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านแรงงานได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 นี้ จะมีโดรนเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000-4,000 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะด้านการผลักดันให้ภาคเกษตรก้าวสู่การทำเกษตรกรรมแบบ 4.0 อย่างเต็มตัว 

“ในอนาคตเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนจะเริ่มมีความสำคัญและมีบทบาทมากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้โดรนในระบบขนส่ง / โลจิสติกส์ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ว่าจะเป็นกล่องพัสดุ  เวชภัณฑ์ยา แต่ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตเชื่อว่าจะถูกพัฒนาให้แม่นยำ มีความทนทานพอที่จะส่งของหนักได้ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้โดรนเพื่อซ่อมแซม บำรุงแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งจะทำให้ทราบแน่ชัดมากยิ่งขึ้นว่าแผงใดบ้างที่เสียหาย ส่งผลให้สามารถซ่อมแซมได้ตรงจุดและปลอดภัย สอดรับกับอนาคตที่ประเทศไทยจะหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นด้วย อีกด้านคือการใช้โดรนเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนมนุษย์ในการกู้ภัย ตนเห็นว่าจากนี้ต่อไปจะมีความสำคัญมาก เพราะคุณสมบัติที่รวดเร็ว คล่องตัว และแม่นยำ จะช่วยให้ลดการสูญเสียกำลังคน และช่วยลดความสูญเสียจากการเกิดเพลิงไหม้ หรือวินาศภัยในด้านอื่น ๆ ลงได้ด้วยเช่นกัน”

ต่อกันที่ นายกฤตธัช สารทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวี่ (2018) จำกัด กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จากนั้นจึงตัดสินใจศึกษาต่อที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ตนและทีมเห็นว่าในอนาคตโดรนจะสามารถเข้าไปช่วยทำให้ระบบการทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว มีความแม่นยำ และยังช่วยลดความสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ UAV Startup 2017 ที่จัดขึ้นโดย NIA และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ทางทีมโนวี่โดรนก็ได้มีการต่อยอดและพัฒนาโดรนสำหรับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน 

นายกฤตธัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโดรนของโนวี่สามารถให้บริการภาคการเกษตรได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นการพ่นยา พ่นปุ๋ย และที่สำคัญโนวี่โดรนยังช่วยให้กระบวนการการทำการเกษตรสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดการใช้แรงงานคนได้มาก เพราะโดรน 1 ตัว สามารถทำงานได้เร็วกว่าแรงงานคนมากถึง 10 เท่า อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรปลอดภัยจากการที่ต้องสัมผัสสารเคมี นอกจากนี้ ยังมองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับจะเข้าไปมีบทบาทกับภารกิจอื่น ๆ ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนในระบบโลจิสติกส์  โดรนเพื่อการขนส่ง แท็กซี่โดรน หรือแม้แต่กระทั่งใช้โดรนในการกู้ภัยพิบัติต่าง  ๆเพราะการใช้โดรนหรือหุ่นยนต์ในการกู้ภัยสามารถช่วยลดความสูญเสียจากการเข้าไปทำงานในจุดเสี่ยงอันตราย และอย่างน้อยหากเกิดอันตรายขึ้นเราก็แค่สูญเสียอุปกรณ์ไป  ทั้งนี้ จากประโยชน์อันหลากหลายนี้ ทางทีมจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพให้โดรนสามารถทำงานแทนเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกิจกรรมต่าง ๆ และพร้อมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มภาคสังคมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่นที่ผ่านมา

ด้วยความฉลาด และความสามารถที่หลากหลายนี้เอง จึงทำให้โดรนถูกวางตัวไว้เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญให้กับหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม และเชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะได้เห็นโดรนถูกใช้งานในภารกิจอื่น ๆ อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทรู ไอดีซี ดาต้าเซ็นเตอร์ คว้ารางวัลนานาชาติ ด้านออกแบบและพลังงาน พร้อมรองรับเทคโนโลยี AI

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศความสำเร็จของโครงการ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส ที่สร้างปรา...

Responsive image

ซีพี แอ็กซ์ตร้า จับมือพันธมิตร พัฒนาโซลูชัน "Smart Restaurant" พลิกโฉมร้านอาหารยุคใหม่ สู่ความสำเร็จยุคดิจิทัล

ซีพี แอ็กซ์ตร้า ร่วมกับพันธมิตรในเครือ ได้แก่ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัดจัดงานสัมมนา ‘Smart Restaurant ถอดรหัสความสำเร็...

Responsive image

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ พัฒนา “ฟาร์มนวัตกรรม” ยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลก

noBitter ผนึกกำลัง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จุฬาฯ ลาดกระบัง และปัญญาภิวัฒน์ ผนึกความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนางานวิจัยเกษตรนวัตกรรมเพื่อยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลกโดยมุ่งเน้นผลผลิตจากเทคโนโลย...