คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการยกระดับบุคลากรในอุตสาหกรรม MICE ตามมติอาเซียน อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติในการสอนและฝึกอบรมบุคลากร รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติยอมรับการแก้ไขข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้าน MICE ในอาเซียน ที่ขยายขอบเขตจากบุคลากรด้านเดินทาง และที่พัก มาครอบคลุมอีกสองสาขาคือด้านไมซ์ (MICE Professionals) และด้านการจัดกิจกรรม (Event Professionals)
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน โดยเพิ่มตำแหน่งงานของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว สาขาที่ 3 สาขาไมซ์ (MICE Professionals) และสาขาที่ 4 สาขาการจัดกิจกรรม (Event Professionals) จากเดิมที่มี 2 สาขา คือ 1. สาขาที่พัก (Hotel Services) และ 2. สาขาการเดินทาง (Travel Services) ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน
“ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: ASEAN MRA - TP) เป็นแผนปฏิบัติการร่วมกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติในการสอนและฝึกอบรมบุคลากร รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรระหว่างประเทศ โดยในช่วง 10 ปีแรกมุ่งเน้นด้านที่พักและการเดินทาง ส่วนเรื่อง MICE ได้ถูกยกระดับและเพิ่มเข้ามาในช่วง 5 ปีหลัง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ณ ประเทศบรูไน ได้มีมติเห็นชอบให้ลงนามพิธีสารดังกล่าวโดยการแจ้งเวียนให้แต่ละประเทศสมาชิกลงนาม”
เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ประเทศสมาชิกมีการปิดประเทศ (Lock down) และเกิดความไม่สะดวกในการรับ-ส่งเอกสาร จึงทำให้การลงนามพิธีสารฯ เกิดความล่าช้าจากกำหนดเดิมที่ต้องการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 ปัจจุบันได้มีการลงนามพิธีสารฯ ทั้งหมด 7 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย เวียดนาม และบรูไน
การนำนโยบายข้อตกลงฯ ไปสู่การปฏิบัติ ทุกประเทศอาเซียนต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ด้านประเทศไทย จะพัฒนาความสามารถในตำแหน่งงาน (Competency) ของบุคลากรด้านอีเวนต์ (Event) และในอนาคตจะขอพัฒนาบุคลากรด้านการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนอินโดนีเซียได้ขอทำการพัฒนาความสามารถในตำแหน่งงาน (Competency) ในส่วนของการจัดประชุม (Convention) และงานแสดงสินค้า (Exhibition)
หน่วยงานผู้แทนประเทศไทยร่วมดำเนินงานตามข้อตกลงดังกล่าว ประกอบด้วยกรมการท่องเที่ยวทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก โดยมี TCEB ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรม MICE เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาบุคลากร สาขา Event Professionals โดยกรมการท่องเที่ยวกำลังดำเนินการเพิ่ม TCEB ให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานองค์ประกอบคณะกรรมการรับรองระดับชาติ National Tourism Professionals Board (NTPB) เพื่อขยายขอบเขตการรับรองมาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว สาขา MICE และ Event Professionals อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
“MICE ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียนที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค TCEB หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกันของประเทศในอาเซียนครั้งนี้ จะส่งผลต่อการเปิดเสรีการค้าและบริการที่รวมถึงการจัดงานในภูมิภาคมากขึ้น เอื้อประโยชน์ให้บุคลากรด้าน MICE สามารถทำงานในประเทศอาเซียนด้วยกันได้สะดวกคล่องตัวขึ้น เกิดการพัฒนาและยอมรับทักษะความสามารถของบุคลากรร่วมกันในภูมิภาค เพื่อร่วมผลักดันอาเซียนสู่การเป็นภูมิภาคชั้นนำด้าน MICE ในระดับโลกต่อไป”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด