สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ร่วมกับ แกร็บ ประเทศไทย จัดกิจกรรมให้บริการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ Grab รวมถึงพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุจำนวนกว่า 1,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 13 (กทม.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ เตรียมพร้อมรับการเปิดเมืองเพื่อฟื้นเศรษฐกิจตามมาตรการผ่อนปรนการล็อคดาวน์ของรัฐบาล
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่13 (กทม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และ Grab ประเทศไทย “ผนึกกำลังค้นหาผู้ป่วย โควิด-19 เชิงรุก(Active Case Finding) ในผู้ขับขี่” พร้อมด้วย ดร. เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ Grab ประเทศไทย, นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกรมควบคุมโรค โดย แพทย์หญิงอัมพร เปิดเผยว่า
“นับตั้งแต่เริ่มเกิดสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขวางแผนทั้งเชิงรับและเชิงรุกในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อ ในช่วงเริ่มพบผู้ป่วยจากในวงจำกัดมาพบในชุมชน กรมควบคุมโรค จึงมีนโยบายป้องกันควบคุมโรค โดยใช้กลยุทธ์ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน (Active Case Finding) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Grab ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าดันยอดตรวจให้ได้ 200,000 รายทั่วประเทศ เริ่มเปิดตัวโครงการตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นมา”
จากที่กรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้จัดทำโครงการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุก ได้ตั้งเป้าหมายค้นหาในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเป้าหมายที่วางแผนไว้ในการค้นหาในพื้นที่รับผิดชอบเขตบริการสุขภาพที่13 /สปคม. คือ
1) กลุ่มการเดินรถทุกระบบ
2) กลุ่มอาชีพเสี่ยง ได้แก่ ส่งอาหาร แม่บ้าน รปภ.
3) กลุ่มองค์กร เช่น ศาสนา เรือนจำ มูลนิธิ/จิตอาสากู้ภัย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพ
4) กลุ่มสถานที่แออัด รวมทั้ง
5) พื้นที่รอยต่อเขตเมืองปริมณฑล โดยเริ่มแรกนำร่องที่เขตบางเขน
ทั้งนี้ ผลการตรวจผู้ที่อยู่ในเขตบางเขนจำนวน 3,580 ราย ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 ถึงปัจจุบันพบว่า ผู้พักอาศัยพักอาศัยในเขตบางเขน 3,051 ราย ในจำนวนนี้เป็นพนักงานขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ผู้ขับรถจักรยานยนต์ รับจ้างส่งอาหาร Grab ฟู้ด ขับรถโดยสารสาธารณะ(Taxi) รวม 1,674 ราย รองมาเป็นกลุ่มผู้มีโอกาสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น คนสวน พนักงานเก็บขยะ จำนวน 919 ราย ค้าขาย/แม่ค้า 572 ราย ประชาชนทั่วไป 411 ราย บุคลากรทางการแพทย์ 4
นายแพทย์ปรีชา รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า “ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ประสานความร่วมมือกับ Grab ประเทศไทย เช่น จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ รวมถึงให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลสุขภาพตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 พบว่า ผู้โดยสารใช้บริการคนขับรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบอาชีพเดินรถสาธารณะผู้ขับขี่เหล่านี้ ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง ในการรับหรือแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับการเปิดเมือง หลังจากที่รัฐบาล รวมถึงกรุงเทพมหานครได้ออกมาตรการผ่อนปรน ผ่อนคลายการล็อกดาวน์ กรมควบคุมโรคจึงได้ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่มารับการตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ได้แก่ พาร์ทเนอร์คนขับ และพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุของ Grab โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 จำนวน 768 คน ผลการตรวจทุกรายปกติไม่พบเชื้อ และวันนี้ (5 พฤษภาคม) มารับการตรวจเพิ่มกว่า 200 คน ณ คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสิ่งส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองซึ่งผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข”
“Grab ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการจากภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ใช้บริการและพาร์ทเนอร์คนขับอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา Grab ได้ขานรับนโยบายของภาครัฐและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สังกัดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ครอบคลุมทั้งบริการการเดินทาง และบริการจัดส่งอาหารและพัสดุ อาทิ การแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้กับพาร์ทเนอร์ การประกาศใช้มาตรการส่งอาหาร-พัสดุแบบไร้การสัมผัส การส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหารปฏิบัติตามแนวทางในการจัดส่งอาหารอย่างปลอดภัย และให้พาร์ทเนอร์ยืนห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตรระหว่างรออาหารที่หน้าร้าน รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการหันมาชำระค่าใช้บริการโดยหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ซึ่งล้วนเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของกรมควบคุมโรค”
ดร. เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ Grab ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ Grab ได้ปรับแผนธุรกิจเพื่อรองรับการให้บริการหลังการเปิดเมือง โดยยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยเป็นอันดับแรก โดยนอกเหนือจากการจัดตรวจโรคโควิด-19 เชิงรุกที่ได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว Grab ยังได้แจกหน้ากากผ้าเพิ่มเติมให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและจัดส่งอาหาร-พัสดุอย่างต่อเนื่อง การจับมือกับบริษัทพันธมิตรเพื่อให้บริการอบฆ่าเชื้อรถยนต์กับพาร์ทเนอร์คนขับ การออกมาตรการและสื่อสารให้พาร์ทเนอร์คนขับรักษามาตรฐานด้านความสะอาดในการให้บริการ รวมทั้งการดูแลทำความสะอาดยานพาหนะและอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ Grab ยังอยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางความร่วมมือกับสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ในการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อกั้นระหว่างคนขับและผู้โดยสารที่ทำจากแผ่นพลาสติกใส (Anti-Coronavirus Plastic Partition) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวอุปกรณ์ต้นแบบได้ในเร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริการขนส่งสาธารณะถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากอันเนื่องมาจากการประกาศนโยบายล็อกดาวน์ การปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ รวมไปถึงการประกาศมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและส่งเสริมให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ส่งผลให้จำนวนการใช้บริการการเดินทางของ Grab ลดลงอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของพาร์ทเนอร์คนขับ อย่างไรก็ดี Grab ได้พยายามให้ความช่วยเหลือกับพาร์ทเนอร์โดยการเปิดให้สามารถรับงานส่งอาหารด้วยรถยนต์แทนบริการการเดินทาง รวมไปถึงการโปรโมตบริการจัดส่งสินค้าผ่าน Grab เอ็กซ์เพรส (Grab Express) ด้วยรถยนต์มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่สามารถทดแทนรายได้จากการบริการการเดินทางได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริมให้กับคนไทยในภาวะวิกฤติ
“จากมาตรการผ่อนปรนการล็อคดาวน์ของรัฐบาล น่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจในหลายๆ ส่วนสามารถกลับเปิดให้บริการได้ รวมถึงการที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้พนักงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งเราคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะเริ่มมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการใช้บริการการเดินทางของ Grab เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับพาร์ทเนอร์คนขับของ Grab อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจอย่าง Grab และพาร์ทเนอร์คนขับ ต่างก็ยังต้องร่วมมือกันในการเฝ้าระวังและปฏิบัติตามหลักการและวิธีการบริหารจัดการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขและอง์การอนามัยโลกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้อย่างดีที่สุด” ดร. เก่งการ กล่าวทิ้งท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด