ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นธุรกิจปราบเซียน แม้จะเป็นธุรกิจหอมหวานชวนให้ผู้คนกระโจนเข้ามาเล่นง่าย กลายเป็นตลาด Red Ocean ที่มีผู้เล่นจำนวนมาก แต่กลับหาธุรกิจที่อยู่รอด มียอดขายโตต่อเนื่อง เป็นตัวจริงในวงการได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดรุมเร้า ธุรกิจอาหารกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเผชิญความยากลำบากมากที่สุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยผลการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 คาดว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารจะหดตัว 5.6 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่เป็นกลุ่ม SMEs อันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศกว่า 80% ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลงหรือหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายนอก เห็นได้ชัดจากการที่มียอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว
LINE ในฐานะแพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ทุกกลุ่มธุรกิจเดินหน้าต่อได้ท่ามกลางวิกฤต นำเสนอแนวคิดและแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร SME ไทย สามารถสร้างยอดขาย เดินหน้าฝ่าวิกฤตครั้งนี้ต่อไปได้ ด้วย 2 แนวคิดสำคัญในการทำธุรกิจออนไลน์ คือ การสร้าง Content Marketing ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างตัวตน เรื่องราวของแบรนด์บนโลกออนไลน์ และการรู้จักใช้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยหลักจาก 2 แบรนด์ดัง หวังช่วยจุดประกายไอเดียให้ธุรกิจร้านอาหาร SME ไทยได้สู้ต่อไปได้เพื่อผ่านพ้นวิกฤตใหญ่และเติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน
เมื่อร้านอาหารเกือบทั่วประเทศไทย ต้องเจอกับมาตรการการปิดหน้าร้านออฟไลน์ การเร่งสร้างแบรนด์ สร้างร้านอาหารให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป กล้อง-อาริยะ คำภิโล ผู้ก่อตั้งร้านอาหารเพื่อสุขภาพ Jones’ Salad ได้ให้คำแนะนำสำหรับแบรนด์ SME โดยฉพาะสายธุรกิจอาหาร ที่อยากสร้างธุรกิจในโลกออนไลน์ ในรายการ SME Biz Talk ว่า การจะทำ Content Marketing ให้ได้ดี ต้องเริ่มต้นจากการเอาตัวตนของธุรกิจเป็นตัวตั้ง เช่น ร้านอาหารสุขภาพ ก็ควรเน้นการให้ความรู้ นำข้อมูลสุขภาพมาเสนอด้วย ไม่ใช่สื่อสารแต่สินค้าเพื่อขายอย่างเดียว การเอางานวิจัยหรือบทความที่อ่านแล้วเข้าใจยาก มีความซับซ้อน หรืออัพเดทสถานการณ์ต่างๆ มาทำเป็นการ์ตูน หรืออินโฟกราฟิกให้ลูกค้าเราเข้าใจง่าย เพื่อสร้างการรับรู้ในตัวแบรนด์และความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง เป็นหลักเริ่มต้นง่ายๆ ที่แบรนด์ตนเองได้เริ่มทำตั้งแต่ก่อนเจอวิกฤต พร้อมสร้างคาแรคเตอร์ “ลุงโจนส์” มาเป็นตัวละครหลักในการเล่าเรื่องเพื่อให้เป็นภาพจำกลับมาสู่แบรนด์ ไม่ว่าคอนเทนต์จะเป็นเรื่องใดก็ตาม
ซึ่งการเซ็ตแนวทางคอนเทนต์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เจ้าของธุรกิจควรออกแบบแนวทางของเนื้อหาและคาแรคเตอร์ให้สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการขายสินค้าตั้งแต่แรก และต้องไม่ขัดแย้งกับสินค้าบริการและตัวตนของแบรนด์ ซึ่งคอนเทนต์ที่ดีต้องสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) ไปพร้อมกับทำให้ลูกค้าเข้าใจคุณค่าของแบรนด์ (Brand Value) ทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือได้ในที่สุด
รับชมเคล็ดลับความสำเร็จของ Jones’ Salad ในรายการ SME Biz Talk Season 2 ย้อนหลังได้ที่: https://tv.line.me/v/20660463_sme-biz-talk-ซีซั่น-2-ep3-share-talk
แบรนด์ฟีนิกซ์ ลาวา (Phoenix Lava) แบรนด์ขนมแห่งการให้ ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 8 ปี เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการรู้จักสร้างคอนเซปต์ให้แบรนด์ตนเองตั้งแต่เริ่ม ทำให้แบรนด์มีตัวตน ภาพจำที่โดดเด่นกว่าแบรนด์ทั่วไป โดยชูคอนเซปต์การเป็น “ร้านขนมแห่งการให้” ที่ลูกค้าสามารถซื้อไปฝากคนอื่นได้ กลายเป็นปรัชญาทางธุรกิจทั้งผู้ให้และผู้รับมีความสุข โดยใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่คุณภาพของวัตถุดิบและการออกแบบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าภายใต้ชุดความคิด “ผู้ให้” สู่กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ดังกล่าว ยังได้เล่าเพิ่มเติมในรายการ SME Biz Talk Season 2 อีกว่า นอกจากการสร้างคอนเซปต์ ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างยั่งยืน คือ การให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล (DATA) เพื่อมาวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ทั้งจากพนักงานหน้าร้าน เครื่อง POS หน้าร้าน และผ่านแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงจากการแชท โดยเฉพาะเมื่อยามหน้าร้านจำกัดการให้บริการ เพื่อให้เราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ แพคเกจ ไปจนถึงบริการบนโลกออนไลน์ให้โดนใจ สร้างยอดขายได้ ลูกค้านึกถึงแบรนด์ตลอดเมื่อต้องการซื้อ
คุณปริญญ์ยังกล่าวเพิ่มว่า ผู้ประกอบการควรต้องมองให้ขาดว่าโซเชียลมีเดียแต่ละตัวมีบทบาทต่างกัน ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนป้ายโฆษณาที่สร้างการรับรู้ แต่ด้วยเสน่ห์ของการแชท เราใช้ LINE Official Account เป็นช่องทางหลักในการปิดการขายและเก็บฟีดแบคจากกลุ่มลูกค้า โดยต้องเรียนรู้เทคนิคการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ภายในให้ครบ เพื่อเราจะได้ใช้เทคโนโลยีให้คุ้ม ไม่ว่าจะเป็นจากหน้าแสดงผลข้อมูลเชิงลึก (Insight) ในระบบ LINE OA ไปจนถึงการแชทพูดคุยกับแอดมินร้านที่มีฟีเจอร์ช่วยจำต่างๆ มากมาย ทำให้เราเก็บข้อมูลได้เยอะและครบถ้วน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจาก LINE OA แบรนด์พบว่ากลุ่มลูกค้าหลักคือผู้หญิงวัยทำงานที่มักซื้อฝากครอบครัว คนรอบข้าง ส่งผลต่อมาถึงการพัฒนาแพคเกจให้เหมาะสมโดนใจ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่คิดถึงความเป็นญี่ปุ่น ก็ให้แบรนด์พัฒนาสินค้าใหม่พร้อมเรื่องราวมาตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการให้บริการโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์คือการมองในมุมมองลูกค้าเป็นสำคัญ ลูกค้าที่แอด LINE OA มาส่วนใหญ่คือเป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจในการซื้ออยู่ระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือให้ข้อมูลสินค้า ปิดการขายด้วยประสบการณ์ที่ดีที่สุด ถึงจะทำให้ลูกค้าอยู่กับ LINE OA เราต่อไป ไม่บล็อกช่องทางนี้ เช่น ลูกค้าแอดเรามาเพราะอยากรู้หรือมีปัญหาอะไร สิ่งเหล่านี้ควรอยู่ใน Greeting message หรือ Rich Menu ให้เห็นตั้งแต่วินาทีแรก ในยามที่ลูกค้ามาดูเมนูที่หน้าร้านไม่ได้ ก็ควรสร้างเมนูอาหารไว้ในหน้า Timeline เพื่อให้ลูกค้ากดดูเองได้ทันที ทันใจ รวมไปถึงการ Broadcast ที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เลือกส่งข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจ หรือการทำโปรโมชั่นพิเศษสื่อสารให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มแตกต่างกันระหว่างลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เป็นต้น
รับชมเคล็ดลับความสำเร็จของ Phoenix Lava ในรายการ SME Biz Talk Season 2 ย้อนหลังได้ที่: https://tv.line.me/v/20660462_sme-biz-talk-ซีซั่น-2-ep3-brand-talk
รูปแบบการตลาดในตอนนี้เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องปรับตัวสู่โลกออนไลน์ ร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์ สร้างเรื่องราว ตัวตนของแบรนด์ตนเองให้ดี พร้อมใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เป็น ด้วยเสน่ห์แห่งแชทคอมเมิร์ซ LINE Official Account จึงถือเป็นช่องทางสำคัญในการปิดการขายและเก็บข้อมูลเพื่อเดินหน้าธุรกิจ โดย LINE หวังว่าธุรกิจอาหาร SME ไทยจะเริ่มเรียนรู้ ปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ และพร้อมที่จะเติบโตสู่เส้นทางความสำเร็จในอนาคต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด