คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่านับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา พนักงานของ IBM ทั่วโลกกว่าร้อยละ 95 เริ่มทำงานจากบ้าน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
วันนี้ หลายองค์กรเริ่มตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่สถานการณ์จะคลี่คลายเพื่อให้พนักงานสามารถกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศได้ และภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้างที่จะควรจะให้พนักงานทำงานในออฟฟิศต่อไปได้ในกรณีที่การแพร่ระบาดปะทุขึ้นอีกครั้ง
ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ การตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะขอให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติอีกครั้ง อาจเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับนายจ้าง นายจ้างจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสวัสดิภาพของพนักงานกับความต้องการของลูกค้าและจุดแข็งขององค์กร ปัจจัยต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละพื้นที่และพนักงานแต่ละคน อีกทั้งต้องทำความเข้าใจว่าควรเพิ่มมาตรการใดบ้างเพื่อปกป้องพนักงานเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
1. อัตราและแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่
2. สุขภาพและผลตรวจสุขภาพของพนักงาน
3. ภาพรวมสุขภาพของประชากรและปัจจัยเสี่ยง
4. กฎข้อบังคับและประกาศของภาครัฐ
5. นโยบายของบริษัทที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์
การนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ดังนั้น การนำข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพและความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคของพนักงาน มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอัตราและแนวโน้มของการติดเชื้อในแต่ละพื้นที่่ จะช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นภาพรวมที่ชัดขึ้น ว่าพื้นที่ไหนที่เข้าเงื่อนไขในการให้พนักงานกลับเข้าทำงานได้ หรือข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ว่า ในพื้นที่ใดควรชะลอการเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานออกไปก่อนเพื่อปกป้องสุขภาพของพนักงาน นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและความเสี่ยงต่างๆ ของประชากร เพื่อช่วยให้ทราบข้อมูลเชิงลึกของแต่ละพื้นที่ ว่าจำเป็นต้องมีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่
องค์กรส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงานเป็นอย่างยิ่งในระหว่างที่พนักงานทำงานจากบ้านและเตรียมจะกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยในการสื่อสารข้อมูลของบริษัทและรวบรวมข้อมูลของพนักงานแต่ละคน บางองค์กรได้มีการนำผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเข้ามาช่วยสื่อสารโต้ตอบกับพนักงานจำนวนมาก หรือตัวอย่างของ IBM ที่มี Watson Assistant ที่ได้รับการฝึกมาเพื่อตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างจะต้องสามารถประเมินสุขภาพและความพร้อมของพนักงานในการกลับเข้าทำงานได้อยู่เสมอ นั่นหมายความว่านายจ้างจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานสามารถรายงานข้อมูลด้วยตนเองได้อย่างรวดเร็วและเรียลไทม์ โดยแอพพลิเคชันเหล่านี้ต้องมีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยในระดับสูง
พนักงานและนายจ้างต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยประเมินข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมในการกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งอาจไม่ใช่การตัดสินใจครั้งเดียวจบ เพราะอัตราการติดเชื้อโควิด-19 และมาตรการภาครัฐอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
IBM ได้จัดทำชุดแนวทางปฏิบัติสำหรับการกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานจากการประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้าน โดย “คู่มือการกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานของ IBM ” นี้ได้ให้คำแนะนำที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับพนักงาน พันธมิตร และลูกค้า เกี่ยวกับเฟสต่างๆ ของ IBM ในการกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานเมื่อสถานการณ์และบริบทเอื้ออำนวย
“คู่มือการกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานของ IBM ” ประกอบด้วยข้อควรพิจารณาสำหรับการกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานและใช้สถานที่ร่วมกันสำหรับพนักงานชุดแรก โดยการกำหนดระยะเวลาในการให้พนักงานชุดถัดไปกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ทำงานนั้น จะพิจารณาจากการประเมินภาพรวมสุขภาพและแนวนโยบายของแต่ละพื้นที่
คู่มือนี้จะให้แนวทางชี้นำและข้อสันนิษฐาน ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติในการให้พนักงานกลับเข้าทำงานซึ่งแบ่งออกเป็นสามระยะ โดยจะเริ่มต้นจากพนักงานที่ทำงานในส่วนงานที่จำเป็นต้องทำในสถานที่ทำงานมากที่สุด การเตรียมพื้นที่ทำงานและขั้นตอนปฏิบัติสำหรับนายจ้าง และการเตรียมกระบวนการที่พนักงาน ลูกค้า และผู้มาเยือนจะต้องปฏิบัติตาม รวมถึงเช็คลิสต์ตรวจสอบความพร้อม
คู่มือนี้คือเอกสารการทำงานและจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ รวมถึงเมื่อมีแนวทางปฏิบัติและระเบียบขั้นตอนใหม่ๆ ออกมา โดยองค์กรต่างๆ สามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ได้ที่ http://newsroom.ibm.com/download/IBM_Return_to_Workplace_Playbook_May_2020.pdf
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด