ผลงานการวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์มเอกซเรย์อัตโนมัติ โดยใช้ Machine Learning จากทีม IDEA Lab พัฒนาโดยคุณปฐมพงศ์ สินธุ์งาม คุณธีรวร อภิชนาพงศ์ คุณอุกฤษฎ์ เลิศวรรณาการ คุณฐณพงศ์ ช่วงยรรยง นักศึกษาระดับปริญญาตรี และ อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภท Open Topic จากการการแข่งขันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2561 (AIROBIC 2018)
อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริง จึงพัฒนาโปรเจค Machine Learning ผลงาน AI ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรควัณโรคเบื้องต้นจากฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยลดภาระงานแพทย์ที่ปัจจุบันแพทย์ต้องอ่านฟิล์ม เอกซเรย์จำนวนมาก ใช้เวลานาน แต่หากมีเครื่อง Machine Learning ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจะช่วยคัดกรองแยกผู้ป่วยที่เครื่องมีความมั่นใจว่าไม่เป็นผู้ป่วยวัณโรคก็จะสามารถแยกผู้ป่วยเหล่านี้ออกมาได้ ลดการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ของแพทย์ได้มาก
คุณอุกฤษฎ์ เลิศวรรณาการ นักศึกษาฟีโบ้ มจธ. เล่าถึงการออกแบบโปรแกรม AI ผลงาน Machine Learning ว่า การทำงานของโปรแกรมจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก นำข้อมูลแผ่นเอกซเรย์ปอดเข้าเครื่อง เนื่องจากแผ่นเอกซเรย์จะติดอวัยวะส่วนอื่นด้วย เช่น แขน โครงกระดูก โดยโปรแกรมจะแยกเฉพาะส่วนรูปปอดออกมา เพื่อนำไปวินิจฉัย ส่วนที่สองจะมี AI อีกตัว ที่จะวินิจฉัยว่าฟิล์มเอกซเรย์นั้น เป็น หรือไม่เป็น โรควัณโรค พร้อมกับเครื่องจะแสดงความมั่นใจของการวินิจฉัยเป็นเปอร์เซ็นต์ ในช่วงการพัฒนาโปรแกรม ทางทีมมีข้อมูลฟิล์มเอกซเรย์ตัวอย่างจากโรงพยาบาลที่มีผลการตรวจจากในห้องแล็บ ทำให้สามารถนำมาพัฒนาโปรแกรม และทดสอบความแม่นยำ โดยขณะนี้การทดสอบพบว่าเครื่องมีความแม่นยำเมื่อเทียบกับผลตรวจจริง ประมาณ 80%
อาจารย์บวรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเครื่องวินิจฉัยวัณโรคจากฟิล์ม x-ray อัตโนมัติ โดยใช้ Machine Learning หากได้พัฒนาต่อยอดและทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ในอนาคตมีเครื่องติดตั้งอยู่ตามโรงพยาบาล จะสามารถคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ลดค่าใช้จ่าย และลดภาระงานให้กับแพทย์ได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด