Krungthai COMPASS ประเมินผลกระทบ หลัง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ | Techsauce

Krungthai COMPASS ประเมินผลกระทบ หลัง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ

IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจหดตัวถึง 4.9% ตามรายงาน World Economic Outlook เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมในเดือน เม.ย. ที่ติดลบ 3.0% จากการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ได้สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะผลกระทบที่รุนแรงต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ 

ซึ่งคาดว่าจะทำให้โลกต้องเผชิญกับความยากจนที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 สำหรับปี 2021 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว 5.4% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 5.8% ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ต่ำกว่าก่อนเกิด COVID-19 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติค่อนข้างมาก และการฟื้นตัวที่คาดว่าจะช้ากว่าที่ประเมินไว้ ยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น โดยนับจากนี้ โลกต้องเผชิญกับ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ต่อไป ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อแนวโน้มการผลิต (Supply potential) อย่างรุนแรง โดยการปรับลดประมาณการมีสาระสำคัญดังนี้

  • การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในหลายประเทศ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด จนเกิด Disruption ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด อาจยังมีข้อจำกัดเรื่องการตรวจสอบโรค ซึ่งก็หมายรวมถึงความไม่แน่นอนในการประเมินระดับการแพร่ระบาด 
  • ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 ยกเว้นจีนที่เกือบทั้งหมดเริ่มเปิดทำการตามปกติแล้วในช่วงต้นเดือน เม.ย. ขณะที่ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการบริโภคและบริการที่หดตัวอย่างรุนแรงจาก Social distancing และมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้รายได้หดหาย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอ่อนแอ ขณะที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องหั่นเม็ดเงินสำหรับการลงทุนเพื่อใช้รับมือกับดีมานด์ที่ลดลง การแทรกแซงด้านอุปทาน (Supply interruption) และความไม่แน่นอนในการประเมินรายได้ในอนาคต
  • อุปสงค์โดยรวมชะงักงันเป็นวงกว้าง และยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจน แม้หลายประเทศจะค่อยๆ กลับมาเปิดเศรษฐกิจได้บางส่วนตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่จากข้อมูล Mobility Trend กลับพบว่า กิจกรรมต่างๆ ทั้งการจับจ่ายใช้สอย สันทนาการ และการเดินทางไปทำงานยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาดจากผลของ Social distancing (รูปที่ 1)
  • แรงปะทะต่อตลาดแรงงานอย่างรุนแรง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว ย่อมสร้างหายนะต่อตลาดแรงงานทั่วโลก โดยจากข้อมูล International Labour Organization พบว่า เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2019 จำนวนชั่วโมงการทำงานแบบเต็มเวลาในไตรมาส 1/2020 ที่ลดลงเทียบเท่าได้กับการสูญเสียงานไปถึง 130 ล้านตำแหน่ง และลดลงมากกว่า 300 ล้านตำแหน่งในไตรมาส 2/2020 ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า แรงปะทะดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มแรงงานฝีมือต่ำ (Low-skilled worker) ซึ่งไม่สามารถปฎิบัติงานที่บ้านได้
  • การหดตัวของการค้าโลก  การค้าโลกในไตรมาส 1/2020 ที่หดตัวถึง 3.5%YoY สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่ขาดหายไปทั่วโลก ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงภาคการผลิตที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายสายพานการผลิตได้จากข้อจำกัดด้านการค้าในบางประเทศ 
  • อัตราเงินเฟ้ออ่อนแรงมากขึ้น อันเนื่องจากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่มีที่มาจาก

อุปสงค์โดยรวมชะลอตัว รวมไปถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วหดตัวราว 1.3 ppt นับตั้งแต่ปลายปี 2019 สู่ระดับ 0.4%YoY ในเดือน เม.ย. ส่วนกลุ่มประเทศเกิดใหม่หายไป 1.2 ppt สู่ระดับ 4.2%YoY เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอท่ามกลางหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งแตะระดับสูงสุดตลอดกาล

กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 8.0% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมที่หดตัว 6.1% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากหลายประเทศยังเผชิญแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อไป สำหรับปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.8% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าระดับปี 2019 ถึง 4.0% อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อาจกลายเป็นตัวฉุดอุปสงค์ในประเทศ กดดันให้เข้าสู่เงินฝืดในระยะต่อไป 

กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรงมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มนี้จะติดลบ 3.0% ในปี 2020 และขยายตัวที่ 5.9% ในปี 2021 ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะหดตัวมากถึง 7.7% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่หดตัว 6.7% ก่อนที่จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.0% ในปี 2021 (ประมาณการเดิมที่ 6.1%) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นหลัก 

คาดหนี้สาธารณะทั่วโลกแตะระดับสูงสุดตลอดกาลเกินกว่า 100% ต่อจีดีพี อยู่ที่ 101.5% และ 103.2% ในปี 2020-2021 ขณะที่การขาดดุลงบประมาณทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 14% ต่อจีดีพี เนื่องจากรายได้ภาครัฐที่อาจลดลงอย่างหนักจากรายได้ภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ปรับตัวลดลง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงปะทะอย่างรุนแรงจาก COVID-19

  • การประเมินจาก IMF สะท้อนความรุนแรงของวิกฤต COVID-19 ที่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนพร้อมกันทั่วโลก แม้หลายประเทศจะคลายล็อคดาวน์ไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่การบริโภคเอกชนกลับยังไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันกับที่ผู้ผลิตก็พยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจภายใต้ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าโลกต้องเผชิญกับ ”Twin Supply-Demand Shock” พร้อมๆ กันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงและเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี 
  • Krungthai COMPASS คงประมาณการเดิมที่เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะหดตัวถึง 8.8% จากอุปสงค์ต่างประเทศที่หดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจและชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังวิกฤต COVID-19 ทำให้ไทยต้องพึ่งพาตัวขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน ด้วยเศรษฐกิจไทยในระยะหลังพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี แต่กลับเป็นว่ากลไกดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะภาคส่งออกที่อาจต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าที่ต่อจากนี้จะ

รุนแรงขึ้น (Trade Protectionism) ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คาดว่าจะยังไม่กลับมาจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลาย ส่วนอุปสงค์ในประเทศก็ดูเหมือนจะอ่อนแรงลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุมเร้า “มาตรการทางการคลังแบบเร่งด่วน” จึงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ แม้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังที่ 42.88% หรือเกือบ 7.9 ล้านล้านบาท/1  แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ส่อเค้ายังไม่ฟื้นกลับไปสู่จุดเดิมในปี 2019 ทำให้จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐก็มีแต่จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง และส่งผลให้หนี้สาธารณะพอกพูนจนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่วนกลับไปซ้ำเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

บทความโดย พิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

True IDC ทุ่มหมื่นล้านลงทุนธุรกิจ Data Center ตอบโจทย์บิ๊กเทค และยุคของ AI

บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี (True IDC) ผู้นำการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ของประเทศไทยลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจ...

Responsive image

อินโดรามา เวนเจอร์ส ระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์ ผ่าน Syndicated Loan จาก HSBC และ Standard Chartered เตรียมลุยกลยุทธ์ IVL 2.0

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศความสำเร็จในการทำสัญญาสินเชื่อเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) มูลค่า 500 ล้านเ...

Responsive image

ETDA จัดงานใหญ่ DGT2024 ดึง 120 องค์กรชั้นนำถ่ายทอดโซลูชั่น ตอบโจทย์ SMEs

ETDA ดึงกว่า 120 องค์กรชั้นนำ จัดงานใหญ่ DGT2024 แลนด์มาร์คคนรุ่นใหม่ จัดเต็ม! โซลูชั่น ตอบโจทย์ SMEs เพื่อคนดิจิทัล 29-30 พ.ค.นี้ ที่พารากอน ฮอลล...