iPrice เผยบทสรุปสงครามไตรมาสแรกของปี 2019 ใครครองตลาด E-Commerce ใน SEA | Techsauce

iPrice เผยบทสรุปสงครามไตรมาสแรกของปี 2019 ใครครองตลาด E-Commerce ใน SEA

ผ่านไปอีกหนึ่งไตรมาสสำหรับสงครามอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ดูจะร้อนระอุขึ้นในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมาพร้อมกับกลยุทธ์เด็ดมากมายสมกับที่แอบจับตามองร้านค้ารุ่นพี่มาเป็นเวลานาน เรียกได้ว่างานนี้ใครไม่เจ๋งจริง จับลูกค้าไม่อยู่หมัด ก็เตรียมรอรุ่นน้องเสียบได้เลย และก็เช่นเดิมที่ทุก ๆ ไตรมาส iPrice แหล่งช้อปปิ้งเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์จะอัพเดตข้อมูล Map of E-commerce ที่แสดงให้เห็นความขาขึ้น-ลงของบรรดาร้านค้าอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค พร้อมเจาะลึกสงครามอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้เห็นกันแบบถึงพริกถึงขิง ที่เด็ดไปกว่านั้นไตรมาสนี้ ทาง iPrice ยังได้ผนึกกำลังกับ AppAnnie บริษัทวิจัยตลาดแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อเผยข้อมูล 10 อันดับแอพพลิเคชั่นสายช้อปปิ้งที่มีจำนวนผู้ใช้บริการรายเดือนมากที่สุดใน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์ และไทย ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่มีนัยยะแฝงว่า ที่จริงแล้วร้านค้าไหนกันแน่ที่เจาะตลาดผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนได้อยู่หมัดในแต่ละประเทศ เสริมทับด้วยข้อมูลและไฮไลท์ที่สำคัญอีกมากมาย ดังนี้

Lazada และ Shopee ครองตำแหน่งร้านค้าที่มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดใน SEA จริงหรือ?

ถ้าจะให้กล่าวถึงร้านค้าอีคอมเมิร์ซฮอตฮิตก็คงมีไม่กี่ชื่อที่ผุดขึ้นมาในหัวหรอก ส่วนใหญ่ไม่ Lazada ก็ Shopee แต่ก็ใช่ว่าทั้งสองร้านค้านี้จะป๊อปปูล่าห์ไปทั้งภูมิภาคซะทีเดียว เพราะยังมีบางประเทศที่ร้านค้าเจ้าถิ่นยังคงเป็นแชมป์อยู่ เช่น อินโดนีเซียที่ Tokopedia ครองอันดับแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุด รองลงมาคือ Bukalapak แล้วถึงจะตามมาด้วย Shopee ตบท้ายด้วย Lazada ต่อมาคือเวียดนามที่ Shopee ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ตามด้วย Tiki ร้านค้าเจ้าถิ่น แล้วถึงปิดท้ายด้วย Lazada เป็นอันดับที่สาม (ครองอันดับนี้มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ซึ่งก่อนหน้านั้นจะอยู่อันดับที่ 1) สุดท้ายคือประเทศสิงคโปร์ที่ Qoo10 ครองบัลลังก์อันดับที่ 1 ในแบบที่ใครก็โค่นบัลลังก์ไม่ลง แล้วถึงจะตามมาด้วย Lazada และ Shopee

ใครกันแน่คือผู้ครองบัลลังก์ทางด้านแอพพลิเคชั่นอย่างแท้จริง?

ยุคสมัยนี้นอกจากการวัดความฮอตของธุรกิจจากจำนวนผู้เข้าชมสินค้าทางเว็บไซต์แล้ว อันดับการใช้งานทางแอพฯ ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ปล่อยวางไม่ได้ อันดับความนิยมของแอพฯ นั้นมีแหล่งที่มา 2 ช่องทางด้วยกัน คือ จาก App Store และ Play Store ซึ่งดูเหมือนในไตรมาสนี้ Shopee จะนำโด่งโดยการครองอันดับที่ 1 ถึง 5 จาก 6 ประเทศด้วยกันทาง App Store (ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม) ในขณะที่ Lazada ได้อันดับที่ 1 จากตลาดสิงคโปร์เท่านั้น และทางด้าน Play Store ร้าน Shopee ยังได้ครองอันดับที่ 1 ถึง 4 จาก 6 ประเทศ (ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) โดย Lazada จะได้ส่วนแบ่งอันดับแรก ที่ 2 จาก 6 ประเทศ (ได้แก่ ไทย และสิงคโปร์) จากภาพรวมจะเห็นว่า แม้ส่วนใหญ่ Lazada และ Shopee จะผลัดกันครองอันดับที่ 1-2 แต่ในตลาดอินโดนีเซียเห็นจะมี Tokopedia และ Bukalapak ร้านค้าเจ้าถิ่นที่คอยเลื่อนขาเก้าอี้อยู่ รวมไปถึงตลาดเวียดนามที่ Tiki ร้านค้าเจ้าถิ่นดูจะไม่ยอมให้ใครแย่งอันดับที่สองและพร้อมที่จะขึ้นแท่นครองบัลลังก์ในทุกขณะ (App Store) งานนี้เรียกได้ว่าถ้าใครพลาดอาจโดนแย่งตำแหน่งได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

10 อันดับแอพพลิเคชั่นสายช้อปปิ้งมีจำนวนผู้ใช้บริการรายเดือนมากที่สุดใน SEA

มาถึงไฮไลท์เด็ดที่ทาง iPrice ได้จับมือกับ AppAnnie ในไตรมาสนี้เพื่อเผยการจัดอันดับแอพพลิเคชั่นสายช้อปปิ้งที่มีผู้ใช้บริการรายเดือนสูงสุดใน SEA ทั้งจาก Play Store และ App Store กันบ้าง จากการจัด 10 อันดับแอพฯ ฮอตในแต่ละประเทศจะเห็นว่า ถ้าวัดจากจำนวนผู้ใช้บริการแอพฯ มากที่สุดในแต่ละเดือน จะเห็นว่า Lazada นำ Shopee มากกว่าที่ 4:1 ประเทศจาก 6 ประเทศ มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่ Tokopedia ขึ้นแท่นเป็นอันดับที่หนึ่ง ดัน Shopee ลงไปอยู่อันดับที่สอง คั่นด้วย Bukalapak ร้านค้าเจ้าถิ่นอีกหนึ่งร้าน และถึงจะตามด้วย Lazada เป็นอันดับที่สี่ ทางด้านการแข่งขันในตลาดสิงคโปร์ก็ดูน่าสนใจ เพราะ Lazada ดัน Qoo10 ซึ่งคว้าตำแหน่งร้านค้าที่ผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุดลงไปอยู่อันดับที่สอง ตามมาดู Shopee อันดับสาม และ Taobao ร้านค้าเชื้อสายจีนมาเป็นอันดับที่สี่ สำหรับประเทศไทยดูจะมีข้อมูลที่น่าจับตามองกว่าประเทศอื่น แม้ข้อมูลจะดูธรรมดาสำหรับอันดับที่ 1-3 แต่อันดับที่ 4 กลับตกไปอยู่ที่ JD Central ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่เพิ่งเข้าร่วมสังเวียนได้ไม่ถึง 1 ปี และอันดับ 10 คือ Joom ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่เชื่อว่าชาวไทยน้อยคนนักจะรู้จัก แต่กลับมียอดผู้ใช้บริการติดอันดับ 1 ใน 10 ได้ มีจุดเด่นคือการจัดส่งฟรี และรับประกันการจัดส่งในแบบที่ถ้าสินค้าเสียหายก็ขอเงินคืนได้เลย ดูจะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ประมาทไม่ได้เลยในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ร้านค้าเจ้าถิ่นและรุ่นพี่ทั้งหลายคงต้องระวังการเสียอันดับให้ดี

ขั้นตอนการศึกษา

  • จัดอันดับผู้เข้าชมสินค้าโดยเฉลี่ยต่อเดือน (ที่มา: SimilarWeb)
  • จัดอันดับแอพฯช้อปปิ้งโดยเฉลี่ย (ที่มา : App Annie)
  • รายชื่อร้านค้า: เรารวบรวมร้านค้าที่มีผู้เข้าชมอย่างน้อย 1 แสนคนต่อเดือนหรือมีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียอย่างน้อย 1 แสนคน ร้านค้าเหล่านี้ไม่รวมร้านขายตั๋ว,ไฟแนนซ์, กองทุน, คูปอง, บริการส่งอาหาร,ประกัน, บริการส่งสินค้า, เว็บ meta search คลาสสิฟายด์และโฆษณา

เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล iPrice

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...

Responsive image

รู้จัก MoneyThunder แก้หนี้นอกระบบด้วย AI แอปสินเชื่อออนไลน์จาก ABACUS Digital

สำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนกว่า 21 ล้านคน พร้อมทำความรู้จัก MoneyThunder แอปสินเชื่อ AI ที่ช่วยคนไทยเข้าถึงเงินทุนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน...