บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ก้าวสู่ผู้นำคลังสินค้าโรโบติกส์ หลังรุกขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เตรียมเปิดบริการคลังสินค้าห้องเย็นโรโบติกส์อีก 3 อาคารในครึ่งปีหลังนี้ หลังจากเพิ่งเปิดตัวคลังโรโบติกส์สำหรับจัดเก็บเอกสาร DataSafe แห่งแรกในประเทศ
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจัดเก็บสินค้า เพิ่มความรวดเร็วแม่นยำ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน วางแผนนำเทคโนโลยี AI และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ Smart Warehouse
คุณชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งยกระดับธุรกิจให้บริการคลังสินค้าสู่การเป็น “ผู้นำคลังสินค้าโรโบติกส์” โดยหลังจากได้นำเทคโนโลยีโรโบติกส์เข้ามาใช้กับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาครเป็นครั้งแรกในปี 2562 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจัดเก็บสินค้า แก้ไขปัญหาแรงงาน ขาดแคลน เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนคลังสินค้าโรโบติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มคลังสินค้าห้องเย็นและขยายไปยังคลังจัดเก็บเอกสาร DataSafe ภายใต้เครือ JWD Group
ปัจจุบัน JWD มีคลังสินค้าห้องเย็นโรโบติกส์ที่เปิดให้บริการแล้ว 3 อาคาร คิดเป็นพื้นที่จัดเก็บสินค้ารวม 21,000 ตารางเมตร หรือ 46,000 พาเล็ต และกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 3 อาคาร ในจังหวัดสระบุรี สมุทรสาครและย่านบางนา คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 แห่งจะเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้ารวมอีก 17,000 ตารางเมตร หรือ 40,000 พาเล็ต รวมเป็น 38,000 ตารางเมตร หรือ 86,000 พาเล็ต
นอกจากนี้ยังมีคลังสินค้าจัดเก็บเอกสารโรโบติกส์ที่เปิดให้บริการแล้วอีก 1 อาคาร ในย่านสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่จัดเก็บเอกสารเกือบ 5,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 745,000 กล่อง ซึ่ง JWD นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการคลังสินค้าจัดเก็บเอกสารโรโบติกส์
“หากพิจารณาจากพื้นที่ให้บริการจัดเก็บสินค้า น่าจะถือได้ว่า JWD เป็นผู้นำการให้บริการคลังสินค้าโรโบติกส์ โดยเราต้องการเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บสินค้า แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน ลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถโฟล์คลิฟต์ จึงนำเทคโนโลยีโรโบติกส์ที่ควบคุมสั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการออกแบบและพัฒนาร่วมกับซัพพลายเออร์มาปรับใช้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บได้มากกว่าคลังสินค้าแบบเดิมและตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น” คุณชวนินทร์ กล่าว
คุณชวนินทร์ กล่าวต่อไปว่า คลังสินค้าโรโบติกส์ใช้ระบบจัดเก็บสินค้าแบบอัตโนมัติหรือ Automated Storage Retrieval System (ASRS) โดยมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติบนรางเพื่อนำสินค้าไปยังเครนและยกขึ้นไปจัดเก็บยังชั้นวาง ซึ่งมีจุดเด่นหลายด้าน ได้แก่
(1) เพิ่มขีดความสามารถการจัดเก็บสินค้าได้สูงสุดถึง 16 ชั้น หรือประมาณ 2 เท่า จากเดิมที่จัดเก็บได้ 5-7 ชั้น ทำให้ประหยัดต้นทุนด้านที่ดิน และสามารถปฏิบัติงานในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน รวมถึงใช้ระบบเซ็นเซอร์ในการนำทางโดยไม่ต้องใช้แสงสว่างมาก
(2) มีความรวดเร็วและแม่นยำ โดยใช้ระยะเวลาจัดเก็บและหยิบสินค้าไม่เกิน 3 นาทีต่อ 1 แร็ก (Rack) หรือ 1 พาเล็ต (Pallet) จากเดิมใช้ระยะเวลา 10 นาทีสำหรับระบบโมบายพาเล็ต (Mobile Pallet) และใช้ระยะเวลา 30 นาทีสำหรับระบบชั้นวางแบบดั้งเดิม
(3) ใช้แรงงานลดลงจาก 5-15 คนต่ออาคาร เหลือเพียง 1-2 คนต่ออาคาร เนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานขับรถโฟล์คลิฟต์
(4) ลดพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากไม่ต้องมีรถโฟล์คลิฟต์วิ่งเข้า-ออกอาคารและลดการใช้แสงสว่างในอาคาร
บริษัทฯ มีแผนพัฒนาคลังสินค้าโรโบติกส์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็น Smart Warehouse (คลังสินค้าอัจฉริยะ) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอื่นนอกจากการจัดเก็บสินค้า ปัจจุบันได้เริ่มทดลองเชื่อมต่อเทคโนโลยี AI เข้ากับกล้องเพื่อจับภาพสินค้าอาหารทะเลบนสายพานลำเลียงเพื่อทำการคัดแยกสายพันธุ์ปลาแทนการใช้แรงงานคัดแยก
โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาระบบกล้องให้รองรับการเชื่อมต่อกับกิจกรรมดังกล่าวและดำเนินการขอจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงนำระบบแชตบอท (Chat Bot) เข้ามาปรับใช้เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมพนักงาน ติดตามพนักงานใหม่ที่เข้าทำงาน และต่อยอดสู่การพัฒนาข้อมูลด้านอื่น ๆ
นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีโรโบติกส์มาใช้กับกระบวนการทำงานอื่น ๆ ภายในคลังสินค้าห้องเย็น เช่น การจัดเรียงสินค้าบนรถเข็นก่อนนำเข้าห้องฟรีซที่มีอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส เป็นต้น รวมถึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับคลังสินค้าห้องเย็น Fulfillment ในย่านบางนา ที่มีบริการจัดเก็บ แพ็ก ส่ง อย่างครบวงจรแก่ลูกค้า ที่เตรียมเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ของปีนี้ มีพื้นที่จัดเก็บสินค้า 2,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการและสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ในตลาด
นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดต้นทุน JWD ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อปบนหลังคาอาคารคลังสินค้า, กระบวนการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่, การนำรถโฟล์คลิฟท์ระบบไฟฟ้าเข้ามาใช้ รวมทั้งพยายามมุ่งผลักดันการขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งทางบก ราง และเรือเพื่อสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับกรีนโลจิสติกส์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด