จับทิศทาง 5 เทรนด์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อโลกจากงาน 'K2019' | Techsauce

จับทิศทาง 5 เทรนด์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อโลกจากงาน 'K2019'

พลาสติก วัสดุมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์โดยเป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สามารถใช้ทดแทนวัสดุประเภทอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งด้านความแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา และยังสามารถปรับแต่งคุณสมบัติได้หลากหลายตามความต้องการด้วยการสังเคราะห์และใส่สารเติมแต่ง นอกจากนี้พลาสติกยังใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่า และการผลิตพลาสติกแต่ละครั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น ๆ ในปริมาณที่เท่ากันจึงทำให้พลาสติกมีต้นทุนต่ำและได้รับความนิยมในหลากหลายอุตสาหกรรม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา 

อย่างไรก็ตาม หากจัดการไม่ดี วัสดุมหัศจรรย์นี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเลไปโดยปริยาย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องมีการบริหารจัดการขยะจากบกอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกชั้นนำจากทั่วโลกที่มองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงรวมตัวกันเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ในงานจัดแสดงนวัตกรรมและสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก K2019 ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 16-23 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่ผู้คนในแวดวงพลาสติกให้ความสนใจอย่างมาก และถือเป็นตัวชี้วัดที่จะกำหนดเทรนด์ในอุตสาหกรรมพลาสติกได้ 

โดยงาน K2019  ปีนี้มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงนวัตกรรมถึง 3,300 รายจากทั่วโลก รวมถึง “SCG” หนึ่งในผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปีนี้คอนเซ็ปต์ของงานรวมถึงนวัตกรรมที่แต่ละองค์กรร่วมนำเสนอต่างมุ่งไปที่ “พลาสติกเพื่อความยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาพลาสติกในอนาคตที่ต้องยั่งยืนและมีประสิทธิภาพทั้งด้านการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากร โดยปรับเปลี่ยนตั้งแต่แนวคิดการออกแบบตั้งแต่ต้นทาง วิธีการผลิตใหม่ ๆ การรณรงค์ให้ผู้บริโภคเกิดการใช้ซ้ำ รวมถึงการจัดการหลังการใช้ และการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 

5 ไฮไลต์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน

ผู้ประกอบการชั้นนำได้คิดค้นขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการบริโภคในปัจจุบันและนำเสนอในเวทีนี้ ได้แก่

1. รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น 

โดยพื้นฐานแล้วพลาสติกนับเป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% หากมีการจัดเก็บหลังการใช้งานที่ถูกต้อง ก็จะไม่เป็นขยะรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาวงการพลาสติกได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้งาน โดยประกอบหรือผสมกับวัสดุชนิดอื่นที่ไม่ใช่พลาสติก ทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้ อาทิ บรรจุภัณฑ์ประเภทชั้นฟิล์มหลายชั้น ซึ่งมีการใช้ชั้นฟิล์มประเภทอลูมิเนียม ในงาน K2019 จึงมีผู้ประกอบการหลายเจ้าไม่ว่าจะเป็น Sabic, Borealis, Dow และ SCG ที่นำเสนอโซลูชันเพื่อทดแทนบรรจุภัณฑ์หลายชั้น โดยเฉพาะแนวคิด Mono Materials ที่พัฒนาบรรจุภัณฑ์หลายชั้นโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ ตลอดจนการพัฒนาพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อยู่แล้ว ให้สามารถรีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น โดยที่คุณสมบัติไม่ลดลง

2. ลดทรัพยากรการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ

พลาสติกเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ช่วยลดน้ำหนักและลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน วัสดุก่อสร้างที่มุ่งเน้นความคงทนและการกัดกร่อนของสารเคมี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทต่าง ๆ ทิศทางในการพัฒนาพลาสติกเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะทาง จึงมุ่งเน้นการพัฒนาพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลดปริมาณทรัพยากรในการผลิตลงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น DuPont ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาวัสดุน้ำหนักเบาสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ได้นำเสนอเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่ตอบโจทย์เทรนด์รถยนต์ในอนาคต สำหรับระบบไฮบริด ระบบไฟฟ้า และรถยนต์อัตโนมัติ โดยพัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึง Renault Sport Racing ในการพัฒนารถแข่ง F1 และรถยนต์ประเภทอื่น ๆ 

ส่วนของ SCG เอง ก็ได้นำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดทรัพยากรในการผลิตเช่นกัน ได้แก่ เทคโนโลยี SMX™ ที่สามารถใช้กับงานได้หลากหลายชนิด อาทิ ถังบรรจุสารเคมีขนาดใหญ่ บรรจุภัณฑ์ประเภทฟิล์มที่มีความยืดหยุ่น สามารถทนต่อแรงกระแทกและแรงเจาะทะลุได้ดีเป็นพิเศษ และฝาน้ำอัดลมรุ่นน้ำหนักเบาและใช้วัสดุน้อยลงแต่ให้ความแข็งแรงมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทคโนโลยี SMX™ ของ SCG มาพัฒนาท่อก๊าซ ท่อเหมือง และท่อที่รับแรงดันสูงในอนาคตได้อีกด้วย

3. นำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบ 

เมื่อพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ จึงมีการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบต่อไป โดยสามารถแบ่งเทคโนโลยีที่นำขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ดังนี้

Mechanical Recycling เป็นการรีไซเคิลด้วยกระบวนการทางกล โดยการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและขึ้นรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้งานโดยตรง ซึ่งเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้จะเรียกว่า Post-Consumer Recycled (PCR) Plastic และมีการใช้งานโดยผสมกับพลาสติกใหม่และหรือปรับแต่งคุณสมบัติด้วยสารเติมแต่งเพื่อให้ได้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้น อาทิ แกลลอนพลาสติกที่มีส่วนผสมของ PE Recycle 95% โดย LyondellBasell ขวดเครื่องดื่มชาเขียวที่ใช้ PET Recycle 100% ของ Suntory และซองตั้งที่เป็น Recycle Full PE Laminated Solution จาก Exxon ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทางที่มีการประยุกต์ใช้ทั้ง PCR และ Mono materials ร่วมกัน เป็นต้น 

Feedstock Recycling หรือ Chemical Recycling เป็นวิธีการนำพลาสติกกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตทั้งในรูปแบบก๊าซและของเหลว อาทิ Sabic และ BASF ที่คิดค้นกระบวนการสร้างพลาสติกรีไซเคิลด้วยวิธี Pyrolysis โดยนำขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำหรือรีไซเคิลไม่ได้มาใช้เป็นวัตถุดิบ แทนการกำจัดด้วยการเผาหรือฝังลงในบ่อฝังกลบ ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกปกติ สามารถสัมผัสอาหารได้ โดยมีสินค้าหลายแบรนด์ที่นำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว อาทิ คนอร์ และกล่องไอศกรีมแม็กนั่มของยูนิลีเวอร์ เป็นต้น

4. พลาสติกชีวภาพ และวัตถุดิบทางเลือก

พลาสติกชีวภาพถูกคิดค้นเพื่อช่วยให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น โดยพัฒนาจากวัตถุดิบหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง และเนื่องจากพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงได้มีการคิดค้นการนำวัตถุดิบทางเลือกที่สามารถผลิตใหม่ได้ (Renewable Feedstock) มาใช้ในการผลิตพลาสติก อาทิ Bio-based Feedstock และการสังเคราะห์จากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งการนำไปใช้และการจัดการหลังการใช้งานของพลาสติกเหล่านี้จะแตกต่างจากพลาสติกทั่วไปที่สามารถรีไซเคิลได้ ผู้บริโภคจึงควรสังเกตบรรจุภัณฑ์และคัดแยกประเภทขยะอย่างถูกต้อง เพราะหากมีการปะปนของพลาสติกชีวภาพเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะทำให้เกิดความเสียหายได้

5. ความร่วมมือ ผนึกกำลังเพื่อความยั่งยืน

ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ทั้งตอบโจทย์เจ้าของผลิตภัณฑ์และสังคมไปพร้อม ๆ กัน เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เห็นได้ภายในงาน K2019 อาทิ BASF ที่จับมือกับ Jaguar Land Rover ร่วมศึกษาการนำขยะมาผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์ SCG และเบทาโกรที่ร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์บรรจุชิ้นส่วนไก่สดที่มีความเหนียว รับน้ำหนักได้ดี และทนการเจาะทะลุจากชิ้นส่วนและกระดูกไก่ได้ดีเป็นพิเศษ และอีกหลากหลายแบรนด์ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต ผู้รีไซเคิล เจ้าของแบรนด์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจว่า อุตสาหกรรมพลาสติกจะเติบโตไปพร้อม ๆ กับการดูแลโลก อาทิ SCG ที่ร่วมมือกับ Dow นำพลาสติกใช้แล้วมาทำถนนพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น

เทรนด์พลาสติกเพื่อความยั่งยืนทั้ง 5 นี้ สะท้อนให้เห็นว่าเหล่าผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ และการลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างสรรค์พลาสติกอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงเพื่อเอื้อต่อการจัดการหลังการใช้งาน ซึ่งเมื่อผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างปรับตัวแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเรา จะช่วยโลกด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพียงเริ่มต้นที่ตัวเองในการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพื่อหมุนเวียนทรัพยากรและช่วยโลกลดปริมาณขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...

Responsive image

AstraZeneca รับรางวัล Most Innovative Company จาก BCCT จากความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม AI ด้านสุขภาพ

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข้ารับรางวัล Most Innovative Company (รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม) จาก สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู...

Responsive image

Gourmet Market เปิดตัวรถเข็น Smart Cart ครั้งแรกในไทย ค้นหาสินค้า หาโปรโมชัน คิดเงิน ครบจบในคันเดียว

กูร์เมต์ มาร์เก็ต ยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้งสู่ยุคดิจิทัล เปิดตัว “Gourmet Market Smart Cart” เจ้าแรกในประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Shopping Made Easy at Once” ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซูเ...