KBank-KBTG-บุญเติม เปิดตัวเทคโนโลยียืนยันตัวตนด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติมตอบรับโครงการ NDID | Techsauce

KBank-KBTG-บุญเติม เปิดตัวเทคโนโลยียืนยันตัวตนด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติมตอบรับโครงการ NDID

กสิกรไทย เคบีทีจี และบุญเติม ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี การยืนยันตัวตน (e-KYC) ด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติม สร้างมิติใหม่การให้บริการ ตอบรับโครงการ NDID (National Digital ID) หวังช่วยลูกค้ารายย่อยที่ไม่สะดวกมาสาขา ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายและสะดวก 24 ชั่วโมง ทั้งการเปิดบัญชีเงินฝาก ขอสินเชื่อ ซื้อประกัน ขอเครดิตบูโร และสมัคร e-Wallet ที่ต้องมีการยืนยันตัวตน ให้สามารถใช้บริการผ่านตู้บุญเติมกว่า 1,300 จุด หน้าร้านสะดวกซื้อและตามแหล่งชุมชนทั่วประเทศ และภายในปี 2563 จะขยายเป็น 3,000 จุด คาดมีผู้ใช้บริการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม 2-3 ล้านครั้งต่อปี 

คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล การขยายช่องทางให้บริการเพื่อเป็นธนาคารที่อยู่ในทุกที่ทุกเวลาเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารมีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องกับพันธมิตร เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือบุญเติมซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของธนาคารในการเป็นธนาคารตัวแทนหรือแบงกิ้งเอเย่นต์ ในปี 2562 ที่ผ่านมามีปริมาณธุรกรรมการเงินลูกค้าธนาคารกสิกรไทยผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์จากตู้บุญเติมกว่า 8 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมกว่า 5,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตู้บุญเติมเป็นช่องทางที่ทำให้ลูกค้ารายย่อยที่ไม่สะดวกมาธนาคาร หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสาขา เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ธนาคารกสิกรไทย เคบีทีจี จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบุญเติม ในการพัฒนาเทคโนโลยี Facial Recognition การยืนยันตัวตน (e-KYC) ด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติม สร้างมิติใหม่การให้บริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก 24 ชั่วโมง ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เพื่อการสมัครเปิดบัญชีเงินฝาก ขอสินเชื่อ ซื้อประกัน สมัคร e-Wallet รวมถึงบริการขอตรวจสอบประวัติกับเครดิตบูโร  และประวัติการเงินอื่นๆ ผ่านเครือข่าย NDID ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบุญเติมแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ เคบีทีจี เปิดเผยว่า เทคโนโลยี Facial Recognition การยืนยันตัวตน (e-KYC) ด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติม ของธนาคารกสิกรไทยและเคบีทีจี เป็นเทคโนโลยีสำหรับคู่ค้าหรือผู้ให้บริการที่สนใจใช้ช่องทางนี้ช่วยให้ลูกค้าของตนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ต้องยืนยันตัวตน Facial Recognition เป็นการเปรียบเทียบใบหน้าจากภาพถ่ายผ่านตู้กับบัตรประชาชนที่มีความปลอดภัยและแม่นยำสูง ซึ่งจะตรวจจับจุดบนใบหน้า 512 จุด แต่ละจุดเสมือนเป็นพาสเวิร์ด 1 ตัว จึงเป็นการยากต่อการถูกปลอมแปลงรหัสทั้ง 512 ตัว ระบบใช้งานง่าย ไม่กี่ขั้นตอน ไม่ต้องเซ็นเอกสาร หรือถ่ายสำเนาบัตรประชาชนอย่างเดิม โดยไม่จำเป็นต้องมาสาขาหรือหน้าร้าน  ก็สามารถสมัครบริการทางการเงินและบริการอื่นๆ ได้แบบเรียลไทม์ที่ตู้บุญเติมจากที่ไหนก็ได้ 

คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้เป็นการตอบรับโครงการ NDID (National Digital ID) การยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอนาคต ซึ่งการให้บริการยืนยันตัวตน (e-KYC) ด้วยใบหน้าผ่านตู้บุญเติมเป็นการเพิ่มโอกาสลูกค้าของตู้บุญเติมในการเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารและผู้ให้บริการอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือลูกค้าที่ไม่สะดวกมาสาขาธนาคาร และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานประมาณ 2 – 3 ล้านครั้งต่อปี ปัจจุบันมีตู้บุญเติมที่ให้บริการยืนยันตัวตนได้ ติดตั้งหน้าร้านสะดวกซื้อและแหล่งชุมชนทั่วประเทศ 1,300 จุด และจะเพิ่มเป็น 3,000 จุด ในสิ้นปี 2563 

ทั้งนี้ การยืนยันตัวตนถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทฯ ที่ยังคงวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทางเลือกการให้บริการทางการเงินครบวงจรได้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถใช้บริการตั้งแต่การเปิดบัญชีธนาคาร, บัญชี e-wallet และบัญชีบริการการเงินประเภทอื่นๆ พร้อมบริการยืนยันตัวตนสำหรับการขอสินเชื่อ การซื้อประกัน และการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ รวมถึงการบริการขอตรวจสอบประวัติกับเครดิตบูโร  และประวัติการเงินอื่นๆ ผ่านเครือข่าย NDID ทั้งในส่วนของลูกค้าและสถาบันการเงิน โดยตู้บุญเติมยังคงมีแนวโน้มใช้บริการทางการเงินมากขึ้น จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ ทั้ง Content (Streaming Game) และ e-Commerce รวมถึงความต้องการซื้อประกันชีวิตและสุขภาพในช่วงโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องผ่านจากตู้บุญเติมทุกประเภทกว่า 130,000 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกพื้นที่ระดับจังหวัดจนถึงระดับชุมชน โดยบริษัทฯจะเพิ่มการบริการที่จำเป็นให้มากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการมากที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NIA เปิดเวที AGROWTH เร่งการเติบโตดีพเทคสตาร์ทอัพเกษตร

NIA เดินหน้าสร้างสตาร์ทอัพ สายเกษตรให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งการเติบโตและแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนในภาคเกษตร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การพึ่...

Responsive image

ไทยมี ‘ผู้บริหารหญิง’ นั่งบอร์ด แค่ 19% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก-อาเซียน

มีผู้หญิงจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 23.3) ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 นับตั้งแต่รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2565...

Responsive image

EVAT จับมือ กฟผ. และ ม.กรุงเทพธนบุรี จัดแข่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมลงนาม MOU พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบั...